“ทำไมต้องฟ้องนายกฯ เพราะทรัพย์สินแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”

“ทำไมต้องฟ้องนายกฯ เพราะทรัพย์สินแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 


“ทำไมต้องฟ้องนายกฯ เพราะทรัพย์สินแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”

 

วันนี้ 14 ธันวาคม 2560 ครบ 10ปีที่มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีปตท.ที่สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4 ได้แก่ ครม.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่1 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่2 รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่3 ซึ่งทั้ง3รายนี้ทำหน้าที่เจ้าหนี้และเจ้าของทรัพย์แทนประชาชน ส่วนบมจ.ปตท.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่4 มีฐานะเป็นลูกหนี้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดมี3ข้อ

1)แบ่งแยกสาธาณสมบัติของแผ่นดินคืนให้กระทรวงการคลัง
2)แบ่งแยกที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและรอนสิทธิสำหรับวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ
3)แบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่4(บมจ.ปตท.)

ตลอดระยะ10ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่เป็นผู้ฟ้องคดีแม้ถูกกันออกไปจากสารบบการเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพราะกฎหมายมอบหมายให้รัฐบาลมีหน้าที่เป็นเจ้าทรัพย์แทนประชาชน ต้องทำหน้าที่ในการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ถูกยักยอกไปในตอนแปรรูป แต่ปรากฎว่าในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนนั้น มีการคืนไม่ครบถ้วน ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องคดีหลายครั้งแม้จะถูกยกคำร้อง แต่ก็ไม่ละความพยายาม แม้ศาลจะยกคำร้องผู้ฟ้องคดีเพราะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะมีสิทธิร้องต่อศาลว่ามีการคืนทรัพย์ไม่ครบถ้วน แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็พอใจทรัพย์สินเท่าที่ลูกหนี้คืน

อย่างไรก็ตามเมื่อศาลมีคำสั่งที่800/2557 บอกว่าการไม่ปฏิบัติตามมติครม.เมื่อ18 ธ.ค 2550นั้น เป็นเรื่องที่ครม.ต้องไปว่ากล่าวกันเอง และจากคำสั่งที่800/2557ของศาลปกครองสูงสุดได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีสามารถนำเรื่องไม่ปฏิบัติตามมติครม.ในการคืนทรัพย์สินไปร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นหน้าที่ของคตง.ที่จะตรวจสอบได้

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)พบว่ามีการ
กระทำผิดในกระบวนภายในของกระทรวงการคลังร่วมกับลูกหนี้ในการคืนทรัพย์ไม่เป็นไปตามคำพิพากษา และมีการรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่25 ธ.ค 2551

คสช.บริหารบ้านเมืองมา3ปีกว่า ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จด้วยมาตรา44 ปลดล็อคอุปสรรคตั้งแต่ระดับไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ยกเลิกกฎหมายหลักต่างๆก็ยังทำได้ แต่กลับไม่ยอมใช้อำนาจตามกฎหมายจัดการเอาทรัพย์สินแผ่นดินคืนตามคำพิพากษาที่เวียนมาบรรจบครบรอบ10ปีในวันนี้

แม้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะมีการตรวจสอบและแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ปัจจุบันมีรัฐบาลคสช.เป็นเจ้าหนี้ และปตท.ที่เป็นลูกหนี้ว่าการคืนทรัพย์สินที่รายงานศาลเมื่อ 25ธ.ค 2551 นั้นยังไม่ครบถ้วน ยังขาดท่อส่งก๊าซในทะเลและบนบกอีก รวมแล้วมีมูลค่าขาดไปอีก 32,613.45ล้านบาทที่ต้องส่งคืนให้กระทรวงการคลัง สตง.ได้ส่งรายละเอียดการสอบสวน180แผ่น ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4 และรมว.กระทรวงคลังในฐานะผู้ได้รับทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกคืน ตลอดจนปปช.ปปง สำหรับปปช.ได้รับหลักฐานประกอบการสอบสวนเพิ่มอีก2,566แผ่น เอกสารเหล่านี้ส่งถึงบุคคลและองค์กรตามที่เอ่ยนามตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559

ผ่านมากว่า1ปี หลังจาก
สตง.ส่งคำวินิจฉัยแต่ไม่มีองค์กรใดแสดงความกระตือรือร้นปฏิบัติให้เป็นไปตามการตรวจสอบเลย!!!!

บางท่านอาจสงสัยว่าดิฉันได้เอกสารการสอบสวนของคตง.และสตง.ได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรมะจัดสรรคือ บมจ.ปตท.ฟ้องคุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษาด้วยข้อกล่าวหาการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่คอมพิวเตอร์ว่าปตท.คืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ดิฉันไปเป็นพยานในคดีนี้ และทางทนายขอศาลเรียกข้อมูลการสอบสวนจากคตง.และสตง. จึงทำให้ดิฉันมีโอกาสเห็นรายละเอียดคำวินิจฉัยของคตง.และเอกสารที่ส่งถึงองค์กรและผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4

