“ประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“ประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“ประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 


ประเพณีปฏิบัติในสังคมหนึ่งๆ มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมนั้นๆ เพราะแนวทางการปฏิบัติที่ดีงาม เมื่อทำซ้ำๆจนกลายเป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคมนั้นๆว่าเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการรับรองว่าควรประพฤติปฏิบัติ เช่น การกราบไหว้ผู้ใหญ่ผู้มีอาวุโสในสังคมไทย หรือการกตัญญูต่อบุพการี ก็ไม่มีข้อบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายว่าต้องปฏิบัติ หรือถ้าไม่ปฏิบัติจะมีความผิด หรือมีบทลงโทษ

ประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ(Constitu
tional Convention)ก็เช่นกัน มีประเพณีปฏิบัติหลายอย่างที่แม้ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ก็ทำกันเป็นประเพณี เช่นการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเสียงข้างมากก่อนพรรคอื่นก็เป็นมารยาททางการเมืองที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ กรณีรัฐบาลลาออกเมื่อร่างกฎหมายของรัฐบาลถูกโหวตคว่ำในสภา ยกตัวอย่างร่างพระราชบัญญัติเพื่ออนุมัติพระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ...แต่รัฐสภาโหวตคว่ำ ทำให้รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามต้องลาออก อันเป็นมารยาทที่ดีทางการเมืองของประเทศอารยประชาธิปไตยทั่วไป

แต่ประเพณีปฏิบัติทางการเมืองเหล่านี้ไม่เคยถูกสร้างเสริมให้มีความเข้มแข็งในสังคมการเมืองของไทย เราเลยมีแต่นักการเมืองประเภทศรีธนญชัย อ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติบ้าง ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองบ้าง เข้มงวดฝ่ายตรงข้าม ผ่อนปรนฝ่ายตัวเอง หรือหนักเข้าก็ถือคติด้านได้อาย-อด ประเภทต้องอยู่เพื่อรักษาศักดิ์ศรี เพื่อรักษาประชาธิปไตย หรือรักษาความมั่นคง เป็นต้น

การที่เราขาดมารยาททางการเมืองหรือขาดประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็ง การเมืองไทยจึงอ่อนแอ เปิดช่องให้เกิดการรัฐประหารบ่อย และถี่มาก

เมื่อพูดถึงประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ กรณีที่ประธาน.สนช.กล่าวว่าตนเองไม่มีหน้าที่ยื่นพรป.ป.ป.ช.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ ต้องปล่อยให้เป็นการเข้าชื่อของสมาชิกสนช.ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 178ในพรป.ป.ป.ช จึงจะยื่นได้ และสนช.ยังมีข้ออ้างว่าสมาชิกที่เห็นด้วยไม่ควรเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ข้ออ้างของกรรมาธิการและสมาชิกที่แปรญัตติให้ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการป.ป.ช โดยอ้างว่าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560ให้อำนาจสนช.ไว้ ที่บัญญัติว่า”กรรมการในองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560ใช้บังคับจะอยู่ต่อไปหรือไม่แล้วแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสำหรับองค์กรอิสระนั้นจะบัญญัติไว้ “

สิ่งที่ต้องถามคือ

1)แม้รัฐธรรมนูญให้อำนาจสนช.ไว้ แต่การใช้อำนาจควรอยู่ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ใช่หรือไม่

2)การบัญญัติกฎหมายของแต่ละองค์กรอิสระต้องอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน การที่สนช.เลือกเซตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) โดยอ้างว่ามีกรรมการกกต. บางคนเคยเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ และกรรมการกสม.เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภามาก่อนและลาออกยังไม่ถึง10 ปี แต่เหตุใดกลับยกเว้นให้คณะกรรมการป.ป.ช. คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้อยู่ต่อไปได้โดยไม่เซตซีโร่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งที่มีคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ยิ่งพิศดารกว่าทุกองค์กร คือคสช.ใช้มาตรา44 ให้สรรหาคตง.ชุดใหม่ทั้งๆที่เหลือเวลาอีกหลายเดือนที่คตง.ชุดเดิมจะพ้นตำแหน่ง โดยไม่รอพรป.ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ว่าชุดเดิมจะอยู่หรือไป ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่น น่าสงสัยว่าเพราะคตง.ชุดเดิมนั้นได้ตรวจสอบประเด็นเรื่องการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลคสช.เรื่องการเรียกคืนท่อก๊าซ ใช่หรือไม่

การที่สนช.ผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน และขัดรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักการบัญญัติกฎหมายที่ดีตามมาตรา3 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่า “..รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรมฯ”ใช่หรือไม่

หลักนิติธรรมในที่นี้ คือหลักดุลภาค(Equityหรือ Fairness)
หมายถึงการออกกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือด้วยความลำเอียงซึ่งสนช.ขาดหลักนิติธรรมในข้อนี้ อย่างโจ่งแจ้งในสายตาของมหาชน คือบางองค์กร เซตซีโร่ บางองค์ปล่อยให้อยู่ต่อทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ดังนั้นสนช.จึงตรากฎหมายอย่างขัดหลักนิติธรรมและขัดรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่

3)เหตุที่รัฐธรรมนูญบัญญัติลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการในองค์กรอิสระไว้ เพราะลักษณะต้องห้ามเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการในองค์กรอิสระในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ที่ต้องไม่มีการขัดกันแห่งประโยชน์ หากเปรียบเทียบ ”ลักษณะต้องห้าม” กับ ”พระวินัยสงฆ์“ ลักษณะต้องห้ามของกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญน่าจะเทียบความร้ายแรงถึงขั้นปาราชิก ที่ไม่อาจดำรงสถานะเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้อีกต่อไป

หากสนช.ผ่านกฎหมายตามหลักนิติธรรม และภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ก็คงไม่ต้องเดือดร้อนในการต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยด้วยซ้ำ และการผ่านกฎหมายสำคัญระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของแต่ละองค์กรอิสระ
ที่ขาดความถูกต้องตามหลักนิติธรรม จึงไม่ใช่การสร้างประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญที่ดีงามในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

รสนา โตสิตระกูล
16 ม.ค 2561

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1551346088275282&id=236945323048705