“การให้สิทธิสัมปทานบงกช เอราวัณ 36 ปี หวังเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่”

“การให้สิทธิสัมปทานบงกช เอราวัณ 36 ปี หวังเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่”

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“การให้สิทธิสัมปทานบงกช เอราวัณ 36 ปี หวังเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่”

 


เมื่อวันที่10 พ.ค 2559 ประธาน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
( คตง.)แถลงเรื่องการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติที่ยังไม่ครบถ้วนของปตท.ได้แก่ ท่อส่งก๊าซในทะเล ที่ยังไม่ได้ส่งคืน รัฐบาลมีหน้าที่ต้องใช้อำนาจบังคับบัญชาตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินสั่งให้รัฐวิสาหกิจในกำกับคืนสาธารณสมบัติให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แต่รัฐบาลก็ยื้อเวลาจนล่วงเลยผ่านมาครบ2ปีแล้วในวันนี้ ( 10พ.ค 2561 )

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลคสช.ก็กำลังจะเปิดประมูลแหล่งก๊าซใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยคือบงกช เอราวัณ ที่มีข้อสังเกตว่ามีการล็อคสเปคเพื่อให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้เปรียบคู่แข่งรายใหม่ เช่นการไม่เรียกคืนท่อก๊าซในทะเลกลับคืนมาเป็นของรัฐ เพื่อให้เอกชนทุกฝ่ายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซได้ในต้นทุนที่เท่ากัน

การปล่อยให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซในทะเลครอบครองต่อไป โดยผู้ครอบครองท่อส่งก๊าซจะเข้าร่วมประมูลแหล่งก๊าซดังกล่าวด้วย ย่อมทำให้เป็นผู้ได้เปรียบคู่แข่งรายใหม่

รัฐบาลทำทุกวิถีทางให้เจ้าเก่าได้เปรียบการแข่งขันกับรายใหม่ในการได้สิทธิในก๊าซ2แหล่งนี้ต่อไปอย่างชัดเจน โดยอ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเอาผู้ใช้ไฟเป็นตัวประกันว่าถ้าไม่รีบเร่งให้สิทธิในแหล่งก๊าซ2แหล่งใหญ่นี้ จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ทั้งที่แต่ไหนแต่ไรมาก๊าซในอ่าวไทยมีบางส่วนเท่านั้นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเพราะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG ) มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว แท้ที่จริงแล้วกลุ่มทุนพลังงานต้องการได้ก๊าซในอ่าวไทยส่วนใหญ่ไปใช้เป็นวัตถุดิบต้นทุนต่ำสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของตน แต่เอามาอ้างว่าจะเอาไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ถ้าไม่รีบยกให้กลุ่มเก่ารับสัมปทานต่อไป จะเกิดความไม่มั่นคง เช่นอ้างว่ากลุ่มใหม่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่เหมือนกลุ่มเก่า หากผลิตไม่ได้เท่ากับกลุ่มเดิม จะทำให้ปริมาณก๊าซลดลง ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟจะแพงขึ้น ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

รัฐบาลคสช.คาดหวังจะยกสิทธิผูกขาดในแหล่งก๊าซ2แหล่งนี้ให้ผู้รับสัมปทานเจ้าเก่าต่อไปในนาม”ระบบแบ่งปันผลประโยชน์” ซึ่งคือระบบสัมปทานจำแลงแต่แปะป้ายว่าเป็น “ระบบแบ่งปันผลผลิต”

การยกสิทธิให้เจ้าเก่าแบบสัมปทานจำแลงถึง36ปี คือการ”กินรวบ”ผลประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมแบบไม่ให้มีคู่แข่ง และไม่ให้มีการต่อสู้เรียกคืนผลประโยชน์ให้ประเทศกันเลย ใช่หรือไม่

