สุดอึ้ง ผลวิจัยชี้ชัดผู้สูงวัยติดโซเชียลทำความสุขหดหาย

สุดอึ้ง ผลวิจัยชี้ชัดผู้สูงวัยติดโซเชียลทำความสุขหดหาย

 

นักวิชาการด้านผู้สูงวัยระบุกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้โซเชียลออนไลน์แต่พอดีถือเป็นกลุ่มที่มีความสุขมากที่สุด อ้างอิงจากผลวิจัยที่สำรวจผู้สูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีได้จำนวน 480 คนทั่วกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ โดยได้ข้อสรุปว่าผู้สูงวัยที่ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ครั้งละ 15 นาที เว้นช่วงห่างทุก 2 ชั่วโมงจะมีความสุขมากที่สุด วัดระดับความสุขอิงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศีล 5 โลกธรรม 8 การเจริญสติและหลักสังคหวัตถุ 4 ขณะที่ผู้สูงอายุที่ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันๆ ละ 4-7ชั่วโมงจะมีความสุขลดลงเพราะถือว่าใช้เวลาจดจ่อมากเกินไป   

 

ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2568 และคาดว่าอีกประมาณ 15 ปีประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุยิ่งยวด คือ มีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ในสภาพสังคมยุคโซเชียลฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของผู้สูงวัยจึงเป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสำคัญ เพื่อช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และช่วยให้ผู้สูงวัยได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้สูงวัยได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในโลกที่ไร้พรมแดน และยังช่วยลดปัญหาสุขภาพได้อีกด้วย

 

งานวิจัยชิ้นนี้ได้สำรวจผู้สูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีได้จำนวน 480 คนทั่วกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับพฤติกรรมการออนไลน์ ประกอบด้วย จำนวนวันที่ใช้ต่อสัปดาห์ จำนวนชั่วโมงรวมที่ใช้ต่อวัน ความถี่ในการติดตามข่าวสารต่อวัน อุปกรณ์ที่ใช้ สถานที่ที่ใช้ และวัตถุประสงค์ที่ใช้ โดยนำมาวิเคราะห์เพื่อวัดระดับของความสุขโดยอิงหลักของศีล 5 โลกธรรม 8 การเจริญสติและหลักสังคหวัตถุ 4ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ผลวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ออนไลน์วันละ 2-4 ชั่วโมงเป็นกลุ่มที่มีความสุขมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่ออนไลน์วันละ 4-7 ชั่วโมง และ 1-2 ชั่วโมง ส่วนจำนวนวันในการใช้เทคโนโลยีพบว่ากลุ่มที่ใช้ 4-6 วันต่อสัปดาห์มีระดับความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่ใช้ทุกวัน และกลุ่มที่ใช้สัปดาห์ละ 2-4 วัน

 

ในแง่ความถี่ในการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กลุ่มที่อัพเดทข้อมูลข่าวสารด้วยความถี่มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อครั้งมีระดับความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่ตรวจสอบทุก 2 ชั่วโมง และทุก 1 ชั่วโมง สรุปได้ว่าความถี่ส่งผลต่อระดับความสุขอย่างชัดเจน โดยเป็นความสัมพันธ์เชิงบวก หมายถึง ยิ่งติดตามความเคลื่อนไหวต่อครั้งด้วยการทิ้งช่วงนานเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มระดับความสุขมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความถี่ที่เหมาะสมจากการสำรวจคือการทิ้งเวลาในการตามให้มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อการตาม 1 ครั้ง

 

 

 

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้เป็นประจำพบว่า กลุ่มที่ใช้ผ่านแท็บเล็ตมีความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่ใช้บนสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ขณะที่สถานที่ที่ใช้พบว่าการใช้ที่บ้านมีความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือใช้ในสถานที่สาธารณะและใช้ในที่ทำงาน สำหรับวัตถุประสงค์ในการออนไลน์พบว่ากลุ่มที่ใช้เพื่อความบันเทิงมีความสุขสูงที่สุด รองลงมาคือการใช้เพื่อหาความรู้และเพื่อสังคม สำหรับปัญหาพบว่า ค่าบริการของผู้ให้บริการเป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญที่สุด

 

ดร.วีรณัฐ อธิบายว่า เป็นเพราะสภาพสังคมปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร การดำเนินชีวิตทุกอย่างถูกผลักดันให้ดำเนินไปผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการรับ-โอนเงิน การซื้อของออนไลน์ การสั่งอาหาร หรือแม้แต่เรื่องสุขภาพที่ต้องติดตามข่าวสาร หาความรู้เรื่องโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านเทคโนโลยีเช่นกัน ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นส่วนเติมเต็มให้ผู้สูงวัยก้าวทันโลกทันเหตุการณ์ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และช่วยฝึกความจำป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย เพราะการใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผู้สูงอายุต้องใช้ทักษะสูง ทำให้ได้ฝึกสมองด้วยเช่นกัน

 

