Exclusive นักบริหารบนเวทีราชดำเนิน ผศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร “ผมไหว้โสเภณีได้ แต่ไหว้คนขายชาติไม่ได้”
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง • ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
แต่งหน้า : มารุต เนียมท้วม • สถานที่ : โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
Exclusive นักบริหารบนเวทีราชดำเนิน
ผศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร
“ผมไหว้โสเภณีได้ แต่ไหว้คนขายชาติไม่ได้”
จากเด็กบ้านนอกที่มุ่งมั่นก้าวสู่นักวิชาการระดับนานาชาติ โดยยึดหลักการบริหาร “ห้ามโกง ห้ามคอร์รัปชั่น” โดดเด่นบนเวทีราชดำเนินจนกลายเป็นนักวิชาการที่คนไทยรู้จักไปทั่วประเทศ ผศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร รักษาการผู้อำนวยการสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เปิดใจแบบ Exclusive เล่าที่มาของการเป็นนักบริหารทางวิชาการระดับสูง และเหตุใดถึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวบนเวทีราชดำเนิน...
//เด็กบ้านนอก...สู่นักวิชาการระดับชาติ
อาจารย์จักษ์ เกิดที่ จ.สระบุรี เป็นบุตรของ ครูประสิทธิ์ ซึ่งเป็นครูประชาบาล กับ คุณแม่จรุญ พื้นเพของคุณพ่อเป็นคนนครสวรรค์ ส่วนคุณแม่เป็นคนสระบุรี เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 8 คน เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดขอนชะโงก (เขียววิมลราษฎร์อุปถัมภ์) ต.คชสิทธิ์ อ.หนองแค จ.สระบุรี
“พ่อเป็นครูใหญ่ที่นั่น แต่บ้านผมอยู่อีกตำบลหนึ่ง เวลาไปโรงเรียนพ่อก็จะขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนกันไปพร้อมกับพี่ๆ รวม 5 คน บางวันรถเสียก็ต้องเดิน ระยะทางไปกลับ 6 กิโลเมตร ด้วยความที่พ่อสอนให้เป็นคนอดทน พวกเราเลยไม่เคยบ่น ระหว่างเดินกลับบ้านก็จะแวะเก็บผักตบเพื่อเอามาเลี้ยงหมู ผมเลยรู้ว่าหมูจะต้องทับกันช่วงไหน แล้วอีกกี่เดือนมันจะออกลูกและขายได้ เพื่อจะได้มีเงินใช้ในช่วงเปิดเทอม
“จากที่มีลูกหลายคน ทำให้พี่สาวคนโตไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้นประถม เพราะต้องออกมาช่วยคุณแม่เลี้ยงน้องๆ ในตระกูลผมเลยรักและเคารพพี่สาวคนนี้เหมือนเป็นแม่คนที่สอง ระหว่างเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พ่อเสียชีวิตกะทันหัน ทำให้ชีวิตผมหักเหพอสมควร พี่ๆ ก็ยังเรียนไม่จบ พอขึ้น ม.6 ผมเอนทรานซ์ติดด้านฟิสิกส์ แต่ตัดสินใจไม่เรียนเพราะทางบ้านคงมีปัญหาเรื่องเงินแน่นอน ผมตัดสินใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะมีงานทำแน่นอน และหลักสูตรก็เพียง 1 ปี หลังจบมาผมก็ไปทำงานที่โรงพยาบาลท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้ทุน 2 ปี ก็สอบชิงทุนไปเรียนที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”
อาจารย์จักษ์จบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุนกระทรวงสาธารณสุข นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนพัฒนาอาจารย์ ทบวงมหาวิทยาลัย
เริ่มทำงานเป็นหัวหน้างานชันสูตรสาธารณสุข โรงพยาบาลท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 2528-2530 นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2534-2539 นักพยาธิวิทยา โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ ปี 2539-2540 อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี 2540-2543 ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยณิวัฒนา ปี 2544 ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยณิวัฒนา ปี 2544 ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา ปี 2544-2545 รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โครงการรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ปี 2543-2546 อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2547-2548 แล้วโอนย้ายมาอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จนถึงปัจจุบัน
//ภาวะการเป็นผู้นำ
