สุภาพบุรุษธรรม....จรัญ ภักดีธนากุล

สุภาพบุรุษธรรม....จรัญ ภักดีธนากุล

 

 CHANGE  in-your-life เรื่อง ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล

สุภาพบุรุษธรรม....จรัญ ภักดีธนากุล

 

     “เป็นลาภอันประเสริฐที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นกุศลสูงสุดที่ได้พบพระพุทธศาสนา เป็นบุญเหลือล้ำที่ได้ฟังธรรมขององค์พระศาสดา น้อมนำให้เกิดสติปัญญา สลายกิเลสตัณหาให้จางคลาย...” เป็นบทกลอนที่แต่งโดยศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยนำเสนอเรื่องราวบวกธรรมะมาแล้วในชื่อตอน หัวใจแห่งธรรม และด้วยมุมมองทางธรรมตลอดจนประสบการณ์ชีวิตในหน้าที่การงานอันทรงเกียรติของท่าน ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้น่าติดตามอีกมากมาย  CHANGE into ฉบับส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวของท่านมานำเสนอเพิ่มเติม อันจะเป็นประโยชน์ให้ข้อคิดแก่ผู้คนในสังคมได้ต่อไปค่ะ

     เรื่องการติดสินบนในการทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น...เป็นธรรมดาของคนที่เป็นคู่ความบางคนต้องการชนะ ไม่ต้องการแพ้ เพราะถ้าแพ้คดีความหมายถึงเขาต้องสูญเสียจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่การเดิมพันในแต่ละคดี หากเดิมพันมากเท่าไร...พลังที่จะเอาชนะแพ้ไม่ได้ ก็ยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งอยู่ที่การทำหน้าที่ของเราจะมั่นคงไหม? จะรู้ไหมว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ถ้าเราไม่มีหลักอะไรที่ยึด ไม่มีหลักธรรมอะไรเป็นตัวยึดเราก็จะเจอพลังของตัวเลข พลังของสิทธิประโยชน์ ในทางโลกนี้มันมีกำลังต่างกันนะ ตั้งแต่ 1 องศา ไปถึงล้านองศา ซึ่งเราก็จะหวั่นไหว...ตัวเลขเล็กน้อยอาจจะไม่ใส่ใจ แต่พอมากเข้า ๆ ถ้าเราหลงไปกับตัวเลข ต้านทานยากแล้ว เหมือนกับว่าล้านสองล้านเราอาจจะปฏิเสธได้ แต่พอ 10...20...100...200 ล้าน ! เราต้องฝึกมาไม่เช่นนั้น! จะหวั่นไหว บางคนบอกโง่หรือไง...ร้อยล้านสองร้อยล้านไม่เอา ทำงานราชการหากรับเงินเดือนละหนึ่งแสนบาท ไม่ต้องกินไม่ต้องใช้เลยปีหนึ่งได้ล้านบาท สิบปีได้สิบล้าน ทำจนตายยังไม่เหลือเลย!  เงินร้อยล้านสองร้อยล้าน ซื้อความสะดวกสบายให้ชีวิตและครอบครัวได้ทุกอย่างนะ “ซึ่งเราต้องตั้งหลักว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่มีค่าอะไร  งานของเรามีค่ามากกว่าเศษเงินเหล่านั้นมาก งานของเราคือ...ไม้ค้ำสร้างความถูกต้องเป็นธรรมในสังคมไทย งานของเราเป็นหลักชัยให้กับประเทศชาติ ถ้าสถาบันนี้เอนเอียงไปตามอำนาจไม่ว่าอำนาจเงิน อำนาจเถื่อนหรืออำนาจลับ คนยากคนจนชาวบ้านอีกหลายสิบล้านคนเขาจะมีอะไรเป็นที่พึ่ง ภารกิจของเรามันถึงยิ่งใหญ่มากกว่าไอ้เศษเงินบนโลกนี้ อย่าว่าแต่ร้อยล้านเลย พันล้าน เอาเงินทั้งโลกมากองรวมกันและบอกว่าให้ทรยศต่อหลักความถูกต้องเป็นธรรมก็ไม่ยอม” นี่แหละที่ท่านพุทธทาสบอกว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจของเทพระดับพรหม ต้องไม่หวั่นไหวต่อการล่อหลอกให้เกิดความโลภ รวมถึงความกลัวก็ต้องต้านทานได้เช่นกัน...มันถึงยากมาก

     หลักการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ของผม ถ้าเข้ามาอยู่ในทีมงานไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะว่าเราไม่ใช้อำนาจเป็นธรรม เราใช้ธรรมเป็นอำนาจ ทำตัวอย่างของเรานี่แหละให้เขาเห็น ผมไม่สอนคนนะ แต่พฤติกรรมการตัดสินใจปัญหาของเราจะเริ่มบอกว่า ทำไมไปทางนั้น แรกๆ อาจไม่เข้าใจแต่จะมีการให้เหตุผล  จะตัดสินใจหรือเลือกทางไหนเราต้องให้เหตุผล เขาก็จะสะสมไปและได้แนวทางคือ ต้องถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ประโยชน์ตัวเองอยู่ท้ายสุด งานที่เราทำด้วยกันจะเป็นตัวบอก เป็นตัวนำให้ไปในทิศทางเดียวกัน คนที่มาอยู่ร่วมทีมกันนั้นผมเชื่อว่ามาด้วยอำนาจแห่งกรรม โดยหลักธรรมท่านถึงบอกว่า คนอย่างไรก็มักไปรวมตัวกับคนแบบเดียวกัน

     ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงและปัญหาสังคมไทยทุกวันนี้ว่า มีพฤติกรรมที่รุนแรงและรุนแรงมากๆ อย่างชนิดที่เรียกว่านึกไม่ถึงว่าจะทำกันอย่างนี้ได้ ซึ่งหากเราย้อนหลังไปศึกษาประวัติของคนพวกนี้จะเห็นว่าเขามาจากโปรแกรมอบรมเลี้ยงดูสั่งสมและเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น แม้เราจะออกกฎหมายกำหนดโทษรุนแรงเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ได้แต่แค่ไปสกัดกั้น ซึ่งยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้กฎหมาย โดยบางคดีมีบทลงโทษที่รุนแรง การจะแก้กฎหมายหรือเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ที่โรงเรียน สถาบันศาสนา ชุมชน เราต้องสร้างวัฒนธรรมประเพณีให้เสียสละ ให้เห็นแก่คนรอบข้าง ให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผมว่าเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ไม่ได้อิงศาสนาแต่มันใช่เลย...ทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเราเพิ่มประเด็นนี้ในกระบวนของสังคมนะ เขาก็จะมีภูมิคุ้มกันไม่ให้ติดโรค

     ส่วนเรื่องการคืนความสุขให้ประชาชนนั้น..ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล  กล่าวไว้ ความสุขอย่างแท้จริงที่ผู้นำของประเทศควรมอบให้ประชาชนนั้น คือ การส่งเสริมให้ประชาชนเคลื่อนตัวไปในทางเจริญ พบกับสันติสุข  ความเจริญด้านความรู้เป็นเงื่อนไขในความเจริญทุกด้านของมนุษย์ มนุษย์เจริญกว่าสัตว์เพราะความรู้ที่สะสมกันมา เมื่อความรู้เกิด...ประชาชนจะเกิดปัญญา ไม่งมงายและจะรู้วิธีทำชีวิตเจริญขึ้นโดยที่ไม่ต้องเอาอะไรไปให้...ประชาชนจะรู้จักความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ความสุขจอมปลอมที่เปรียบเสมือนยาพิษที่เคลือบไว้ด้วยน้ำผึ้งหรือช๊อคโกแล็ต.