“เฉลิมพระเกียรติ สายใยซั้งเชือก PTTGCสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง”

“เฉลิมพระเกียรติ สายใยซั้งเชือก PTTGCสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง”

 

 

  “เฉลิมพระเกียรติ สายใยซั้งเชือก PTTGCสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง”


บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับจังหวัดระยอง และชุมชนประมงชายฝั่ง เปิดโครงการ “เฉลิมพระเกียรติ สายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง” โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ผู้นำชุมชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ณ บริเวณหาดแหลมเจริญ อ.เมือง จ.ระยอง

PTTGC ร่วมกับสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 สำนักงานประมงจังหวัดระยอง และชุมชนประมงชายฝั่งในเขตอำเภอเมือง อำเภอแกลง และ อำเภอบ้านฉาง รวม 30 กลุ่ม จัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศในทะเล ภายใต้โครงการ “เฉลิมพระเกียรติ สายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 โดยการจัดทำซั้งเชือกจำนวน 70 กอง และ ซั้งกอ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำในทะเล เพิ่มแหล่งผลิตทรัพยากรและระบบนิเวศในทะเลบริเวณอ่าวระยอง ระยะทางครอบคลุมชายฝั่ง ประมาณ 120 กิโลเมตร 3 อำเภอ
โดย PTTGC ได้นำผลิตภัณฑ์พลาสติกคุณภาพสูงของบริษัทฯ ที่มีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้สำหรับอุตสาหกรรมประมงมาผลิตซั้งเชือก ได้แก่ พลาสติกประเภท PP หรือ PE สำหรับการผลิตเชือกใยยักษ์ และพลาสติกประเภท PE สำหรับการผลิตทุ่นกั้นแนวอนุรักษ์ จำนวน 70 กอง ซึ่งจะใช้ HDPE รวมทั้งสิ้น 4,074 กิโลกรัม
โครงการฯ มีระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี ครอบคลุมการจัดทำซั้งเชือก และซั้งกอ โดยชุมชนชายฝั่งและประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง ผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาของบริษัทฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมถึงการนำซั้งเชือกและซั้งกอทิ้งลงในทะเลและติดตามประเมินผลโครงการ ซึ่งการจัดทำ “ซั้งเชือก” หรือหญ้าเทียมในทะเลมาใช้ทดแทนหญ้าจริงในทะเลเพื่อเป็นแหล่งหลบภัย วางไข่ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อน และการจัดทำ “ซั้งกอ” เพื่อทดแทนปะการังที่เสียหายไป โดยนำเชือกมัดไม้ไผ่ขนาดใหญ่และมัดทางมะพร้าวถักเป็นพวงไปทิ้งในทะเลระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 2 ไมล์ทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำในทะเล ซึ่งเป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณมาใช้ PTTGC หวังว่าโครงการนี้จะช่วยฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของระยอง เพิ่มแหล่งทำการประมงที่มีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงในพื้นที่ ทำให้ชาวประมงมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำมากขึ้น และมีรายได้จากการท่องเที่ยว”
นอกจากนี้ ในพิธีเปิดโครงการฯ ได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและเต่าทะเลสู่ท้องทะเล จำนวน 70,007 ตัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

ด้านนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า "ซั้งเชือก ที่ชาวบ้านกำลังทำกันอยู่นั้น ใช้เชือกไนล่อน เป็นส่วนประกอบหลัก โดยจะมีการแยกเชือกจากเส้นใหญ่ให้เป็นเส้นเล็กๆ เลียนแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่ในอดีต จะเป็นเครื่องมือที่ดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกในการทำการประมง โดยจะมีการนำซั้ง หรือทุ่นปะการังเทียมไปทิ้งไว้ในทะเล เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยซั้งในอดีตนั้นชาวบ้านจะสร้างขึ้น จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ที่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ อาทิเช่น นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน แล้วใช้เถาวัลย์ผูกติดกับใบหรือทางมะพร้าวทำเป็นซั้ง นอกจากนี้ประโยชน์ทางอ้อมของซั้ง คือ สามารถป้องกันเรือประมงขนาดใหญ่ เช่น เรืออวนลาก มาทำการประมงในเขตน่านน้ำหวงห้ามได้ อีกทางหนึ่งด้วย"

นอกจากนี้ นายไมตรี รอดพ้น ขอเป็นตัวแทนชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กชายฝั่งจังหวัดระยองทั้ง 30 กลุ่ม กล่าวด้วยว่า “ผม และจังหวัด ระยอง ที่มีความตั้งใจเข้ามาให้ความช่วยเหลือกลุ่มประมงพื้นบ้านในการฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลบริเวณอ่าวระยอง โดยกลุ่มประมงจังหวัดมีความเชื่อมั่นว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล และจังหวัดระยอง จะช่วยนำองค์ความรู้และเงินลงทุน เข้ามาเป็นกำลังสำคัญเพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มจำนวนของทรัพยากรธรรมชาติทางชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองได้อย่างยั่งยืน
“ในปีที่ผ่านมา กลุ่มประมงพื้นบ้านได้มีความพยายามที่จะทำซั้งเชือกและ
ซั้งกอ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวประมงจังหวัดระยอง มาใช้แก้ไขปัญหาปริมาณสัตว์ทะเลที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ และพบว่าซั้งเชือกซั้งกอสามารถช่วยฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้จริง เมื่อทราบว่าจะมีภาคเอกชนอย่างพีทีที โกลบอล เคมิคอล และจังหวัดระยอง เข้ามาช่วยสนับสนุนอุปกรณ์เชือกสำหรับทำซั้งที่มีความทนทาน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับทะเลระยอง กลุ่มประมงจึงมั่นใจว่า ชาวประมงทั้ง 30 กลุ่ม จะสามารถใช้ซั้งเชือกให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพได้อย่างสูงสุด
“สุดท้ายนี้ ชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กชายฝั่งจังหวัดระยอง ขอขอบคุณ
ทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนโครงการเฉลิมพระเกียรติ สายใยซั้งเชือกฯ อีกครั้ง กลุ่มประมงจะให้ความร่วมมือ และผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประกอบอาชีพที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกกลุ่มประมงทุกท่านต่อไป” นายไมตรี กล่าวขอบคุณแทนชุมชน สอดคล้องกับ นางไพรวัลย์ บุญฤทธิ์ ชุมชนมาบข่า กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ทาง พีทีที โกลบอล เคมิคอล และจังหวัดระยอง ได้เข้ามาช่วยเหลือชาวประมงในครั้งนี้ก็จะช่วยให้ชาวประมงมีการทำประมงให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะได้ช่วยกันอนุรักษ์ท้องทะเลได้มีลมหายใจต่อไป อย่างน้อยยังช่วยให้ชาวประมงได้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”