“คสช.และกสทช.ต้องระวังดาบนั้นคืนสนอง!!”

“คสช.และกสทช.ต้องระวังดาบนั้นคืนสนอง!!”

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“คสช.และกสทช.ต้องระวังดาบนั้นคืนสนอง!!”

 

 

คสช.ได้รับฟังการทักท้วงจากหลายฝ่ายเรื่องไม่ควรใช้มาตรา44ในการขยายเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาต4G งวดสุดท้ายให้กับบริษัททรูและเอไอเอส ทำให้การประชุมเมื่ออังคารที่ 27 มีนาคม 2561 มีการเลื่อนการลงมติใช้มาตรา44 อุ้ม 2 บริษัทเอกชนออกไปก่อน

จึงต้องจับตาการประชุมในวันอังคารที่ 3เมษายนนี้ ว่าคสช.จะหักดิบใช้มาตรา44อุ้ม2บริษัทหรือไม่ ตามที่เลขาธิการกสทช.ได้ทำข้อมูลเสนอให้คสช.ใช้มาตรา44 ช่วย2บริษัท โดยกล่าวอ้างเหตุผลข้อดีต่างๆนาๆตามที่ปรากฎในสื่อว่า

การใช้ม.44 ขยายเวลาผ่อนจ่ายใบอนุญาตจะช่วยให้2บริษัทสามารถร่วมประมูลคลื่น1800เมกกะเฮิร์ต และถ้ามีการใช้มาตรา44 และประมูลใบอนุญาต 3ใบจะทำให้รัฐมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท แต่ถ้าประมูลโดยไม่ใช้มาตรา44ให้ขยายเวลาผ่อนจ่ายใบอนุญาต รัฐจะได้เงินเพียง120,477.72 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างถึง 170,836.48 ล้านบาท และเลขาธิการกสทช.ยังอ้างว่ารัฐจะได้ดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ระยะเวลา5ปีในการผ่อนจ่ายใบอนุญาตอีก 3,593.76 ล้านบาท

การที่เลขาธิการกสทช.พยายามจะโน้มน้าวให้คสช.ใช้มาตรา44 เพื่ออุ้มบริษัท เอกชนทั้ง2แห่ง ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ การชงเรื่องที่กฎหมายหลักไม่เปิดให้ทำ แต่ไปใช้อำนาจพิเศษหักกฎหมายหลัก และยังไม่ใช่กรณีที่ทำเป็นการทั่วไป แต่เป็นทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะ 2 บริษัท จึงน่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและกฎหมายตามข้อพิจารณาดังนี้

1)ข้อเสนอดังกล่าวของ
กสทช.เป็นการกระทำที่ไม่เป็นกลางในการจัดให้มีการประมูลแข่งขัน ใช่หรือไม่เพราะเป็นการช่วยเหลือให้ 2บริษัทซึ่งไม่มีคุณสมบัติเพียงพอเนื่องจากมีวงเงินกู้เต็มเพดาน ให้มีคุณสมบัติเพียงพอ เป็นการเอาเปรียบบริษัทอื่นที่จะเข้าร่วมประมูลในอนาคต การเสนอของกสทช.เช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติมิชอบ ใช่หรือไม่

2)ข้ออ้างที่ว่าถ้าไม่มี 2 บริษัทดังกล่าวเข้าร่วมประมูลจะทำให้มีเพียงบริษัทดีแทคเท่านั้นที่เข้าร่วมประมูลเป็นการนำเรื่องอนาคตที่ยังไม่แน่นอนมาเป็นข้ออ้าง เมื่อถึงเวลาประมูลอาจมีบริษัทอื่นเข้าแข่งขันก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก 2 บริษัทไม่ชนะการประมูลหรือกสทช.ไม่ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก1.7แสนล้านบาทตามที่กสทช.ใช้เป็นข้ออ้างเป็นเหตุผลจูงใจคสช.ให้ออกคำสั่งมาตรา 44 ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้2บริษัทจนถึงปี2567 นั้น กสทช.ผู้เสนอจะรับผิดชอบอย่างไร?

