ผู้พิทักษ์สันติ-ธรรม-ราษฎร ของ พ.ต.อ.วีระ จิระวีระ

ผู้พิทักษ์สันติ-ธรรม-ราษฎร ของ พ.ต.อ.วีระ จิระวีระ

 

 

 

CHANGE  in-your-life เรื่อง ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล

 

ผู้พิทักษ์สันติ-ธรรม-ราษฎร

ของ พ.ต.อ.วีระ จิระวีระ

 

     ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นคำโบราณที่กล่าวมาคือ มีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องประชาชน โดยยึดหลักระเบียบแบบแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่จะให้ประชาชนอยู่อย่างเป็นสุข เพราะกฎหมายเป็นกฎที่ให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หากทุกคนเคารพกฎกติกาก็จะไม่มีเหตุเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย เป็นคำกล่าวของ พ.ต.อ.วีระ จิระวีระ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ที่รับราชการในอาชีพตำรวจหลากหลายสายงานมาจนปัจจุบันนี้เป็นเวลา 27 ปีแล้ว โดยในประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันตำรวจ บทความตอนนี้ผู้เขียนจึงขอทำหน้าที่ถ่ายทอดหลักการทำงานตลอดจนหลักธรรมจากท่านรอง ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นมุมมองอีกหนึ่งอาชีพของสังคมที่มีความใกล้ชิดประชาชน

     ธรรมะของพระพุทธเจ้าดีที่สุด หลักธรรมที่นำมาใช้มาตั้งแต่เริ่มรับราชการตำรวจจนถึงวันนี้ คือ พรหมวิหาร 4  ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา(พลอยยินดี) อุเบกขา(วางใจเป็นกลาง) และ สังควัตถุ 4 (ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา-ช่วยเหลือกันและ สมานัตตา-เป็นผู้มีความสม่ำเสมอในการประพฤติ)  ซึ่งการบังคับบัญชาลูกน้องในสายงานจราจรที่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนนั้น   “เราต้องอย่าปล่อยปละละเลยในการปกครองกับลูกน้องบางคน แม้เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย เพราะถ้าเราปล่อยไปให้เป็นเรื่องปกติ เขาอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และอาจจะเกิดความเสียหายตามมา การทำผิดแล้วไม่มีคนไปตักเตือนอาจคิดว่าเป็นเรื่องถูก ต่อมาหากมีใครไปตักเตือนเขาอาจจะไม่พอใจ ดังนั้นต้องรีบตักเตือนและให้ข้อคิดว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกเพราะอะไร ซึ่งการเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ควรปล่อยปละละเลย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความผิดแม้เพียงเล็กน้อย  การเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ใช่เป็นเจ้านายเท่านั้น แต่ควรเป็นเหมือนครูอาจารย์สอนเขาได้ด้วย และต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

     กับพี่น้องประชาชน หลักแห่งธรรมที่ผมนำมาใช้นั้น คือ เราต้องมีความเมตตา เพราะ พรบ.จรารจร ให้อำนาจเจ้าพนักงานไว้ว่า สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ในกรณีความผิดเล็กน้อยที่ไม่เจตนา ที่มีเหตุผลความจำเป็น “หากเราสอบถามเขาแล้ว ก็ตักเตือนเขา ว่าคราวหน้าอย่าทำนะครับ ถ้าเจออีกผมจะออกใบสั่งดำเนินคดีตามกฎหมายนะ” หลักนี้ผมว่าจะได้ใจประชาชนด้วย เพราะเขาจะอาย การอายจะทำให้ไม่อยากกระทำความผิดกฎหมาย เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่เอง ผมให้นโยบายลูกน้องในการอบรมทุกครั้ง การกระทำความผิดกฎจราจรนั้น เช่น คนทำมาหากิน หากเรามองแล้วเป็นพวกที่ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ใด ให้ตักเตือนเป็นหลัก เช่นความผิดเล็กน้อย เรื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ยกเว้นความผิดที่มีความอันตรายต่อบุคคลอื่น หรือตัวเขาเอง...อยากทำงานแล้วได้ใจประชาชนมากกว่าครับ

     ส่วนเรื่องการรับสินบนนั้น...ในมุมมองของผมทุกองค์กรหรือทุกหน่วย ย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี เพียงแต่ว่าสังคมต้องช่วยกัน หมายความว่าประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย หากกระทำความผิดควรยอมรับผิด    รับใบสั่ง! อย่าไปยัดเยียดติดสินบน ตำรวจทุกคนไม่อยากกระทำความผิดหรอกครับ ไปรับเงินทองมาเกิดปัญหากับครอบครัวตามมาทีหลัง ผู้บังคับบัญชาต้องตรวจสอบดูแล และให้ข้อคิดเขา แต่สังคมไทยเป็นระบบเอื้ออาทรกัน ช่วยกันหยวนกัน ก็เป็นจุดอ่อน !  ผมยังเคยทำผิดถูกออกใบสั่งเลย ผิดทั้งที่แต่งเครื่องแบบด้วย บอกให้เขียนใบสั่งมาเลย คนเรามีโอกาสพลั้งเผลอได้ อยากฝากประชาชนว่าขอให้เคารพกฎหมายเป็นหลัก

     ห้วงเวลาที่วงการตำรวจถูกกระหน่ำจากสังคมในทางไม่ดีนั้น ผมไม่เคยท้อนะ แต่มองว่าเราต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เพราะสังคมไทยประชาชนก็เป็นกระจกเงาส่องให้เรา ทั้งการทำดีและไม่ดี ซึ่งหากไม่มีใครติเตียนก็จะไม่รู้ตัวเอง เปลี่ยนวิกฤตนั้นให้เป็นโอกาส ปรับปรุงตัวและหน่วยงานของเราให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนต่อไป วิธีคิดของผมในการทำงาน ถ้าคิดว่าเราทำดีที่สุดในแต่ละวันแล้วก็จะไม่เกิดความทุกข์อะไร ทำและปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเมื่อได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดทุกเรื่อง แม้จะมีอุปสรรคบ้างถ้าเรามีความอดทนมีความพยายาม ผมว่าผ่านไปได้หมด  ฝากข้อคิดไว้หากใครกำลังมีความท้อแท้ คนที่แย่กว่าเราก็มีจำนวนมาก อย่าไปมองคนที่สูงกว่า จะทำให้เรามีกำลังใจในการทำงาน บางคนพิการเขายังต่อสู้ชีวิตเลย และเรามีความพร้อมมีหน้าที่การงานที่ดีทำไมเราจะสู้ชีวิตไม่ได้ มีมือมีเท้าและมีโอกาสที่จะทำงานให้ดี ไม่ควรเอามาคิดท้อถอย ต้องมองกลับไปว่ามีคนด้อยโอกาสกว่าเราตั้งเยอะแยะที่ไม่มีโอกาส การเป็นข้าราชการตำรวจที่รับใช้ประชาชนผมว่าเป็นงานที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี

     รองผู้บังคับการตำรวจจราจรทิ้งท้ายไว้ว่า “หลักแห่งพุทธศาสนาดีมากนะครับ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นสามารถพิสูจน์ได้ทุกเรื่อง ทั้งในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินการอะไรต่างๆ ในสังคม เป็นสิ่งดีงามที่เราได้เกิดภายใต้ร่มพระพุทธศาสนา ศีล ทำให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญาในการที่จะแก้ไขปัญหา และ ศีลไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร เป็นสิ่งที่ทุกคนควรถือปฏิบัติตามวิสัยของมนุษย์”