แม้ทำงานมากเพียงใด อาจารย์จักษ์ยังเคยเป็นประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548 ประธานศูนย์บริการวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548 หัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2549 ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาบทบาทหญิง-ชาย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2549-2550 รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2549-2550 รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2552-2555 และในปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง และรักษาการผู้อำนวยการสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร
“ตอนที่ผมเรียนอยู่ ม.5 ที่โรงเรียนมีการเลือกประธานนักเรียนเป็นครั้งแรก ผมได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียน พอไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมก็เป็นนายกสโมสรนักศึกษาของคณะ และได้รับรางวัลเป็นนักศึกษากิจกรรมดีเด่น พอเรียนจบก็กลับมาใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลท่าเรือ เป็นหัวหน้างานชันสูตรสาธารณสุข ระหว่างที่ใช้ทุนอยู่นั้นผมหาช่องทางที่จะเรียนต่อ จึงตัดสินใจสอบและบรรจุเข้ามาเป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ตรงยศเส และไปเรียนปริญญาโททางด้านการปกครอง ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พอเรียนจบปริญญาโทก็คิดว่าสาธารณสุขคงไม่ใช่ทางของผม เพราะผมชอบรัฐศาสตร์มากกว่า เห็นคนในสังคมที่เดือดร้อน สังคมที่ไม่ยุติธรรมหลายเรื่องมาก ทำให้อยากรู้ถึงสาเหตุและวิธีการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลง แต่ที่ผมเรียนกฎหมายเพราะเมื่อก่อนบ้านผมและที่ของชาวบ้านแถวนั้นเป็นที่ไม่มีโฉนด และมีการต่อสู้เรื่องการออกโฉนด ผมก็เลยตั้งใจว่าจบนิติศาสตร์แล้วจะออกไปเป็นทนายความเพื่อช่วยพี่น้องประชาชนตรงนั้น
“ตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์ที่ธรรมศาสตร์เคยบอกว่าผมน่าจะเป็นอาจารย์ ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจ เพราะยังทำงานที่กรมวิทย์ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) แต่สุดท้ายผมก็ได้เป็นอาจารย์ แต่กว่าจะได้เป็นอาจารย์ต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องรวบรวมเงินเพื่อชดใช้ทุนให้ต้นสังกัด จึงตัดสินใจลาออกแล้วไปเป็นนักพยาธิวิทยาที่โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เงินเดือนค่อนข้างสูงและมีโอที ผมทำงานที่นี่ 1 ปี เข้าเวรเยอะมาก แล้วก็มีรับจ๊อบทำแล็บให้กับโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย
“ทำอยู่ได้ 1 ปีก็ลาออกไปเป็นอาจารย์ จังหวะนั้นก็มีอาจารย์จุฬาฯ ที่ผมเคารพ ซึ่งท่านเคยสอนผมตอนเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ โทรศัพท์มาชวนให้ไปลองสอบปริญญาเอกที่จุฬาฯ ผมสอบได้ แต่เรียนได้เทอมกว่าๆ ก็ลาออก เพราะหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่ไม่ส่งเสริมเรื่องการเรียนต่อ ผมเลยยกเลิกการเรียน แล้วตอนนั้นก็ยังต้องหาเงินใช้ทุนอยู่ก็เลยไม่คิดอะไร ปีต่อมาอาจารย์ท่านเดิมก็โทรมาอีกว่าให้ลองกลับมาสอบอีกรอบหนึ่ง ผมตอบไปว่าคนที่สอบจุฬาฯ ได้แล้วทิ้งไปไม่น่าจะสอบได้อีกรอบ ท่านบอกว่าถ้าเรามีความสามารถจริงใครก็คงอยากได้มั้ง ไม่ลองอีกครั้งเหรอ ผมก็เลยตัดสินใจไปสอบอีกครั้ง แล้วก็สอบได้จริงๆ ผมจึงเขียนจดหมายลาออกจากหน่วยงานเดิม
“พอออกมาเรียนปุ๊บทางสถาบันราชภัฏสวนดุสิตก็ดึงตัวผมเข้าไปเป็นอาจารย์ที่นั่น ได้ไปช่วยร่างหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ปริญญาโท ที่ทางมหาวิทยาลัยใช้อยู่ในปัจจุบัน จากนั้นไม่นานทบวงมหาวิทยาลัยเปิดให้ทุนแก่ผู้ที่เรียนปริญญาเอก ผมจึงสมัครรับทุน ระหว่างนั้นก็ยังเรียนปริญญาโททางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์การที่นิด้าด้วย พอเรียนจบปริญญาเอกผมไปใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อยู่ที่คณะศิลปศาสตร์ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยนเรศวรขาดแคลนอาจารย์สาขาที่ผมจบมา ผมเลยโอนย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และมาจนถึงวันนี้ 8 ปีแล้ว” อาจารย์กล่าวอย่างภาคภูมิใจที่ชีวิตกว่าจะก้าวมาถึงวันนี้
//เคยจน?
