“เมื่อกองทุนน้ำมันไม่ได้ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มตามข้ออ้าง ก็ต้องเรียกร้องให้ยุติเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายนี้เสียที !!!”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“เมื่อกองทุนน้ำมันไม่ได้ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มตามข้ออ้าง ก็ต้องเรียกร้องให้ยุติเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายนี้เสียที !!!”
กระทรวงพลังงานประกาศไม่ให้แจ้งการปรับลดราคาน้ำมันล่วงหน้า และยิ่งกว่านั้นตั้งแต่วันที่20เมษายน 2561 เป็นต้นมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สั่งให้ทำโครงสร้างราคาน้ำมันเฉพาะราคาขายส่งรวมแวตเท่านั้น ไม่ให้แจ้งราคาขายปลีกซึ่งจะเห็นการบวกค่าการตลาดด้วย แสดงเจตนาว่าจะปิดบังทั้งการปรับลดราคา และการบวกกำไรของราคาขายปลีกน้ำมันจากการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ใช่หรือไม่
หลังจากยกเลิกการแจ้งปรับลดราคาล่วงหน้า ก็เกิดปรากฎการณ์ในการปรับขึ้นราคาน้ำมันแบบถี่ยิบ เฉพาะเดือนพ.ค ราคาน้ำมันปรับ4ครั้งขึ้นราคาน้ำมันไปแล้วประมาณ2บาทต่อลิตร
ส่วนราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา3ครั้งในเดือนนี้คือ
วันที่ 1 พ.ค ขึ้นราคา 0.5016 บาทต่อกิโลกรัมเท่ากับขึ้นราคาถังละ 7.524 บาท
วันที่ 8 พ.ค ขึ้นราคาอีก0.6946 บาทต่อกิโลกรัม ถังละ10.419 บาท
วันที่ 16 พ.ค ขึ้นราคาอีก0.5714 บาทต่อกิโลกรัม ถังละ 8.571 บาท
ก๊าซหุงต้มเดือนพ.ค ขึ้นราคาไป 1.77บาท/กิโลกรัม หรือถังละ 26.55บาทกันเลยทีเดียว ซึ่งยังไม่เคยมีปรากฎการณ์ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกันแบบมหาโหดเช่นนี้มาก่อนเลย
ก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก อยู่ที่ราคาประมาณ 15บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาในประเทศที่มาจากก๊าซอ่าวไทยกลับมีราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่18บาท สูงกว่าราคาตลาดโลกประมาณ 3บาท การตั้งราคาจากโรงแยกก๊าซให้สูงกว่าตลาดโลก แล้วเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยให้กิโลกรัมละ2.74บาททำให้กองทุนน้ำมันกลายเป็นกองทุนอำพรางกำไรให้กับโรงแยกก๊าซ มากกว่าจะเป็นกองทุนที่ผู้ใช้เก็บออมเงินไว้เพื่อมาชดเชยราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดที่มีการแข่งขัน ซึ่งไม่ต่างจากที่เอากองทุนน้ำมันชดเชยราคาเอทานอลที่สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินล้วนๆ ก็เป็นวิธียักย้ายเงินกองทุนน้ำมันให้โรงกลั่นและธุรกิจเอทานอลได้กำไรเหนาะๆ ใช่หรือไม่??
โดยเฉพาะราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละ27.13บาท (ราคาถังละ 407บาท)
ปรากฎว่าในขณะที่ราคาก๊าซหุงต้มในไทยขึ้นราคาถึงถังละ26.55บาท และประชาชนผู้ใช้ก๊าซต้องซื้อก๊าซหุงต้มแพงขึ้นถึงกิโลกรัมละ27 บาท ราคาก๊าซหุงต้มที่ส่งไปขายที่พม่าในเดือนพ.คไม่มีการปรับขึ้นราคาถี่ยิบแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
Awra trading ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในพม่าอยู่ที่จังหวัดเมียวดีที่เป็นชายแดนติดกับแม่สอด ได้ลงข้อความในเวบไซต์ที่เป็นภาษาพม่า แปลได้ความว่า
“แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น แต่ก๊าซหุงต้มของ PTT และสยามแก๊สที่นำเข้าผ่านทางชายแดนเมียวดี ราคาส่งออกของไทยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมยังเท่าเดิม .....”
