“ทุจริตด้วยกฎหมาย” ร้ายกว่า”ทุจริตด้วยนโยบาย”

“ทุจริตด้วยกฎหมาย” ร้ายกว่า”ทุจริตด้วยนโยบาย”

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล


“ทุจริตด้วยกฎหมาย”
ร้ายกว่า”ทุจริตด้วยนโยบาย”

 

ประเด็นที่คุณคำนูณยกขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะรัฐบาลคสช.และสนช.กำลังจะออกกฎหมายเพื่อถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไปให้เอกชนโดยอาศัยร่างกฎหมาย2-3ฉบับที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการของสนช. ได้แก่ 1)ร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ 2)ร่างพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฉบับฯใหม่ และ3)ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ในร่างพ.ร.บ ฉบับที่1-2 ได้เปลี่ยนแปลงนิยามรัฐวิสาหกิจว่าหมายถึง

(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

(2) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ

คุณคำนูณเล่าว่าการประชุมกรรมาธิการวันนี้ทำให้รู้ชัดเจนว่า บริษัทปตท.จะเข้าความหมายข้อ2 หมายความว่ามีเพียงบริษัทปตท.ที่จะคงเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนบริษัทลูกของปตท.ทั้งหมดรวมทั้งปตท.สผ.และบริษัทลูกที่จะตั้งขึ้นใหม่เช่น PTTOR จะหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจทันทีเมื่อร่างกฎหมายผ่านสภา

ส่วนร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ...ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการหากผ่านเป็นกฎหมาย บรรดารัฐวิสาหกิจที่ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทแล้ว ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และที่กระทรวงการคลังยังถือหุ้น100% ก็จะถูกถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ หรือซูเปอร์โฮลดิ้งทั้งหมด

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงก็จะถูกแปลงสภาพเป็นบริษัทในลำดับต่อไป และโอนเข้าไปอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ และต่อไปรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงต่างๆก็จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทและถ่ายโอนเข้าไปอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจทั้งหมด และรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงจะหมดไปหมดไป จนเหลือเพียงประเภทเดียวคือรัฐวิสาหกิจที่ไปอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจหรือซูเปอร์โฮลดิ้ง และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจลดสัดส่วนหุ้นของรัฐวิสาหกิจภายใต้บรรษัทฯจนหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไปในอนาคต

นี่คือกระบวนการถ่ายโอนทรัพย์สินของชาติและประชาชนที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจออกไปเป็นของทรัพย์สินของเอกชน ใช่หรือไม่

กระบวนการตรากฎหมายเหล่านี้ กำลังดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆกับกระบวนการแบ่งแยกกิจการที่มีกำไรในรัฐวิสาหกิจต่างๆออกมาเป็นบริษัทลูก ซึ่งต่อไปเมื่อร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย บรรดาบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดก็จะหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ ตกเป็นกิจการของเอกชนโดยสมบูรณ์ ใช่หรือไม่

กรณีการแยกกิจการค้าปลีกและน้ำมันของปตท.มาเป็นบริษัท PTTOR โดยบริษัทปตท.ประกาศว่าจะถือหุ้นในPTTOR ต่ำกว่า50% นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยที่ว่า จะมีใครที่ยินดีขายหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการของตนเองที่ได้กำไรไปให้คนอื่นเป็นเจ้าของแทน

โครงการจัดตั้งบริษัท PTTOR จึงชะงักงันไปพักใหญ่เพราะถูกสตง. ทักท้วงว่าการแยกกิจการที่มีกำไรและลดสัดส่วนหุ้นของรัฐเหลือต่ำกว่า50% จนกลายเป็นกิจการของเอกชนนั้น ทำไม่ได้ เพราะทำให้รัฐเสียหายและเสียประโยชน์ และหากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

มิใช่เพียงPTTOR เท่านั้น เมื่อวันที่22กันยายน 2560 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีตรมว.กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือไปถึงเลขาฯคณะรัฐมนตรี แจ้งว่าได้มอบหมายให้ปตท. เตรียมการแบ่งแยกกิจการท่อก๊าซทั้งด้านบัญชีและทางกฎหมายไว้เพื่อตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่3 มาเช่าใช้ท่อส่งก๊าซได้ ทั้งๆที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งมติให้ เลขาครม.,นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแล้วให้จัดการเรียกคืนท่อก๊าซในทะเล และบนบกอีกบางส่วนรวมมูลค่า 32,613.45 ล้านบาทคืนให้กระทรวงการคลัง แต่ทั้งนายกฯและบรรดารมต.ที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการแล้ว ยังมีพฤติการณ์ในการออกแบบร่างพ.ร.บ.หลายฉบับที่อาจมีปัญหาไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมเพื่อถ่ายโอนทรัพย์สินให้กับเอกชนอย่างชัดเจน ใช่หรือไม่

