“ข้อตกลงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ เป็นวิสัยทัศน์หรือการซื้อเวลา!?!”

“ข้อตกลงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ เป็นวิสัยทัศน์หรือการซื้อเวลา!?!”

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 


“ข้อตกลงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ เป็นวิสัยทัศน์หรือการซื้อเวลา!?!”

 

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมรมว.กระทรวงพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธุ์ ที่ลงมาแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่-เทพา จนมีข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับกันทั้ง2ฝ่าย แม้ว่ารัฐบาลยังไม่ยอมยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเด็ดขาดในขณะนี้ แต่จะใช้เวลา 9 เดือนในการประเมินความคุ้มค่าเชิงพื้นที่ ก็หวังว่าจะไม่ใช่เพียงการซื้อเวลาเพื่อให้ชาวบ้านกลับบ้านไปก่อนสักระยะหนึ่งในช่วงกระแสขาลงของรัฐบาล!?!

หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ ความคุ้มค่าเชิงพื้นที่ของเทพา-กระบี่ เทียบกับผลได้ด้านพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินน่าจะไม่คุ้มค่าที่เห็นได้อย่างชัดเจน

กระบี่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละไม่น้อยกว่า5-6หมื่นล้านบาท เทพา -กระบี่ยังเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญ มีพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ระบบนิเวศป่าชายเลนโดยธรรมชาติแล้วจะมีความสมดุลในตัวของมันเอง แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็จะเป็นผลทำให้ระบบความสัมพันธ์นี้ถูกทำลายลง จนเกิดเป็นผล เสียขึ้นได้ เช่น ถ้าหากพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย จากการสร้างสะพานขนถ่ายถ่านหิน จนเกิดมลภาวะ อาจเกิดการเน่าเสียของน้ำ ก็จะกระทบจำนวนสัตว์น้ำให้ลดลงตามไปด้วย หรือที่เหลืออยู่ก็อาจจะปนเปื้อนสารพิษ

ผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินไม่ได้เกิดเฉพาะพื้นที่เทพา - กระบี่เท่านั้น แต่จะกระทบคนทั้งประเทศในมิติเรื่องอาหารทะเลที่จะปนเปื้อนด้วยสารพิษ และผลกระทบในระดับโลกเรื่องภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ถ่านหินก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ ฝุ่นขนาดเล็กPM 2.5 จะทำลายความบริสุทธิ์ของอากาศ กระทบชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ย่อมไม่เหมาะจะเป็นสถานที่พักผ่อนท่องเที่ยวอีกต่อไป นอกจากนั้นถ่านหินก็เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ประเทศที่เคยใช้ถ่านหินมาก่อนเพราะไม่มีทางเลือกอื่นในสมัยก่อน เวลานี้กำลังลดและทะยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเรื่อยๆ

ตามแผนPDP2015 ของภาครัฐกำหนดสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิง โดยถ่านหินถูกกำหนดว่าจะมีสัดส่วน20-25% ภายในปี2569 แต่ขณะนี้สัดส่วนพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินในปี2561 มาถึง24.7 %แล้ว ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนซึ่งกำหนดสัดส่วนไว้ที่15-20% ในปี2569 แต่ขณะนี้มีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพียง4-5% เท่านั้น

ถ้ามองจากมุมนี้ สัดส่วนการได้พลังงานจากถ่านหินได้ใช้ไปเกือบเต็มพิกัดก่อนกำหนดตามแผน PDP ถึง8ปีอยู่แล้ว จึงไม่ควรเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่-เทพาอีก ควรหันมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เต็มพิกัด15-20% เสียก่อน และควรส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า Energy Efficiency หรือ EE แทน ซึ่งในแผน PDP ก็กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า10%

แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการทำให้การใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพอย่างจริงจังตามที่ระบุในแผนPDP กิจกรรมส่งเสริมการประหยัดยังเน้นในเชิงEvent เป็นหลัก ยกตัวอย่างการจัดอีเว้นท์รณรงค์ดับไฟ 1ชั่วโมงปีละครั้งเป็นคราวๆไป หรือโฆษณาให้ดับไฟที่ไม่ได้ใช้ การส่งเสริมใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์5 เพื่อประหยัดไฟ ก็ทำไปอย่างแกนๆ เพราะกฟผ.ยิ่งส่งเสริมการประหยัดก็ยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง เนื่องจากกำไรของ กฟผ.ถูกออกแบบในยุคที่จะแปรรูป กฟผ.โดยเน้นประกันกำไรที่มาจากการลงทุนที่เรียกว่า Return on Invested Capital 8.4% ปัจจุบันแม้ผลตอบแทนการลงทุน ลดลงจาก8.4% เหลือประมาณ 5-6% แต่การที่โครงสร้างแบบนี้ไม่เปลี่ยน (แม้กฟผ.จะแปรรูปไม่สำเร็จก็ตาม) เลยทำให้ กฟผ.ยังต้องเน้นการลงทุนเป็นหลักต่อไป แม้ว่าการสำรองไฟฟ้าจะสูงกว่าที่กำหนดการสำรองไว้15% ไปถึง 30% กว่าแล้วก็ตาม ก็ยังหยุดลงทุนไม่ได้ จึงทำให้ส่วนการประหยัดก็เป็นได้แค่ระดับผักชีประดับให้สวยงามเท่านั้น ใช่หรือไม่