3)ข้ออ้างว่ารัฐจะได้ดอกเบี้ยประมาณ 3,500 ล้านบาท จากดอกเบี้ย 1.5% แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย1.5 % นั้น อดีตรัฐมนตรีคลัง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาลกล่าวว่า”อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดนั้น เป็นอัตราต่ำที่สุดในประเทศ และเป็นเพียงระยะเวลากู้ยืม 1 วัน จึงไม่มีเอกชนรายใดสามารถกู้ได้ในอัตรานี้ ยกเว้นสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น และไม่มีเอกชนผู้ประกอบการมือถือรายใดที่สามารถกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” การที่กสทช.เสนอดอกเบี้ยนโยบายให้ 2 บริษัทจะทำให้2บริษัทได้รับประโยชน์มากกว่ารัฐ เพราะสามารถประหยัดการจ่ายดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่สถาบันการเงินที่ตนกู้รวมแล้วประมาณ 30,000 ล้านบาท กสทช.จึงมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่2บริษัท และมีคำถามต่อมาว่ามีเงินทอนจากการวิ่งเต้นในครั้งนี้หรือไม่?

4)หากคสช.บ้าจี้ทำตามข้อเสนอของเลขาธิการกสทช.ที่จะยืดเวลาชำระหนี้ให้เอกชนโดยคิดดอกเบี้ย1.5% ในวงเงินประมาณ130,000ล้านบาทนั้น ก็มีคำถามว่าในกรณีของรัฐวิสาหกิจ 100%อย่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเหตุใดรัฐบาลคสช.จึงไม่ยอมค้ำประกันเงินกู้ของการทางพิเศษฯที่ต้องการได้เงินกู้เพียงปีละ3,000ล้านบาทเพื่อไปลงทุนขยายเส้นทางด่วน หากคสช.ค้ำประกันเงินกู้ให้การทางพิเศษฯ จะได้ดอกเบี้ย3-4% ซึ่งยังสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่กสทช.เสนอให้กับทรูและเอไอเอส แต่ขณะนี้รัฐบาลคสช.กำลังบังคับให้การทางพิเศษฯต้องไปกู้กองทุนเอกชน Thailand Future Fund ด้วยยอดเงินรวดเดียว 40,000 ล้านบาท ทั้งที่การทางพิเศษฯต้องการเงินลงทุนเพียงปีละ 3,000-4,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องรับเงินกู้รวดเดียว 40,000 ล้านบาท และต้องเสีย
ดอกเบี้ยอย่างต่ำ 7-8% เป็นเวลา 30ปี หากคสช.ใช้มาตรา44 อุ้ม2 บริษัทนี้ ย่อมมีคำถามว่าเหตุใดคสช.จึงเลือกเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเอกชนมากกว่าดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศ

5)ขอบเขตอำนาจตามมาตรา44 ถูกกำหนดให้คสช.ใช้ได้ใน3กรณี มิใช่ใช้โดยไร้ขอบเขตคือ 1.เรื่องการปฏิรูป 2.เรื่องส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติ 3.การรักษาความมั่นคง การรักษาความสงบในเรื่องที่เกี่ยวกับชาติและราชบัลลังก์ และการบริหารราชการแผ่นดิน

หากคสช.ออกคำสั่งมาตรา44 เพื่ออุ้ม2บริษัทในการผ่อนจ่ายค่าใบอนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตอำนาจของมาตรา44 นอกจากทำให้รัฐเสียหาย และเสียประโยชน์แล้ว ยังเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช่หรือไม่

6)คสช.ปัจจุบันก็มีบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในคสช.ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับ เมื่อ 6เมษายน2560 โดยมีการแต่งตั้งสมาชิก คสช.ใหม่อีก 3คน ตามคำสั่งคสช.ที่2/2560 ลว.21กันยายน2560 จึงน่าจะเป็นคสช.ที่ไม่มีอำนาจตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา265

ปัจจุบันยังมีคำถามว่าคำสั่งคสช.ที่ออกมาหลังวันที่21 กันยายน 2560 เป็นคำสั่งที่ออกโดยผู้ไม่มีอำนาจออกคำสั่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา265 จึงอาจไม่มีผลใช้บังคับ ใช่หรือไม่

แม้ว่าปัจจุบันคสช.ยังใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารบ้านเมือง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ใช้อำนาจบริหารที่ทำให้รัฐเสียหายและเสียประโยชน์ เพราะหากคสช.ทำโดยไม่ฟังเสียงทักท้วง ก็ต้องรอคสช.หมดอำนาจเมื่อใด สิ่งที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมจะเป็นวิบากกรรมตามติด คสช.ไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เคยหลงระเริงในยามมีอำนาจว่าจะทำอะไรก็ได้แม้ผิดกฎหมาย และในที่สุดต้องประสบกับวิบากกรรมเมื่อหมดอำนาจดังที่เป็นอยู่

รสนา โตสิตระกูล
2 เมษายน 2561

https://www.isranews.org/isranews-article/64788-tt-64788.html

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1637721342971089&id=236945323048705