ปัจจุบันอาจารย์จักษ์ยังเป็นวิทยากรให้กับสถาบันพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ บริษัท ทุนมนุษย์ จำกัด เป็นอาจารย์บรรยายในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนหลายแห่ง และเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชน อดีตเคยเป็นวิทยากรคณะกรรมการการเลือกตั้ง วิทยากรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะทำงานประจำศูนย์ประสานงานความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 กองทัพภาคที่ 3 คณะอนุกรรมการวิชาการและข้อมูล คณะกรรมการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร อีกทั้งยังเป็นทนายความของสำนักงานกฎหมายพันธ์ชูเพชร ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ “ชวนพี่น้องมองบ้านเมือง” และรายการ “เวทีประชาคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT นักจัดรายการวิทยุรายการ “คุยกับอาจารย์จักษ์” ที่ FM 107.25 MHz. มหาวิทยาลัยนเรศวร
“การจัดรายการหรือเป็นวิทยากรมีทั้งที่ได้รับค่าตอบแทนและที่ทำให้โดยไม่รับค่าตอบแทน เพราะผมไม่ได้มีภาระอะไรมากมาย อีกส่วนหนึ่งผมไม่ปฏิเสธว่าผมเคยจน และความจนทำให้ผมรู้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องสะสมอะไร วันนี้ผมมีบ้าน มีรถ มีเสื้อผ้า มีอาหารกิน ไปไหนมีคนเข้าใจเรา แต่ละเดือนผมมีเงินให้แม่ ให้พี่สาว เท่านี้ผมก็คิดว่ามันเพียงพอแล้ว ถ้าวันหนึ่งผมจบชีวิตไปมันก็ไม่มีภาระอะไรต้องเป็นห่วง เพราะร่างกายและดวงตาผมก็บริจาคให้กับโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างมันเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
“แม่ชอบไปวัดมาก ทำให้ผมได้ติดตามท่านไปบ่อยๆ แล้วช่วงที่พลิกชีวิตผมมากๆ คือตอนที่อยู่ชั้นประถมประมาณ ป.5-ป.6 ข้างบ้านผมมีวัดร้าง อยู่มาวันหนึ่งก็มีพระธุดงค์มาฟื้นฟูวัด ผมได้พบท่าน ท่านสอนวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้ผมสนใจฝึกวิปัสสนากรรมฐาน เดินจงกรม อยู่พักหนึ่ง ได้ซึมซับอะไรดีๆ มาหลายอย่าง และยังทำให้ผมสนใจศาสนาอื่นๆ ด้วย ทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เพราะตอนที่เรียนอยู่ที่อยุธยาผมมีเพื่อนมุสลิมเยอะ แต่สุดท้ายก็วกกลับมาเป็นพุทธอย่างเดิม แต่ที่ผมศึกษาตรงนี้เป็นเพราะผมอยากรู้อยากเห็น และทำให้ผมเห็นว่าทุกศาสนามีคำสอนไม่ได้แตกต่างกันเลย คือสอนให้คนเป็นคนดี