ถ้ารัฐมนตรี ดร.ศิริ สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการประกันกำไรของกฟผ.จากเน้นการลงทุนมาเป็นเน้นการประหยัดและประสิทธิภาพ จะทำให้กฟผ.ไม่ต้องถูกบีบให้ต้องเน้นแต่การสร้างโรงไฟฟ้า และมีปัญหากับชุมชนต่างๆ

ในอเมริกามีหลายรัฐอย่างรัฐ Vermont ที่ดิฉันเคยไปดูงาน ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า”การประหยัด (การลงทุนทำEE) ต้องใช้การลงทุนที่สูงกว่าการสร้างโรงไฟฟ้า” รัฐบาลของรัฐนั้นๆจึงจะยอมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า

หากดร.ศิริมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในฐานะที่เป็นนักวิชาการมาก่อนเป็นรัฐมนตรี ย่อมจะเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเทคโนโลยี่ที่ล้าสมัยแล้วเป็นเทคโนโลยี่ที่ใกล้จะตกดินแล้ว (Sunset technology) ดังที่รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอารเบีย นายอาเหม็ด ซากี ซามานี ( Almed Saki Samani) เคยกล่าวไว้เมื่อกว่า30ปีที่แล้วว่า “ภายใน30ปีต่อจากนี้ ยุคของน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินจะผ่านพ้นไป ต่อไปซาอุฯจะประสบความยากลำบากเพราะน้ำมันจะถูกเก็บไว้ใต้ดิน เพราะไม่มีคนซื้อ เหมือนยุคหินที่ผ่านไป ไม่ใช่เพราะหินหมด” ราคาน้ำมันที่ตกจาก140เหรียญ/บาร์เรลเหลือไม่เกิน 50-60 เหรียญ/บาร์เรล น่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ายุคฟอสซิลใกล้จะตกดินแล้วกระมัง

นายโทนี เซบา ที่ดร.ศิริเคยเชิญมาพูดที่สถาบันปิโตรเลียม เจ้าของผลงานเขียนชื่อ Clean disruption of energy and transportation กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี่ที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมา โทนี เซบากล่าวว่าฟอสซิลจะกลายเป็นของล้าสมัยในปี2030 (2573) วันนี้เราอาจไม่เชื่อว่าถ่านหินและฟอสซิลจะกลายเป็นของตกยุคในอีก12ปีข้างหน้า เหมือนคนอเมริกาในปี1900 ที่ยังเดินทางด้วยรถม้าในสมัยนั้น ถ้ามีใครพูดว่า ต่อไปจะไม่มีการใช้รถม้าสำหรับเดินทางอีกแล้ว คนคงไม่เชื่อ หรือหาว่าสติเฟื่องแต่อีก13ปีต่อมา ก็เกิดรถยนต์ขึ้นมา จนปัจจุบันคนอเมริกันและทั่วโลกก็เลิกใช้รถม้าไปนานแล้ว

พลังงานหมุนเวียนเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันราคาพลังงานหมุนเวียนถูกลงอย่างรวดเร็ว ไฟฟ้าจากแดด มีการซื้อขายกันภายในกลุ่มเอกชนในประเทศไทยหน่วยละ3บาท แม้แต่การติดตั้งแผงโซล่าบนหลังคาก็ถูกลงเรื่อยๆไม่ต่ำกว่า10%ทุกปี มีคนทำธุรกิจไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เคยพูดกับดิฉันว่า เมื่อราคาการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เหลือเมกกะวัตต์ละ 30ล้านบาทเมื่อไหร่ จะไม่มีอะไรมาแข่งขันราคากับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อีกต่อไป เพราะแสงอาทิตย์เป็นเชื้อพลิงธรรมชาติหรือพลังงานที่ได้มาฟรีไม่มีวันหมด

ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เมื่อประมาณปี2559-2560 ในราคาเมกกะวัตต์ละ50ล้านบาท มหาวิทยาลัยไม่ลงทุนเองแต่ให้เอกชนมาลงทุน และมหาวิทยาลัยซื้อไฟจากเอกชน จากที่ใช้ไฟปีละ300ล้านบาท หลังจากซื้อไฟจากเอกชนที่มาลงทุนติดตั้งแผงโซล่าในมหาวิทยาลัย ก็สามารถลดค่าไฟได้ปีละ10% ดังนั้นราคาเมกกะวัตต์ละ30ล้านจึงไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

หากรัฐบาลและกฟผ.ไม่เตรียมรับมืออย่างชาญฉลาด (โดยไม่ใช้อำนาจปิดกั้นอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้) กิจการของ กฟผ.อาจจะล่มสลายไปไม่ต่างจากเทคโนโลยีการผลิตเก่าๆอย่างอื่นเช่นการพิมพ์แบบเดิม หรือฟิล์มถ่ายรูป เป็นต้น ในอดีตไม่มีใครเคยคาดคิดว่าปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือราคาเครื่องละตั้งแต่2-3พันบาทขึ้นไป จะกลายเป็นทั้งโทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป ทีวี คอมพิวเตอร์ และเป็นเครื่องส่งได้พร้อมๆกัน

หากหน่วยงานรัฐยังแข็งขืน สะกัดกั้นความเปลี่ยนแปลง โดยไม่เตรียมตัวรับมือด้วยความรู้ที่ทันสมัยและใจที่เปิดกว้างในที่สุดท่านก็จะถูกอนาคตไล่ล่า และบดขยี้เหมือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

รสนา โตสิตระกูล
21 ก.พ 2561

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1592360770840480&id=236945323048705