“คสช.ยุติใช้ ม.44 อุ้ม 2 บริษัทมือถืออย่างขัดหลักนิติธรรมและทำลายประโยชน์บ้านเมือง”

“คสช.ยุติใช้ ม.44 อุ้ม 2 บริษัทมือถืออย่างขัดหลักนิติธรรมและทำลายประโยชน์บ้านเมือง”

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“คสช.ยุติใช้ ม.44 อุ้ม 2 บริษัทมือถืออย่างขัดหลักนิติธรรมและทำลายประโยชน์บ้านเมือง”

 


วันนี้พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารของสำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ลธ.คสช.) กรณีเสนอขอ คสช.อุ้ม 2 บริษัทโทรคมนาคมยืดระยะเวลาจ่ายค่างวดพ่วงการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลว่า “เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งมีการเสนอมาและอยู่ในกระบวนการทบทวน ขณะนี้ยังไม่ถึงกระบวนการในการใช้มาตรา 44 เพราะยังมีแง่มุมของกฎหมายมากมาย เราจึงต้องให้ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียดว่าจะมีผลกระทบ คสช.ภายหลังหรือไม่อย่างไร “


ดิฉันไม่เคยรู้จักท่านผบ.ทบ.แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของท่าน ก็รู้สึกชื่นชมว่าท่านยึดหลักนิติธรรมและประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นใหญ่ จึงใคร่ขอให้ท่านโปรดพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้


1)รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา265 บัญญัติว่า คสช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ(6เมษายน 2560) เป็นคสช.ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 จึงต้องหมายถึงสมาชิกทุกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 แต่โดยที่มีการแต่งตั้งสมาชิกใหม่ 3 คนเป็นคสช.เมื่อวันที่21 กันยายน 2560 จึงทำให้คสช.ในปัจจุบันมิได้ประกอบด้วยสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในคสช.ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 ทั้งหมด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560


ดังนั้น คสช.ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 จึงเป็นคสช.ที่ไม่มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา265 ที่บัญญัติให้อำนาจไว้ ดังนั้นคำสั่งและประกาศที่ออกหลังวันที่ 21 กันยายน 2560 จึงไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ใช่หรือไม่


2)อำนาจมาตรา44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 มิได้ให้ใช้อย่างไร้ขอบเขตแต่กำหนดให้ใช้ได้ในขอบเขตเพียง 3เรื่องคือ 1)การปฏิรูป 2)การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และ3)ปราบปรามการ
กระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดินเท่านั้น


การใช้มาตรา44 เพื่อเอื้อประโยชน์2บริษัทจึงไม่อยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจมาตรา44 ของคสช. หากคสช.ประกาศคำสั่งในกรณีนี้ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช่หรือไม่


3)ข้อเสนอของเลขาธิการกสทช.ที่ให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้2บริษัท เป็นการเสนอโดยไม่มีมติบอร์ดกสทช.รองรับ จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้คำสั่งคสช.ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่มีผลใ้ช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่


4)คำสั่งคสช.ในกรณีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่ทำให้รัฐเสียหายเพราะการเก็บค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายเป็นเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท เงินดังกล่าวจะเป็นรายได้แผ่นดิน ที่สามารถลดภาระรัฐในการกู้เงินมาใช้ในงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินที่เป็นงบขาดดุลทุกปี หากคสช.ให้เอกชนผ่อนจ่ายด้วยดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ซึ่งไม่เคยมีเอกชนรายใดสามารถกู้ได้ในอัตราดังกล่าว แต่รัฐต้องกู้ในอัตราสูงกว่า1.5% ย่อมมีข้อสงสัยและข้อครหาได้ว่าคสช.เอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยมีเงินทอนเป็นการตอบแทนหรือไม่


คสช.จึงควรยุติการใช้มาตรา44 ไปอุ้มเอกชนทั้ง2บริษัท มิเช่นนั้นแล้ววิบากกรรมจะติดตามคสช.ต่อไปเมื่อสิ้นอำนาจเหมือนที่นักการเมืองในอดีตกำลังประสบอยู่

รสนา โตสิตระกูล
3 เมษายน 2561

http://www.thaipost.net/main/detail/6355

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1638777572865466&id=236945323048705