'เศรษฐกิจพอเพียง' ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน เพื่อชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิต

'เศรษฐกิจพอเพียง' ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน เพื่อชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิต

 

 

 

'เศรษฐกิจพอเพียง' ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน เพื่อชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิต
 
 
เศรษฐกิจพอเพียง เป็น "ปรัชญา" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเพื่อชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต และปฏิบัติตนให้แก่ประชาชนทุกระดับทุกสาขาวิชาชีพมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา โดยพระองค์ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอยู่ของคนไทย และสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งเข้าสู่ห้วงเวลา ที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. 2540 และภายหลังจากปัญหาวิกฤต พระองค์พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ กระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทรงเตือนทุกฝ่ายให้รู้จักคำว่า "พอเพียง" ดำรงชีวิตอย่างสมถะและสามัคคี ซึ่งจะนำพาตนเอง และประเทศชาติให้รอดพ้นภาวะวิกฤตต่างๆและ นำไปสู่ความสุขได้
 
 
ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทรงประยุกต์ใช้กับงานเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวเลี้ยงชีพและพึ่งตนเองได้อย่างมีความสุข โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ไม่ได้เป็นแนวทางชีวิตของภาคเกษตรกรรมเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขว้าง ร่วมไปถึงวิถีชีวิตในโลกธุรกิจภายใต้กระแสทุนนิยม
 
 
 
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ชี้แนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกระดับให้อยู่บนทางสายกลาง คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ทำอะไรด้วยความพอประมาณโดยพิจารณาอย่างมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ ได้อย่างมั่นคง รอดพ้นจากวิกฤตและรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ สำหรับแนวพระราชดำริของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริครั้งแรก ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 และต่อมาทรงอธิบายและเน้นย้ำอีกหลายครั้ง ดังต่อไปนี้
 
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคง พร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..." พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517
 
"...เศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง ทำเป็น Self Sufficiency..." พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2544
 
"...เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียวคือ ไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำโดยวิธีปฏิบัติ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องทำทั้งหมด และถ้าทำทั้งหมดก็ทำไม่ได้..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541
 
“เศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่าต้องรู้จักขั้นตอน ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไปไม่พอเพียง ถ้าไม่เร็วช้าไป ก็ไม่พอเพียง ต้องให้ รู้จัก ก้าวหน้าโดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2546