แต่ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีคือรัฐบาลคสช.ในขณะนี้ ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนก็ไม่ทำอะไร ขนาดสตง.ที่เป็นฝ่ายตรวจสอบแจ้งว่ายังคืนทรัพย์สินไม่ครบ มีการสมคบทำผิดคำพิพากษาอย่างไร สมคบทำผิดมติครม.อย่างไร รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลก็วินิจฉัยว่ามีการคืนท่อก๊าซไม่เป็นไปตามคำพิพากษาเพราะศาลปกครองสูงสุดมองท่อก๊าซเป็นระบบ ไม่ได้มองเป็นส่วนๆ หรือเป็นท่อนๆ ความหมายคือท่อก๊าซต้องคืนทั้งระบบทั้งบนบกและในทะเล ไม่ใช่คืนเฉพาะบางส่วนบนบก

แต่รัฐบาลคสช.ที่มีหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นเจ้าทรัพย์แทนประชาชาและได้รับคำวินิจฉัยจากคตง.ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา (เมื่อ14ธ.ค 2550 ) ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน60วันหลังจากได้รับหนังสือเมื่อ24 ส.ค 2559 ซึ่งครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2559 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับเวลาแก้ปัญหากรณีที่ผลิตพลังงานแบบผิดกฎหมายในที่ดินสปก.นายกฯรีบใช้มาตรา44 ยกเว้นกฎหมายหลักให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ทันที แต่กรณีทรัพย์สินของแผ่นดินไม่เห็นสนใจดำเนินการในอัตราความเร็วระดับเดียวกัน ใช่หรือไม่

ปัจจุบันรัฐบาลกลับให้อัยการส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลปกครองวินิจฉัยอีกครั้งว่า”ลูกหนี้”คืนทรัพย์สินครบหรือยัง?แทนที่จะรายงานว่ามีการคืนทรัพย์สินไม่ครบ ขาดไปอีก 32,613.45ล้านบาท และใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งลูกหนี้ให้คืน และรายงานต่อศาล เท่านี้ก็เสร็จเรื่อง และเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 ที่บอกชัดเจนว่าเป็นอำนาจของครม.ที่จะบังคับบัญชาหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา

เรื่องนี้อุปมาง่ายๆว่าบริษัทประเทศไทยมหาชนถูกผู้จัดการคนก่อนโกงทรัพย์สินของบริษัทไป เมื่อมีการฟ้องร้องโดยประชาชนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯและศาลก็พิจารณาแล้วพบว่ามีการฉ้อทรัพย์ของบริษัทฯไปจริง จึงตัดสินและมีคำสั่งให้เจ้าทรัพย์ไปแบ่งแยกทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงคืน แต่ผู้จัดการบริษัทคนใหม่ทุกคนในระยะ10ปีที่ผ่านมาซึ่งมีหน้าที่เป็นเจ้าทรัพย์แทนประชาชนผู้ถือหุ้นในบริษัทประเทศไทยมหาชนที่ต้องไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงไปก่อนหน้านั้นตามคำพิพากษา แต่ไม่มีใครยอมทำหน้าที่ ปล่อยให้มีพนักงานบางส่วนของบริษัทฯร่วมมือกับลูกหนี้ทำรายการทรัพย์สินคืนให้บริษัทฯเพียงบางส่วน ประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนตัวจริงก็พยายามติดตามแม้กฎหมายจะบัญญัติว่าประชาชนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ประชาชนที่ถือว่าตัวเองเป็นหุ้นส่วนของบริษัทฯก็สามารถทำให้ฝ่ายตรวจสอบของบริษัทคือคตง.และสตง.และผู้ตรวจการแผ่นดินทำการตรวจสอบจนพบว่ามีการคืนทรัพย์ไม่ครบจริง และมีกระบวนการที่ทำผิดกฎหมายอย่างไร และสำนักกฎหมายของผู้จัดการบริษัทคือคณะกรรมการกฤษฎีกาก็บอกว่าการคืนทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษา

แต่ผู้จัดการบริษัทฯก็ไม่ยอมรับฟัง กลับส่งทนายบริษัทคืออัยการให้ไปถามศาลว่า ทรัพย์สินที่ลูกหนี้คืนมานั้นถือว่าคืนครบหรือยัง?!!

ช่างเป็นตลกร้ายใช่ไหมที่รัฐบาลคสช.เป็นเจ้าของทรัพย์แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์อะไรบ้างที่ถูกฉ้อโกงไป กลับไปถามศาลว่าลูกหนี้คืนทรัพย์ครบหรือยัง!?!

นี่เป็นการจงใจแกล้งตีมึน ใช่หรือไม่!?!

เมื่อวานนี้(13 ธ.ค 2560) ประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนของบริษัทประเทศไทยมหาชน จึงจำเป็นต้องฟ้องผู้จัดการและคณะบริหารของบริษัทฯต่อปปช.เพื่อให้มีการพิจารณาลงโทษผู้ที่มีหน้าที่ แต่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ และการไม่ทำหน้าที่ เป็นการทำให้บริษัทประเทศไทยมหาชนได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

ประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนบริษัทประเทศไทยมหาชน ต้องช่วยกันจับตาว่าปปช.จะพิจารณาความผิดของทีมผู้บริหารประเทศไทยนี้กันอย่างไรต่อไป

รสนา โตสิตระกูล
14 ธ.ค 2560

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1517900548286503&id=236945323048705