“การปราบปรามคอร์รัปชันต้องเป็นเจตจำนงทางการเมือง”

“การปราบปรามคอร์รัปชันต้องเป็นเจตจำนงทางการเมือง”

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“การปราบปรามคอร์รัปชันต้องเป็นเจตจำนงทางการเมือง”

 

ประเทศไทยเริ่มรายงานดัชนีความโปร่งใสขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ มาตั้งแต่ปี 2538 ขณะนั้นไทยได้คะแนน 3.8 เต็ม10 แสดงว่าเรายังสอบตกเรื่องความโปร่งใส แต่หลังจากนั้น คะแนนความโปร่งใสของเราก็ไม่กระเตื้องขึ้น ยังคงวิ่งขึ้นลงอยู่ระดับนี้ เราไม่เคยได้คะแนนถึง 5 เต็ม10 ที่ถือว่าสอบผ่านแบบคาบเส้นเลยตลอด22ปี ที่ผ่านมา

ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่เคยสนใจว่าจะขยับฐานะดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่รัฐบาลทำก็เป็นเพียงจัดงานอีเว้นท์ (Event) ปีละครั้งในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี หลังจากนั้นก็ไม่มีกิจกรรมใดที่ทำให้เกิดการร่วมไม้ร่วมมือกับเครือข่ายของประชาชนหรือมีการปราบปรามกวาดล้างการคอร์รัปชันในวงการเมืองและวงราชการอย่างจริงจังเหมือนผู้นำประเทศจีนที่จัดการกับคนระดับสูงในพรรคคอมมูนิสต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวแบบรัฐบาลคสช.

การปราบปรามการทุจริตในวงการเมืองและภาคราชการต้องเป็น
เจตจำนงทางการเมือง เพราะการทุจริตเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้อำนาจ และการใช้อำนาจในระดับสูงย่อมเกิดการทุจริตที่ยากแก่การตรวจสอบ

ท่านนายกฯประยุทธ์เพิ่งประกาศนโยบาย หรือคำขวัญ เมื่อเดือนที่แล้ว (วันที่ 9 ธันวาคม 2560) ว่า “ประชาชนจะไม่ทนต่อการคอร์รัปชันอีกต่อไป” (Zero Tolerance) พอมาเกิดเหตุกับพล.อ ประวิตร เรื่องนาฬิกาฉาว ท่านก็พูดว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน” !!??

ดิฉันเคยมีประสบการณ์ร่วมกับเครือข่ายองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ 30 องค์กรตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อยาเเละเวชภัณฑ์1,400ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี2541 และสามารถกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขเรื่องร่ำรวยผิดปกติต่อป.ป.ช ซึ่งป.ป.ช รับลูกและสอบจนสามารถส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลมีคำสั่งว่าอดีตรัฐมนตรีร่ำรวยผิดปกติ ไม่สามารแจงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มมา233.8ล้านบาท จึงถูกศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ 233.8 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน

และในเงินที่ร่ำรวยผิดปกตินั้น มีหลักฐานว่ามีการรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยาเอกชนรายใหญ่ ซึ่งเป็นสินบนที่จ่ายเพื่อให้รัฐมนตรีสั่งยกเลิกราคากลางยา ทำให้เปิดเพดานในการซื้อยาและเวชภัณฑ์ราคาแพงกว่าความเป็นจริงได้ กรณีรับสินบนของอดีตรัฐมนตรีท่านนี้ถูกศาลฎีกาฯสั่งจำคุก15ปี ซึ่งเป็น2คดีแรกของป.ป.ช ที่สามารถฟ้องเอาผิดคนระดับในรัฐมนตรีทั้งยึดทรัพย์ และจำคุกในปี2546 และ2547ตามพ.ร.ป ป.ป.ช 2542

การที่ป.ป.ช.บัญญัติข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งและข้าราชการรับทรัพย์สินอื่นใดเกิน 3,000บาทเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรับสินบนที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้บุคคลผู้ให้ประโยชน์อื่นใดแก่ข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งในที่สุดจะเข้ามาเกี่ยวกับเงินแผ่นดินจนได้ หรืออาจนำมามาสู่การออกใบอนุญาตให้รีดนาทาเร้นประชาชนผ่านราคาสินค้าและบริการที่สูงเว่อร์เกินเหตุ คนโบราณจึงเรียกการทุจริตคอร์รัปชันว่า “การฉ้อราษฎร์ บังหลวง” และคนโบราณก็มีวาทกรรมคำว่า”ลูบหน้าปะจมูก”เข้ามาประกอบด้วย ถ้าผู้มีอำนาจไม่จัดการกับข้อครหาเรื่องคอร์รัปชัน เพราะลูบหน้าแล้วเจอจมูก เลยไม่กล้าตัดจมูกเพราะเป็นจมูกของตัวเอง การฉ้อราษฎร์ บังหลวงก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการแก้ไขนั่นเอง

การประกาศถอนตัวของTI ประเทศไทยจากการเป็นสมาชิกองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International/TI) ในคร้ังนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อครหาเรื่องนาฬิกาหรูของตำแหน่งเบอร์2 ในรัฐบาลคสช. ย่อมทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ว่าใครบางคนคงไม่ต้องการเห็นตัวเลขดัชนีความ”ไม่”โปร่งใสของประเทศไทยให้ระคายเคืองตาและเคืองใจกระมัง ใช่หรือไม่

รสนา โตสิตระกูล
25 ม.ค 2561

ไทย แจงถอนตัวจัดอันดับทุจริตโลก ชี้ตัววัดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
http://news.ch7.com/detail/267894?refid=line

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1560480994028458&id=236945323048705