“เพียงแต่ว่าสไตล์การสอนอาจจะแตกต่างกันไป เช่น พุทธสอนให้เรามีสติ ขณะที่มุสลิมละหมาดเพื่อให้มีสติ ผมเองก็เคยละหมาด มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ อย่างผมรับทุนไปทำงานวิจัยที่อินเดียหลายเดือน ก็ได้ซึมซับเรื่องปรัชญาของอินเดีย รวมทั้งลัทธิของเชน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาผมเพิ่งเรียนเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโท เพราะตอนนั้นผมถูกสื่อมวลชนถามผมว่า แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส แตกต่างกับ ต้มยำกุ้งไครซิส ตรงไหน เพราะเราเป็นนักรัฐศาสตร์ก็ตอบได้ไม่คม ผมเลยตัดสินใจเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่นั่งเรียนอยู่ได้เทอมกว่าๆ พอจะได้คำตอบบ้างแล้วก็เลยไม่ได้เรียนต่อ (หัวเราะ)
“ผมชอบเรียน ส่งตัวเองเรียนมาตั้งแต่จบ ม.6 ด้วยการสอบชิงทุนและทำงาน ผมภูมิใจมากๆ ที่มีรถยนต์เป็นของตัวเองตอนอายุ 19 ปี จากบ้านที่ไม่มีอะไรเลย แต่ผมเป็นติวเตอร์สอนหนังสือให้กับเด็กในต่างจังหวัด แทบไม่ได้เก็บเงินเด็กๆ เลย แต่สิ่งที่ผมได้ก็จะได้จากเรื่องอื่นมากกว่า เพราะมีหลายแห่งเชิญไปสอน ผมมีรายได้จากตรงนั้นมากกว่า ผมบอกลูกศิษย์กับคนในบ้านว่า ถ้าเราให้ก่อนแล้วเราจะได้เอง ผมไม่เคยสอนให้ใครต้องรับก่อน เราให้ก่อนทุกอย่างจะกลับมา วันนี้นิตยสาร เชนจ์ อินทู มาสัมภาษณ์ผมได้ เป็นเพราะว่าเราให้สังคม ถ้าผมไม่ลุกขึ้นมาให้แบบนี้ก็คงไม่มีใครรู้จักผม แต่ผมไม่ได้คาดหวังอะไร คิดเพียงว่าอยากให้”
//พ่อสอน “ให้รู้จักคำว่าพอ”
“พ่อจะสอนจากการปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมอยากได้รองเท้าผ้าใบมาก เป็นเด็กบ้านนอกอยากใส่รองเท้าผ้าใบ เลยขอพ่อเพราะคู่เดิมมันเก่า พ่อบอกว่าพ่อให้ได้ แต่ลูกต้องเขียน พ.พาน เต็มบรรทัดหนึ่งเล่ม ผมก็นั่งเขียนเสร็จภายในคืนเดียวแล้วก็ส่งให้พ่อตอนเช้า พ่อย้อนถามว่าเข้าใจไหมมันคืออะไร พ่อบอกว่าสักแต่ว่าเขียนแล้วเข้าใจไหมว่าคำว่าพอมันคืออะไร สุดท้ายผมก็ไม่ได้รองเท้าผ้าใบที่อยากได้ ต้องใช้คู่เดิมต่อไป เพราะผมยังไม่เข้าใจกับคำว่าพอ แล้วรองเท้าก็ยังไม่ได้ขาด
“พ่อจะสอนผมแบบนี้ตลอดเวลา สมัยที่ผมเรียนอยู่ ป.4 เวลาไปโรงเรียนแล้วต้องเดินบนคันนา พ่อเดินนำตามด้วยพี่ชายแล้วผม หมายังวิ่งตามไปด้วย พ่อบอกว่าถ้าคนเราไม่มีวินัยในการเดินตาม มันก็จะพากันล้มทั้งหมด พอพ่อเดินนำแล้วเจอช่องที่น้ำไหลแล้วมีไม้เล็กๆ พาด พ่อก็จะให้ผมเดินนำหน้าเดินข้ามไป พ่อบอกว่าคนเป็นพ่อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำตลอดเวลา บางจังหวะก็ต้องให้ลูกเป็นผู้นำ อย่างไม้ตรงนี้ถ้าพ่อตัวหนักกว่าพ่ออาจจะล้ม ที่ผมจำคำสอนพ่อได้เพราะผมเป็นคนที่ชอบเขียนบันทึก พอโตกลับไปอ่านมันก็รู้สึกดี อีกอย่างถ้าทำผิดพ่อจะตี พอเรียกมายังไม่ตีทันที พ่อจะถามก่อนว่า ผิดไหมลูก แต่ถ้าเรายืนยันว่าไม่ผิด พ่อจะไม่ตี