ข้อมูลจากคนขายก๊าซฝั่งพม่าระบุว่า ก๊าซหุงต้มที่ขายให้ลูกค้าที่ย่างกุ้งราคา 23.20 บาทต่อกิโลกรัม รวมภาษีนำเข้า, ค่าบรรจุและค่าขนส่งแล้ว ระยะทางจากชายแดนแม่สอดมาถึงย่างกุ้ง 434 กิโล ซึ่งใช้เวลาเดินทางเกือบ 10 ชั่วโมง
แต่เหตุใดประชาชนพม่าจึงสามารถซื้อก๊าซหุงต้มที่ส่งจากประเทศไทยได้ในราคาถูกกว่าคนไทยที่มีทั้งก๊าซในอ่าวไทย และโรงแยกก๊าซถึง6โรงในประเทศ !!??
ไหนอดีตรมว.พลังงานพล.อ อนันตพร เคยกล่าวว่าเปิดเสรีนำเข้าก๊าซหุงต้มแล้วราคาก๊าซหุงต้มจะถูกลง แต่ปรากฎว่าคนนำเข้าก๊าซหุงต้มเพื่อส่งออกไปขายเพื่อนบ้าน สามารถส่งขายให้ในราคาถูกกว่าขายคนไทย เพราะเหตุใด ??
ข้ออ้างที่ว่ายังต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มไม่ให้แกว่งตัวมากเกินไป จึงเป็นเพียงคำโกหก หลอกลวง ใช่หรือไม่??
กองทุนน้ำมันไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาระดับราคาให้คนไทยเลย แต่เป็นกองทุนเอาไว้อำพรางกำไรของกลุ่มทุนพลังงาน ที่ตั้งราคาทั้งก๊าซ และน้ำมันให้สูงเกินจริง สูงกว่าราคาตลาดโลก เพื่อเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยเป็นการอำพรางการโยกย้ายเงินจากกองทุนน้ำมันเป็นกำไรเข้ากระเป๋า โดยผู้ใช้น้ำมันและก๊าซจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากกองทุนน้ำมันที่เอาเงินไปสะสมเก็บไว้แต่ประการใด ใช่หรือไม่??
ถ้าจะขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มกันถี่ยิบขนาดนี้ โดยอ้างว่าต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี เมื่อราคาตลาดโลกขึ้น ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ก็ไม่ควรให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีกต่อไป เพราะกองทุนน้ำมันกลายเป็นภาระถ่วงคนไทยทั้งประเทศ ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันและก๊าซหุงต้มราคาแพงเกินจริง และแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ถึงเวลาแล้ว หรือยัง?? ที่ประชาชนคนไทยผู้บริโภค จะต้องไม่ยอมให้รัฐบาลปล่อยให้กลุ่มทุนขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มตามอำเภอใจเช่นนี้อีกต่อไป
กองทุนน้ำมัน เป็นกองทุนที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยวินิจฉัยไว้ว่าเป็นกองทุนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีหนังสือให้ความเห็นถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลคสช.ว่าควรจะยกเลิก แต่รัฐบาลคสช.ก็ไม่ยกเลิกทั้งที่ย่อมรู้ว่าเมื่อกองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่มีอำนาจเก็บเงินจากประชาชนคนใช้น้ำมัน แต่ก็ยังปล่อยให้เป็นกองทุนอำพรางกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงานต่อไป ใช่หรือไม่??
มีเพียงประชาชนเจ้าของเงินที่ต้องตื่นตัวขึ้นมาส่งเสียงให้รัฐบาลได้ยินว่าต้องยุติการล้วงกระเป๋าประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมเสียที มิเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลจะไม่แก้ไขอะไรทั้งสิ้น เพราะคิดว่าประชาชนทั้งหลายล้วนเป็นสีทนได้ !!
รสนา โตสิตระกูล
20 พฤษภาคม 2561
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1690045811071975&id=236945323048705