นางพรพรรณ ประคองวงษ์ วัย 70 ปี กล่าวว่า หลังจากได้เริ่มฝึกใช้แท็บเล็ตและท่องโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้รู้สึกว่าโลกทั้งใบสามารถย่อมาอยู่ในมือโดยไม่ต้องเดินทางไปท่องโลกไกลๆ เลย ทำให้รู้สึกสนุกกับมัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักแบ่งเวลาในการใช้ด้วย ส่วนตัวจะใช้เฉพาะเวลาว่าง ไม่จำเป็นต้องซีเรียสว่าจะต้องเล่นวันละหลายๆ ชั่วโมง อาจจะเปิดดูไลน์เมื่อมีเพื่อนๆ หรือกลุ่มครอบครัวส่งแชทมาบ้าง ใช้หาข้อมูลในเรื่องราวที่อยากรู้และสาระประโยชน์ต่างๆ บ้าง ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ก็ถือว่าคุ้มค่าและส่งผลให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นได้

 

ด้าน นพ.ธราธิป ประคองวงษ์ ซึ่งเป็นบุตรชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า การท่องโลกออนไลน์ช่วยให้คุณแม่มีสังคมใหม่ๆ ได้เรียนรู้โลกกว้าง ซึ่งสามารถเติมเต็มความสุขของคุณแม่มากขึ้น เนื่องจากตนต้องทำงานไม่ได้อยู่ด้วยกันกับคุณแม่ การใช้ไลน์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันก็สามารถช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกได้

 

อีกหนึ่งคู่แม่ลูก พล.ร.ต. หญิงยุวนุช ทองดี อายุ 61 ปี และนายณัฐชญานนท์ ทองดี อายุ 30 ปี เปิดเผยว่า การใช้โซเชียลมีเดียทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงกลุ่มเพื่อนๆ หรือบุคคลใกล้ชิดดีขึ้น เช่น ได้เจอกับเพื่อนเก่าที่ห่างหายกันไปนาน การได้พูดคุยกันลูกหลานผ่านวิดีโอคอล ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ใกล้กันมากขึ้น ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้สูงอายุที่ใช้โซเชียลในเรื่องการกลั่นกรองข้อมูลและแหล่งที่มาให้ดีก่อนส่งต่อ รวมไปถึงต้องระวังในการกดเข้าระบบต่างๆ ที่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรจะมีระบบป้องกันต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะมารองรับปัญหานี้

 

health1
health1_1
health1_2
health1_3
health1_4
health1_5
health1_6
health1_7
health1_8
health1_9
01/10 
start stop bwd fwd

ผลวิจัยพบอีกว่า การใช้งานออนไลน์ที่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือเพียงสัปดาห์ละ 1 วันนั้นไม่สามารถเติมเต็มความสุขให้แก่ชีวิตผู้สูงอายุในยุคดิจิทัลนี้ได้ จึงทำให้ระดับความสุขลดลง แต่ในทางกลับกัน หากใช้มากเกินไปคือมากกว่าวันละ 7 ชั่วโมงหรือใช้ทุกวันในตลอดสัปดาห์ อาจทำให้ผู้สูงอายุสนุกเพลิดเพลินได้จริง แต่การจดจ่ออยู่กับหน้าจอตลอดเวลาก็ทำให้ผู้สูงอายุขาดปฏิสัมพันธ์อันแท้จริงกับสังคม ทำให้ผลออกมาเป็นความสุขที่ลดลงเช่นกัน

ในส่วนของอุปกรณ์ที่ผู้สูงอายุใช้นั้น แม้จะมีผลต่อระดับความสุขที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นความแตกต่างที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับสถานที่ที่ใช้ เทียบจากการใช้ที่บ้านกับสถานที่สาธารณะไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียงการใช้จากที่ทำงานเท่านั้นที่มีผลต่อระดับความสุขที่ลดลงอย่างชัดเจน สำหรับวัตถุประสงค์การใช้นั้นพบว่ามีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการใช้เพื่อความบันเทิงกับใช้เพื่อสังคม

 

“จากผลการวิจัยนี้ทางสมาคมบ้านปันรัก ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย มีการสอนเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่ผู้สูงอายุที่สนใจมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จึงได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุออนไลน์ในวันธรรมดา จันทร์ถึงศุกร์ วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยวันเสาร์และอาทิตย์นั้นสมาคมแนะนำให้ผู้สูงอายุได้พักจากหน้าจอเพื่อใช้ชีวิตกับบุตรหลาน หรือได้ทำงานอดิเรกที่สนใจ ที่สำคัญคือ ขอแนะนำให้ผู้สูงอายุทิ้งช่วงในการหยิบสมาร์ทโฟนมาดูให้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อให้ชีวิตผู้สูงอายุมีความสุขอย่างสมดุล หรือเรียกตามแบบฉบับวิถีพุทธว่าการเดินสายกลาง ไม่ตึง หรือ ไม่หย่อนจนเกินไปนั่นเอง” ดร.วีรณัฐ กล่าวสรุป