“แต่พ่อจะไม่ลืม ผ่านไปเดือนหนึ่งก็จะถามใหม่ว่าเรื่องนี้คิดยังไงลูก บางเรื่องนานเป็นเดือนถึงโดนตี จนเรากลับมาทบทวนว่าเราผิด แล้วยืนกอดอกอย่างสง่างามว่าเราผิด (หัวเราะ) คุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงลูกแต่ละคนต่างกัน อย่างผมเป็นลูกคนเล็กน่าจะถูกสปอยล์ แต่แม่กลับบอกว่าลูกคนเล็กมีพี่คอยดูแลอยู่แล้ว บ้านเราเลยเหมือนมีสายบังคับบัญชา พี่คนโตดูแลคนนี้แล้วไล่มาเรื่อยๆ เรื่องของผมกว่าจะผ่านมาถึงแม่ต้องผ่านพี่ๆ ตั้งกี่คน (หัวเราะ) ฉะนั้นเราก็มีการปกครองกันอยู่ พอพี่ใหญ่พูดเราจะฟัง แต่เราก็มีสิทธิโต้เถียงในข้อเท็จจริง
“พี่คนที่ 6 ของผมซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นคนที่เรียนเก่งมาก ถือว่าเรียนเก่งที่สุดในครอบครัว เขาได้เกรด 4 ทุกวิชา ส่วนผมเป็นคนที่เรียนไม่เก่งเพราะสอบตกแทบทุกยุคทุกสมัย ตอนอยู่ ม.ต้น ผมสอบตก อยู่ ม.ปลาย ผมก็สอบตก ขนาดเรียนเป็นนักเรียนทุนผมยังสอบตกเลย (หัวเราะ) ผมเคยคุยกับพี่ชายที่เรียนเก่ง แต่พี่ชายจะบ่นเสมอ ทำไมเรียนแล้วผลการเรียนเป็นแบบนี้ ผมตอบกลับไปว่าพี่เรียนได้ 4 ตลอดเวลา จะไม่รู้เลยว่าเรียนแล้วตกเป็นยังไง (หัวเราะ) แต่ผมเรียนจะมีทุกเกรด”
//หลักบริหาร “ห้ามโกง”
นอกจากอาจารย์จักษ์จะมีความโดดเด่นทางด้านการสอนแล้ว ยังมีผลงานวิชาการอีกหลายเล่ม อาทิ หนังสือ “การจัดการและการวางแผนธุรกิจ” (เขียนร่วม) หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตการจัดการและการประเมินโครงการ โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ. 2545 หนังสือ “การเมืองและการปกครองไทย : จากไพร่ฟ้าหน้าใส สู่วาทกรรมไพร่-อำมาตย์” พิมพ์ครั้งที่ 8 หนังสือรัฐศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 7 หนังสือ “รัฐประศาสนศาสตร์ ว่าด้วยกฎหมายปกครอง” พิมพ์ครั้งที่ 2 หนังสือ “เลิฟ แอนด์ ไลฟ์” พิมพ์ครั้งที่ 2 หนังสือ “ข่มขืนคนในครอบครัว” พิมพ์ครั้งที่ 2 หนังสือ “AEC ประชาคมเอเซียน” หนังสือ “เรียนรู้ชีวิตการครองเรือน” หนังสือ “สุขโคตร” และบทความในวารสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
“เวลาผมทำงาน ลูกน้องจะต้องทำงานอย่างมีความสุข เมื่อทุกคนทำงานได้อย่างมีความสุข ผลที่ออกมาก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด ผมปกป้องลูกน้องผมยอมรับ ปกป้องตรงนี้ต้องวงเล็บว่าจะต้องไม่ทำผิด ดังนั้น การปกป้องคือการปกป้องในระดับที่เหมาะสม ถ้าเจ้านายชม ผมจะยกความดีให้ลูกน้องหมด แต่ถ้าเจ้านายตำหนิ ผมก็จะรับผิดเองทุกครั้ง เราจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้เพราะเราเป็นหัวหน้า ผมถือคอนเซปต์ว่าหัวหน้าเป็นทั้งหัวและเป็นหน้าด้วย เพราะต้องเป็นหัวคิดให้เขา และเป็นหน้าต้องออกหน้าแทนเขาถ้าทำอะไรผิด อย่างลูกน้องผมกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีลูกแล้วมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูก ผมก็แก้ปัญหาโดยการให้เอาลูกมาเลี้ยงที่ทำงานได้
