“คปพ.มีปณิธานเดินหน้าขวางการกินรวบที่ทำลายความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“คปพ.มีปณิธานเดินหน้าขวางการกินรวบที่ทำลายความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ”
มีสื่อบางสำนักทำตัวรับใช้กลุ่มทุนพลังงานออกมาเล่นงานคปพ.ที่กำลังขวางคอหอยคนคิดกินรวบพลังงานไทย ว่า “คปพ.เดินหน้าขัดขวางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน” ซึ่งความเป็นจริงแล้วการกินรวบพลังงานของกลุ่มทุนพลังงานที่อาศัยอำนาจของข้าราชการและผู้ใช้อำนาจรัฐต่างหากคือการทำลายความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงของประเทศ ใช่หรือไม่
คนพวกนี้อาศัยสื่อเผยแพร่โพยให้ประชาชนหวาดกลัวว่าหากไม่รีบเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ บงกชตามTOR ที่ล็อคเสปกผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานโดยเร็ว เสียดีๆ ไฟจะดับกันครึ่งประเทศในอีก5ปีข้างหน้า!!! ใช่หรือไม่
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแหล่งก๊าซทั้ง2แหล่งกลุ่มทุนพลังงานต้องการยึดไว้เป็นวัตถุดิบราคาถูกๆสำหรับธุรกิจปิโตรเคมีของตน และได้เตรียมเชื้อเพลิงก๊าซ LNG ราคาแพงมาขายให้โรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ข้ออ้างเรื่องไฟจะดับในอีก5ปีข้างหน้า จึงเป็นเพียงคำลวงโลก เพื่อหวังยึดครองทรัพยากรของประเทศจาก2แหล่งนี้ซึ่งมีมูลค่าถึงปีละ2แสนล้านบาทโดยไม่มีใครกล้าขัดขวาง
การพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ในอ่าวไทยที่พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ เคยกล่าวว่าเราจะโชติช่วงชัชวาลกันแล้ว แต่ความโชติช่วงชัชวาลดังกล่าวถูกฉกฉวยไปเป็นของกลุ่มทุนพลังงานโดยการร่วมมือของข้าราชการและผู้ใช้อำนาจรัฐที่ต่างได้ส่วนแบ่งกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ใช่หรือไม่
การออกแบบTOR ในลักษณะสัมปทานจำแลงเพื่อประมูลแหล่งเอราวัณ บงกชจึงเป็นการวางแผนกินรวบแหล่งพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องไม่ยอมคายคืนประเทศ ทั้งที่ตามพ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 บัญญัติว่าแปลงสัมปทานใดที่ต่ออายุครบ2ครั้งแล้ว ไม่ให้ต่ออายุสัมปทานอีก ซึ่ง เอราวัณ บงกชเข้าข้อกำหนดนี้หลังหมดอายุสัมปทานในปี2565, 2566 จึงต้องมีการเปลี่ยนระบบอื่นมาใช้แทนสัมปทาน ซึ่งทั่วโลกและประเทศในอาเซียนใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต
แต่การออกแบบTOR ครั้งนี้รัฐมนตรีดร.ศิริสมควรรู้อยู่แล้วว่าเป็น TOR สัมปทานจำแลง ไม่ใช่TOR สำหรับการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต
ดิฉันรู้จักดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์สมัยที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านพลังงานด้วยกัน ในกมธ.พลังงาน ของสปช.ก็เคยมีประเด็นการพิจารณาเรื่องแหล่งเอราวัณ บงกชที่จะหมดอายุสัมปทาน ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบอื่นเช่นระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต ดร.ศิริทราบดีว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ต้องมีการแบ่งปันผลผลิตเป็นปิโตรเลียม ไม่ใช่จ่ายเป็นเงินแบบระบบสัมปทาน จึงต้องมีหน่วยงานที่เป็นของรัฐ100% ที่เรียกว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาเป็นผู้รับส่วนแบ่งปิโตรเลียม และบริหารการขายปิโตรเลียมที่รัฐได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งเป็นผู้รับมอบทรัพย์สินทั้งหมดของเอกชนที่เมื่อสิ้นสุดสัมปทานแล้ว ต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐเพื่อนำมาบริหารกิจการปิโตรเลียมต่อไป
ดร.ศิริ เคยเสนอในกมธ.พลังงานว่าควรเสนอให้รัฐบาลซื้อหุ้นปตท.สผ.คืนจากเอกชนทั้งหมดเพื่อให้ปตท.สผ.กลับมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่เป็นของรัฐ100% แต่ก็ถูกเบรกจากกรรมาธิการท่านอื่น
ในเมื่อท่านมีความรู้ในเชิงวิชาการอย่างดีแล้วว่าระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตต้องมีองค์ประกอบอะไรเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง แต่เหตุใดจึงออกแบบ TOR ที่เป็น”สัมปทานจำแลง” ที่เอื้อประโยชน์เอกชนและทำลายประโยชน์ของประเทศออกมาได้เช่นนี้ !?!
