“ป่าแหว่ง สันดานโหว่”??!!
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“ป่าแหว่ง สันดานโหว่”??!!
เช้านี้ (29 เมษายน 2561) ได้ชมการถ่ายทอดสดสุนทรียชุมนุมในวันประกาศเจตนารมณ์ประชาชนทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ของ”เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 40องค์กร” ได้เห็นการใช้สันติวิธีทางวัฒนธรรมของพี่น้องชาวล้านนาสะท้อนความจริง ความยุติธรรมอย่างงดงาม น่าชื่นชม ภายใต้ป้ายชูข้อความให้คิดสะกิดใจว่า
”ป่าแหว่ง สันดานโหว่”?!
กรณีป่าแหว่ง เทียบเคียงได้กับกรณีสวนแตงอันเป็นต้นกำเนิดของหลักคิดความยุติธรรมของไทยซึ่งปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ฉบับรัชกาลที่1แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สรุปความว่า
“ครั้นอยู่มาบุรุษสองคนซึ่งทำไร่แตงอยู่ใกล้กัน โดยมีถนนคั่นกลาง เถาแตงเลื้อยพาดผ่านถนนเข้าไปยังพื้นที่อีกฝั่ง ต่อมาเมื่อแตงออกผล บุรุษทั้งสองต่างเก็บแตง และเกิดวิวาทกัน เพราะเถาแตงของอีกฝ่ายเลื้อยพาดถนนไปออกผลในที่ของอีกคนหนึ่ง บุรุษทั้งสองพากันไปหามโนสารอำมาตย์ให้ตัดสินคดี มโนสารอำมาตย์ตัดสินว่า เพราะมีถนนคั่นกลาง ดังนั้นผลแตงไปเกิดอยู่ในไร่ของผู้ใด ก็ให้เป็นของผู้นั้น แต่เจ้าของเถาแตงที่ผลแตงไปเกิดในที่ของอีกคนหนึ่งไม่พอใจคำตัดสินของมโนสารอำมาตย์ จึงไปกราบทูลแก่สมเด็จพระเจ้ามหาสมมุติราช ท่านจึงใช้อำมาตย์อีกคนไปพิจารณาต้นแตงที่เลื้อยข้ามถนนนั้น และนำเอายอดแตงที่มีผลกลับมาหาต้นของมัน บุรุษทั้งสองก็พอใจและสรรเสริญสมเด็จพระเจ้ามหาสมมุติราชว่าพระองค์ทรงตัดสินเป็นธรรม
ผู้คนพากันติฉินนินทามโนสารอำมาตย์ว่ามีอคติทั้ง4 ทำให้บังคับคดีไม่เป็นธรรม เทวดาก็ไม่สักการะบูชาดังแต่ก่อน เพราะมโนสารอำมาตย์ประกอบด้วยอกุศลจิต มโนสารอำมาตย์จึงได้คิดว่าตนเองนั้นมีสันดานประกอบด้วยโมหคติเกิดความสลดจิตอัปยศอดสูแก่หมู่มนุษย์ทั้งหลายเลยหนีไปบวชเป็นฤาษี...”
กรณี”ป่าแหว่ง สันดานโหว่”อาจเปรียบเทียบได้กับกรณี”สวนแตง สันดานโหว่”ในกฎหมายตราสามดวง กล่าวคือ มโนสารอำมาตย์มีนิติทัศน์แบบคนสันดานโหว่ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องยุติธรรม
ดังนั้นคดีจึงไม่ยุติ ประชาชนจึงประท้วงไม่หยุด ร้อนถึงสมเด็จพระเจ้ามหาสมมุติราชต้องทรงลงมาตัดสินด้วยพระองค์เอง แทนที่จะทรงเห็นว่าประชาชนก่อความวุ่นวายไม่เชื่อฟังกฎหมายของบ้านเมือง
ตรงกันข้าม พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับความคิดแบบอำมาตย์ แต่ทรงรับฟังประชาชน และทรงตัดสินตามหลักยุติธรรมอย่างปราศจากอคติ
ในที่นี้มีข้อสังเกตว่า “กรณีสวนแตง”ในกฎหมายตราสามดวงนั้น
มโนสารอำมาตย์ ยังมิได้ตัดสินเพื่อเอาแตงมาเป็นของตนเอง หรือมิได้รับสินบนผลประโยชน์จากใคร แต่ท่านก็ยังรู้สำนึกผิดยอมรับว่าตน ”มีสันดานกอปร์ด้วยโมหาคติ”
พูดตามสำนวนสมัยนี้ก็คือท่านอำมาตย์ยอมรับว่าท่านมี“สันดานโหว่”!!
จึงมีคำถามว่า “กรณีป่าแหว่ง”นั้น ใครเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ?!ใครเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ?!ใครเป็นผู้ตัดสิน?!และใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ?!แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นๆคือประชาชนยุคนี้แสดงออกอย่างชัดเจนไม่ต่างจากคนในยุคก่อนว่า
“มนุษย์ทั้งหลายติฉินนินทามโนสารอำมาตย์ว่าถึงแก่อคติ 4 ประการ บังคับคดีมิเป็นธรรม”
ดังนั้นในกฎหมายตราสามดวง ท่านจึงมีเทวอรรถาธิบายตาม”หลักอินทภาษ”(หลักการของพระอินทร์ที่ใช้ตัดสินผู้พิพากษา)ว่า
“บุคคลใดจะเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีแห่งมนุษย์นิกรทั้งหลาย พึงกระทำสันดานให้นิราศปราศจากอคติธรรมทั้งสี่ คือ ฉันทาคติ โทษาคติ ภยาคติ โมหาคติ ทั้งสี่ประการนี้เป็นทุจริตธรรมอันมิสะอาด มิได้เป็นของแห่งสับปุรุษ(คนดี)”
อุทาหรณ์จากหลักกฎหมายตราสามดวงคือ
บางครั้ง ความวุ่นวายของบ้านเมืองมิได้เกิดจากประชาชนไม่เคารพกฎหมาย แต่อาจเกิดจากการบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ความวุ่นวายที่เกิดจากการที่ประชาชนไม่เคารพกฎหมาย ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการที่ชนชั้นปกครองบัญญัติกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม
ใช่หรือไม่???
รสนา โตสิตระกูล
29 เมษายน 2561
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1667176606692229&id=236945323048705