“ให้เลี้ยงลูกแล้วทำงาน ดีกว่าเขาลางานแล้วกลับไปเลี้ยงลูก ถ้ามีปัญหาเรื่องลูกเขาจะทำงานไม่มีความสุข ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าชีวิตคนเรามันดี งานมันก็จะดี แต่อีกข้อหนึ่งที่เป็นคอนเซปต์ของผมคือ เมื่อทำงานกับอาจารย์จักษ์จะต้องไม่โกง นั่นคือ ห้ามโกง ห้ามคอร์รัปชั่นเด็ดขาด เป็นอะไรที่ผมรับไม่ได้ ผมชอบทำงานแบบ เที่ยงตรง ไม่โกง และรักชาติ ทำทุกอย่างให้มองไปที่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ผมให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก”
//ขึ้นเวทีราชดำเนิน...เพื่อชาติ
“ผมเคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น ว่าโตขึ้นจะไม่มีลูก และจะไม่มีลูกตลอดชีวิต ที่ผมปฏิเสธการมีลูกไม่ได้เป็นการต่อต้าน แต่ผมคิดว่าถ้าผมมีลูก ผมก็จะต้องสะสมเงิน สะสมทรัพย์สินไว้ให้ลูก แล้วผมจะทำเพื่อสังคมได้ยังไง เอาง่ายๆ ถ้าวันนี้ผมมีลูก ผมจะกล้ามายืนและเสี่ยงแบบนี้โดยไม่ห่วงครอบครัวได้ยังไง พอคิดได้แบบนี้ผมเลยไม่คิดที่จะมีลูก ทุกวันนี้ที่ผมโดนจดหมาย ไปรษณียบัตร และโทรศัพท์ขู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีมาตั้งแต่ที่ขึ้นเวทีครั้งแรกกับพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้รู้สึกโกรธพวกเขา แค่คิดว่าทำไมพวกเขาเลือกใช้วิธีการแบบนี้ ทั้งที่การคิดต่างเป็นสิ่งที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย ล่าสุดก็มีโทรศัพท์เข้ามาขู่ ผมก็บอกกลับไปว่าจะขู่กันทำไม อยากจะทำอะไรก็ทำเถอะ มันเสียเวลาที่จะต้องคอยรับโทรศัพท์ (หัวเราะ)
“ผมมองว่าประชาธิปไตยคิดต่างกันได้ แต่ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่ใช้กำลังข่มขู่กันแบบนี้ ผมยังใช้ชีวิตปกติ บินไปไหนก็คนเดียวพร้อมเป้ ไม่มีใครติดตาม ไปไหนก็มีคนถามว่าอาจารย์กลัวไหม ผมก็บอกไปว่าตราบใดที่การต่อสู้ที่ราชดำเนินยังไม่จบ และไม่รู้ว่าใครแพ้ใครชนะ ผมจะปลอดภัยตลอด เพราะฝ่ายตรงข้ามจะไม่ทำอะไรผมในช่วงนี้ เพราะถ้าทำช่วงนี้ ก็จะกลายเป็นการเรียกแขก เขาคงไม่ทำหรอก แต่หลังจากนั้นไปค่อยว่ากันอีกที
“จริงๆ ผมขึ้นเวทีครั้งแรกตั้งแต่พันธมิตรฯ ตอนไล่คุณทักษิณ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้โดดเด่นอะไร กระแสไม่ได้แรงเหมือนวันนี้ อาจเพราะตอนนั้นผมขึ้นเวทีไม่กี่ครั้ง ครั้งนี้ที่ผมขึ้นเวทีราชดำเนินเพราะผมรับไม่ได้กับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของรัฐบาล ในตอนแรกมีท่านอาจารย์ที่ผมเคารพโทรศัพท์มาคุยกับผมว่า อาจารย์จักษ์ขึ้นเวทีหน่อยไหม ผมบอกไปว่าผมกำลังจะเปิดเวทีเช่นกันที่พิษณุโลก ซึ่งการเปิดเวทีที่พิษณุโลก