TOR ที่เป็นสัมปทานจำแลงเพื่อล็อคเสปกให้กลุ่มเก่าได้เปรียบในการประมูล มีข้อสังเกตดังนี้
1)TOR ที่นำเสนอไม่มีการประมูลส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมสูงสุดที่เอกชนจะเสนอให้กับรัฐ จึงไม่ใช่ TOR ในระบบแบ่งปันผลผลิต
2)การไม่จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตขาดโครงสร้างและกลไกในการปฏิบัติได้จริง ทั้งการเป็นหน่วยงานรับมอบอุปกรณ์และทรัพย์สินจากบริษัทเอกชนที่หมดสัมปทานในแหล่งเอราวัณและบงกช รวมทั้งเป็นผู้รับส่วนแบ่งปิโตรเลียม และบริหารส่วนแบ่งปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
การไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จึงเท่ากับปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ผูกขาดในการซื้อขายก๊าซ ทำให้เอกชนร่ำรวย แต่ประเทศเสียประโยชน์
3)การที่หน่วยงานรัฐกำหนด TORให้เอกชนรายใดรายหนึ่งผูกขาดการรับซื้อก๊าซทั้งหมด ซึ่งการผูกขาดเป็นสิทธิมหาชนของรัฐ การยกสิทธินั้นให้เอกชนย่อมเป็นสิ่งขัดต่อหลักการการแข่งขันเสรี เมื่อผนวกกับการครอบครองท่อส่งก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมทำให้เกิดการผูกขาด ”กิจการก๊าซ” ทั้งระบบ เวียนวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการแปรรูปที่ต้องการรวบเอาสาธารณสมบัติ อำนาจและสิทธิมหาชนของรัฐไปเป็นของเอกชน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งให้แยกทั้งสาธารณสมบัติ อำนาจและสิทธิมหาชนคืนให้รัฐ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจนครบถ้วนตามคำพิพากษา ใช่หรือไม่
การปล่อยให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งผูกขาดทั้งก๊าซและโครงข่ายการขนส่งก๊าซเจ้าเดียว ทำให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซในราคาแพง และราคาไฟฟ้าก็จะแพงเพราะการผูกขาดการซื้อขายเชื้อเพลิง
4)มีการล็อคเสปกเพื่อให้เอกชนรายเดิมได้เปรียบกว่าผู้ประมูลรายอื่นทำให้ประเทศเสียประโยชน์ โดยวิธีการต่างๆเช่น
4.1) การกำหนดให้ผู้ที่ประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชไ้ด้ ต้องผลิตปิโตรเลียมในอัตรา70% ของที่ผลิตได้ในปัจจุบันตั้งแต่ปีแรก โดยหากเป็นรายใหม่ที่ประมูลได้จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อนรายเดิมหมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติไม่ได้นั่นเอง จึงเป็นการล็อคเสปกเพื่อให้รายเก่าได้เปรียบในการประมูล ใช่หรือไม่
4.2)การรวมแปลงเล็กหลายๆแปลงเข้าเป็นสัญญาเดียวกัน แทนที่จะแยกเป็นรายสัญญา ทำให้อำนาจต่อรองของเอกชนมีเหนือกว่ารัฐ ทั้งที่ในระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐต้องมีอำนาจต่อรองมากกว่า มีอำนาจในการกำกับดูแลมากกว่าระบบสัมปทานที่เอกชนเป็นเจ้าของพื้นที่ และเจ้าของกรรมสิทธิปิโตรเลียม
4.3)การที่โครงข่ายท่อส่งก๊าซในทะเลยังอยู่ในการครอบครองของเอกชนรายใดรายหนึ่งที่จะเข้ามาเป็นผู้ประมูลด้วย ย่อมทำให้เกิดการได้เปรียบมากกว่าเอกชนรายอื่น ใช่หรือไม่
การออกแบบTOR ที่เป็นสัมปทานจำแลงครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะจะเป็นต้นแบบในการออกTOR ในอนาคตสำหรับแปลงอื่นๆที่จะ
ทะยอยหมดอายุสัมปทาน
การออกTOR ที่เป็นสัมปทานจำแลงเช่นนี้ จะเป็นการกำหนดเส้นทางผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมที่จะกลับมาเป็นของประเทศหลังหมดสัมปทานแล้วให้กลับไปตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนต่อไปอีก ใช่หรือไม่
รสนา โตสิตระกูล
27 ก.พ 2561
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1599316470144910&id=236945323048705