สังคมย่อมสงสัยว่า ขนาดวัดวาอาราม,กระทรวงพ.ม กระทรวงศึกษาฯที่สงเคราะห์คนจน เด็กยากไร้ ยังมีเรื่องเงินทอนกันอู้ฟู่ ถ้าว่ากันตามภาษิตไทย หากหัวไม่ส่ายแล้ว หางจะกระดิกได้ขนาดนี้ล่ะหรือใช่หรือไม่? แสดงว่าโรคคอร์รัปชันเงินทอนมิได้ระบาดอยู่แค่หางแถวเท่านั้น แต่น่าจะเป็นโรคติดต่อมาจากหัวแถวแล้ว หากแต่ถูกคัทเอาท์ตัดตอนไม่ให้สาวถึงหัวแถวเท่านั้นเอง

การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลคสช.รวบรัดจะให้เอกชนมาผูกขาดแหล่งก๊าซ2แหล่งนี้ไปรวดเดียว 36ปี คนย่อมต้องสงสัยว่า แล้วงานนี้จะไม่มีเงินทอนเลยเชียวหรือ!!??!!

มูลค่าปิโตรเลียมของ2แหล่งนี้ ปีละประมาณ2แสนล้านบาท การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จยกสัมปทานให้ 36 ปี มูลค่าทรัพยากรปิโตรเลียมที่ยกให้ ก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 6ล้านล้านบาท สมมุติว่าถ้าได้เงินทอนสัก 3-5% แล้วละก็ ทุจริตเงินทอนวัดหรือเงินทอนในกระทรวงอื่นๆ ก็เป็นแค่ขี้เล็บเท่านั้นเอง ใช่หรือไม่?

ตามธรรมเนียมการปฏิบัติในอดีต การให้สิทธิสัมปทานแก่เอกชนในการผลิตปิโตรเลียมที่เป็นแหล่งใหม่ก็เพียง 39ปี และจะแบ่งเป็นการทำสัญญาถึง3ช่วง เพื่อให้มีการประเมินการดำเนินการของบริษัทเอกชน

ล้นเกล้ารัชกาลที่7 ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลดังที่ทรงมีพระราชดำริไว้ตั้งแต่ปี2472ว่า เมื่อสัมปทานเหมืองถ่านหินสิ้นสุดอายุสัมปทานแล้ว ไม่ให้ต่อสัมปทานอีก เพื่อให้ราชการนำกลับมาทำเอง เช่นเดียวกันกับกรณีแหล่งก๊าซ 2 แหล่งนี้ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า เมื่อต่ออายุสัมปทานครบ2ครั้งแล้ว ไม่ให้สัมปทานอีก แต่รัฐบาลคสช.แทนที่จะใช้ระบบจ้างผลิต ตามที่มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มระบบจ้างผลิตไว้แล้ว ซึ่งระบบนี้หากนำมาใช้กับก๊าซ2แหล่งนี้ ที่มีอุปกรณ์พร้อมที่รัฐจะได้รับเมื่อหมดสัมปทาน การจ้างผลิต จะทำให้ผลประโยชน์จากปิโตรเลียมส่วนใหญ่ตกเป็นของประเทศ แต่รัฐบาลคสช.กลับตั้งเงื่อนไขเพื่อไม่ให้ใช้ระบบจ้างผลิต และยังเลี่ยงบาลีว่าระบบแบ่งปันผลผลิตไม่ต่างจาก ”ระบบแบ่งปันผลประโยชน์”คือการกำไร ไม่ใช่แบ่งปันผลผลิต ซึ่งก็คือระบบสัมปทานจำแลงนั่นเอง และครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอำนาจพิเศษ จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอนุมัติสัญญาสัมปทานนานถึง36 ปีในคราวเดียว

พฤติการณ์เช่นนี้ของรัฐบาลย่อมเป็นเหตุทำให้เกิดความสงสัยว่าจะมีการแสวงหาเงินทอนไว้สู้ศึกเลือกตั้งหรือไม่ พี่น้องประชาชนควรช่วยกันพิจารณาและสอดส่องดูแลเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมืองของเรา

รสนา โตสิตระกูล
10 พ.ค 2561

https://www.facebook.com/rosana.tsk/posts/1173088699402300

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1679582408784982&id=236945323048705