ผมใช้วิธีลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กในวันอาทิตย์ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ที่มันไม่ถูกต้องตามหลักการ ใครเป็นแฟนคลับหรือเป็นลูกศิษย์อาจารย์จักษ์ วันจันทร์ 5 โมงเย็นเจอกันหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมกันคัดค้าน เย็นวันอาทิตย์ผมขับรถไปซื้อธงชาติอันเล็กๆ 500 อัน แล้วก็ทำป้ายคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง โทรบอกลูกศิษย์ว่าอาจารย์อยากได้เครื่องเสียง ลูกศิษย์ก็ประสานหามาให้ ทั้งหมดผมใช้เงินส่วนตัว
“วันที่นัดชุมนุมช่วงกลางวันผมติดบรรยายให้กับการไฟฟ้า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเรียกพบ ผมก็บอกว่าไม่ได้ ผมติดบรรยาย จะเข้าพบได้ก็ตอนพักเที่ยง สุดท้ายท่านให้เข้าพบตอนเที่ยงครึ่ง ก็ถูกผู้บริหารทักท้วงอะไรบางอย่าง ผมพูดได้คำเดียวว่าหยุดผมไม่ได้แล้ว ผมก็เดินหน้าจัดการของผมต่อไป วันนั้นผมจัดชุมนุมนอกมหาวิทยาลัย มีคนมากันเยอะ และจำนวนมากที่ผมไม่รู้จัก ผมคิดว่าการชุมนุมของเราส่งผลให้กระแสต่อต้านระบอบทักษิณที่พิษณุโลกแรงขึ้น หลังจากนั้นผมก็มาขึ้นเวทีราชดำเนิน พอกลับไปนัดชุมนุมอีกครั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร มีคนมาร่วมกว่า 3,000 คน และครั้งสุดท้ายผมนัดชุมนุมกันที่หน้าศาลากลาง คนมามากจริงๆ ทั้งคนพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง” นี่เป็นอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง
//วางแผนเป็น “นักการเมือง”
โดยหลักการแล้ว ประชาธิปไตยจะต้องมาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แต่ทุกวันนี้ประชาธิปไตยของเราเน้นเฉพาะมาจากประชาชนผ่านวิธีการเลือกตั้ง แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามาจากประชาชนจริง เพราะ ส.ส. ในฐานะตัวเลือกก็ถูกกำหนดมาจากพรรค บนพื้นฐานผลประโยชน์ต่างตอบแทน อีกทั้งกระบวนการเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยการทุจริต ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ส.ส.เหล่านั้นที่อ้างที่มาว่ามาจากประชาชนกลับไม่ได้ดำเนินนโยบายเพื่อประชาชนโดยแท้จริง
“ประชาธิปไตยของผมมันน่าจะหมายถึงทำเพื่อประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนประเด็นการมาจากประชาชน และบริหารประเทศโดยประชาชนนั้น ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับรอง ผมคิดว่าการปกครองเพื่อประชาชนที่เป็นเรื่องสำคัญ ถามว่ารัฐบาลที่เข้าไปบริหารประเทศมีสักกี่ยุคสมัยที่เข้ามาแล้วทำเพื่อประชาชนจริงๆ ที่ผ่านมาทำเพื่อตัวเองแทบทั้งสิ้น อย่างเรื่องภาษีมรดกก็ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะมันกระทบกระเทือนตัวเอง เรื่องของพลังงานพวกนักการเมืองก็เข้าไปถือหุ้นกันเต็มไปหมดใน ปตท. และสุดท้ายใครเดือดร้อน ก็คือประชาชน