นอกจากการเตรียมการแยกกิจการส่วนที่ได้กำไรของปตท.และกิจการท่อก๊าซซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อถ่ายโอนให้เป็นกิจการเอกชนตามกฎหมายที่บัญญัติกันแบบหักดิบดื้อๆแล้ว ยังดำริจะแยกกิจการสายส่งไฟฟ้า
ของกฟผ.ไปเป็นบริษัทลูก หรือการเตรียมการแยกบริษัทลูกของการรถไฟเป็น3บริษัทได้แก่ บริษัทที่บริหารสินทรัพย์ของการรถไฟ บริษัทที่ดูแลการเดินรถ และบริษัทที่ดูแลระบบราง หรือการเตรียมการจัดตั้งบริษัทลูกอีก3 บริษัทโดยแยกกิจการและทรัพย์สินออกจากCAT และ TOT ซึ่งล้วนเป็นการแบ่งแยกกิจการที่ได้กำไรของรัฐวิสาหกิจออกมาเป็นบริษัทลูกก่อน เมื่อใดที่กฎหมายเหล่านี้ผ่านสภา ก็พร้อมแยกกิจการส่วนที่ทำกำไรออกไปเป็นของเอกชนได้เลยตามนิยามรัฐวิสาหกิจที่บัญญัติขึ้นใหม่ ใช่หรือไม่

สิ่งที่รัฐบาลคสช.กำลังดำเนินการในขณะนี้คือการแบ่งแยกกันทำงานแบบลับลวงพราง โดยด้านหนึ่งออกกฎหมายเปลี่ยนนิยามเพื่อการถ่ายโอนกิจการและทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนได้ตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการเตรียมแยกกิจการและทรัพย์สินออกจากรัฐวิสาหกิจโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อนำมาสู่การกินรวบผูกขาดโดยกลุ่มทุนเอกชน ใช่หรือไม่

ดิฉันเคยตั้งคำถามว่ารัฐบาลคสช.และสภาเสียงเอกฉันท์อย่างสนช.ที่เป็นมืออีกข้างของรัฐบาลคสช.สมควรแล้วหรือที่จะออกกฎหมายมาถ่ายโอนทรัพย์สินมหาศาลของประเทศกันอย่างเงียบเชียบแบบนี้ เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องมีการถกเถียงกันในระดับวาระการเมืองแห่งชาติหรือประกาศเป็นนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้และร่วมตัดสินใจไม่ใช่มารวบหัวรวบหางออกกฎหมายแบบการล้อมจับหมูเข้าอวยแบบนี้ ใช่หรือไม่

ต่อไปรัฐวิสาหกิจคงจะเหลือแต่ส่วนที่ขาดทุนเก็บเอาเพื่อใช้งบประมาณของแผ่นดินต่อไป ส่วนกิจการที่ได้กำไรจะถูกจัดตั้งเป็นบริษัทลูกเตรียมไว้โยกย้าย ผ่องถ่ายให้เป็นทรัพย์สินเข้ากระเป๋าเอกชนฟรีๆใช่หรือไม่

บรรดาบริษัทเอกชนที่เคยก่อวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ20ปีก่อน สร้างภาระหนี้สินกว่า8แสนล้านบาทให้กับประเทศและให้ประชาชนต้องชดใช้หนี้สินของเอกชนแทนเป็นเงินนับล้านล้านบาท

วิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดจากการบริหารอย่างไร้วินัยของภาคเอกชนทำให้กิจการต่างๆ และทรัพย์สินของเอกชนในประเทศไทยถูก take over โดยกลุ่มทุนต่างชาติทั้งโดยเปิดเผยและโดยแอบแฝง จึงน่าเป็นห่วงว่าร่างกฎหมาย3ฉบับในการถ่ายโอนทรัพย์สินจากรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง14ล้านล้านบาท โดยในระยะแรกจะเริ่มถ่ายโอน 11 รัฐวิสาหกิจที่มีทรัพย์สินมูลค่า 6 ล้านล้านบาท

หากทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจถูกผ่องถ่ายไปให้เอกชนเพื่อกระตุ้นมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ ย่อมมีโอกาสจะถูก take over โดยกลุ่มทุนต่างชาติซึ่งมีพลังทุนมหาศาลได้อย่างง่ายดาย ใช่หรือไม่

กลุ่มทุนเอกชนที่ไม่สามารถแม้แต่จะรักษาทรัพย์สมบัติของตัวเองไว้ได้ในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ผ่านมาเมื่อ20ปีที่แล้ว กำลังคิดจะเข้าฉกฉวยบริหารทรัพย์สินของรัฐโดยอาศัยอำนาจคสช.และสนช.ในการผ่านกฎหมายกินรวบทรัพย์สินของแผ่นดินแล้วเราควรจะปล่อยให้คนเหล่านี้มาดูแลทรัพย์สมบัติของส่วนรวมได้ละหรือ!?!

การทุจริตเชิงนโยบายในอดีต ประชาชนยังพอต่อสู้ด้วยกฎหมายได้อยู่บ้าง แต่ต่อไปการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วยการออกเป็นกฎหมายแบบอำพรางโดยขาดหลักนิติธรรมเช่นนี้ ประชาชนเจ้าของทรัพย์ตัวจริงจะต่อสู้เอาสาธารณะสมบัติกลับคืนมาได้อย่างไร !?!

รสนา โตสิตระกูล
15 ธ.ค 2560

https://www.facebook.com/kamnoon/posts/1576078272436121

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1519534171456474&id=236945323048705