“ประเด็นที่มีโรงเรียนให้เด็กได้เรียนหนังสือก็จะไปยุบโรงเรียนอีก ยิ่งผมอยู่ในวงการศึกษารับเรื่องนี้ไม่ได้จริงๆ เด็กจะสองคนสามคนก็ต้องเรียนกับครู 1 คน ไม่ใช่เอาเด็ก ป.2 มารวมเรียนกับ ป.1 แล้วใช้ครูคนเดียวสอน ลำพังพวกเขาอยู่ต่างจังหวัดเขาก็ลำบากอยู่แล้ว ขาดโอกาสมากมายทั้งอุปกรณ์ ทั้งหนังสือ แล้วจะให้เด็กต่างจังหวัดแข่งกับเด็กกรุงเทพฯ ได้อย่างไร คนพวกนั้นเมื่อไหร่เขาจะลืมตาอ้าปากได้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกไปสอนหนังสือต่างจังหวัด เพราะที่กรุงเทพฯ มีอาจารย์เก่งๆ เยอะ ผมก็เลยคิดว่าผมควรไปสอนอยู่ในต่างจังหวัด
“สำหรับในอนาคตผมจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ ตรงนี้ผมตอบไม่ได้จริงๆ เพราะการเป็นนักการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับผมคนเดียว เมื่อการเมืองไทยตั้งสังกัดพรรค ต่อให้ผมอยากเป็นนักการเมืองสักแค่ไหน ถ้าพรรคไม่เลือกส่งผม ผมก็เป็นไม่ได้ แต่ถ้าคิดเล่นๆ นะ หากจะให้ผมไปเล่นการเมืองเป็น ส.ส. ผมมีเงื่อนไขอย่างเดียว คือจะต้องคุยกับพรรคให้รู้เรื่องก่อนว่า ผมจะไม่มีวันเป็นนักการเมืองที่เดินตามข้อกำหนดจากนายทุนหรือเจ้าของพรรค โดยไม่ฟังเสียงประชาชนหรือความเดือดร้อนของประชาชน ถ้ารับตรงนี้ได้เราก็ทำงานร่วมกันได้ ถ้ารับไม่ได้ผมก็รับไม่ได้เหมือนกัน ผมอยากเห็นนักการเมืองที่ผูกโยงกับประชาชนมากกว่าผูกติดกับพรรคการเมือง
“มาถึงวันนี้ยังไม่มีพรรคไหนติดต่อให้เล่นการเมือง เพราะเขาคงไม่อยากได้นักการเมืองสไตล์แบบผม (หัวเราะ) การเป็น ส.ส.ที่ดีนอกจากที่จะต้องไม่โกงแล้ว ผมคิดว่าจะต้องเป็นนักจัดการเพื่อให้ประชาชนได้ผลประโยชน์อย่างเหมาะสม ผมเน้นตรงคำว่า ความเหมาะสม ไม่ใช่เท่าเทียมกัน เพราะประชาชนมีความแตกต่างกัน การจัดสรรทรัพยากรจึงจะต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับประชาชนที่มีความแตกต่างกัน การเหมาโหล เช่น ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ นี่เป็นตัวอย่างถึงการบริหารจัดการที่ล้มเหลว เพราะโรงงานในแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบ การขนส่ง การจำหน่าย ดังจะเห็นได้จากการปิดโรงงานจำนวนมากภายหลังมีนโยบายนี้ออกมา”
ผศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร กล่าวปิดท้ายการสนทนาเป็นข้อคิดเตือนใจในสังคมนี้ได้เป็นอย่างดี “พ่อผมสอนเสมอว่า อย่าตัดสินคนเพียงแค่การกระทำที่มองเห็น แต่จะต้องมองลึกไปให้ถึงเจตนา พ่อสอนให้ยกย่องยาจกที่เป็นคนดี และเกลียดชังเศรษฐีที่เป็นคนชั่ว สำหรับผม ผมยกมือไหว้โสเภณีได้ แต่ไหว้คนขายชาติไม่ได้”