“ชี้แจงข้อกล่าวอ้างของปตท.”

“ชี้แจงข้อกล่าวอ้างของปตท.”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 


“ชี้แจงข้อกล่าวอ้างของปตท.”

 

ปตท.ออกคำแถลงกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางว่า “กรณีเดียวกันนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ได้เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลได้ยกคำร้องไปแล้ว” ปตท.เลยอ้างว่า “คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว” และตีขลุมเลยว่า “ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และศาลปกครองได้มีคำสั่งยืนยันในเรื่องดังกล่าวหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ปี 2551 – 2559”


ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ยกคำร้องของดิฉันและคุณบุญยืน เป็นการยกคำร้องเพราะศาลอาญาคดีทุจริตฯตัดสินว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะบุคคลคนหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการทุจริตและประพฤติมิชอบของหน่วยงานรัฐ ความเสียหายจากการทุจริตและการประพฤติมิชอบดังกล่าวถือเป็นความเสียหายต่อรัฐ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ดำเนินการฟ้องร้องเอง แต่เมื่อรัฐบาลไม่ดำเนินการ ความเสียหายดังกล่าวจึงค้างคาอยู่ ไม่ได้ถูกจัดการ เพราะประชาชนถูกกันออกจากกระบวนการฟ้องเพื่อให้มีการตรวจสอบและตัดสินคดีโดย ศาลฯ


ส่วนศาลปกครองยกคำร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกในชั้นบังคับคดีหลายครั้งเพราะในชั้นบังคับคดีศาลปกครองอาศัยกฎหมายแพ่ง จึงวินิจฉัยว่ามูลนิธิฯไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ เจ้าของทรัพย์คือรัฐ ที่มีรัฐบาลและหน่วยราชการเป็นตัวแทน และการที่ศาลฯไม่สั่งเพิกถอนการแปรรูป ผู้ฟ้องคดี จึงไม่ใช่ผู้ชนะคดี


แม้ว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเป็นผู้ฟ้องคดีเริ่มต้นในการเพิกถอนการแปรรูปปตท.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลจากการฟ้องคดี แม้ศาลไม่สั่งให้เพิกถอนการแปรรูป แต่ศาลฯก็สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4 ประกอบด้วย 1)ครม.2)นายกรัฐมนตรี 3)รัฐมนตรีพลังงาน 4)บมจ.ปตท ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนให้แผ่นดิน


ประชาชนที่เป็นผู้ฟ้องคดีไม่สามารถมีส่วนร่วมในชั้นบังคับคดี เพราะ ”ไม่ใช่ผู้ชนะคดี” และ ”ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์” แม้เห็นกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษา และมีการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ในขั้นตอนส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการแบ่งแยกทรัพย์สิน คือไม่มีการตรวจสอบรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินว่าถูกต้องหรือไม่โดย สตง.ตามที่กำหนดไว้ในมติครม.และสตง.ทักท้วงตลอดว่ายังคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน แต่ตลอด10ปี ที่มูลนิธิฯและพวกได้ฟ้องคดีต่อศาลหลายครั้ง แต่ถูกยกคำร้องมาตลอด เพราะ”ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์” และ “ไม่ใช่ผู้ชนะคดี” จึงยังไม่เคยมีการพิจารณาและตัดสินโดยศาลปกครองในประเด็นของเนื้อหาเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน


หากมิใช่เพราะประชาชนนำเรื่องการแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ย่อมไม่มีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้แบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิมหาชนคืนให้รัฐ ใช่หรือไม่


ทรัพย์สินที่ถูกถ่ายโอนไปเป็นของเอกชนในกระบวนการแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งอำนาจและสิทธิมหาชนของรัฐ ก็ย่อมตกเป็นของ บริษัทปตท.ตลอดไป ใช่หรือไม่


การให้รัฐบาลในฐานะ”ผู้ถูกฟ้องคดี”ที่ไม่ได้สนใจปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จนถูกประชาชนฟ้องคดี กลับได้รับมอบหมายมาเป็นผู้จัดการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนรัฐ โดยที่ประชาชน”ผู้ฟ้องคดี”ไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนตรวจสอบว่ามีการคืนทรัพย์สินถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนอยากได้ทรัพย์สินแผ่นดินคืน ทั้งที่มีอำนาจทางบริหารที่สามารถสั่งการตามสายการบังคับบัญชาให้คืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนได้ แต่รัฐบาลกลับทำตัวเป็นอุปสรรคเสียเอง จึงเกิดปัญหาพิพาทคาราคาซังกรณีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนมาเป็นเวลายาวนานถึง10ปีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จสิ้น


มีแต่ประชาชนที่ต้องการทรัพย์สินแผ่นดินคืน และสู้บากบั่นมาตลอด10ปี ที่เสาะหาช่องทางตามกฎหมาย แม้ถูกศาลฯยกคำร้องหลายครั้ง แต่ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 ศาลฯระบุชัดเจนว่ามติครม.เป็นคำสั่งภายในครม.และนายกรัฐมนตรี หากเห็นว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ก็สามารถสั่งการให้ปฏิบัติได้ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยราชการ จากคำสั่งศาลปกครองฉบับนี้ เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมีอำนาจจัดการตามอำนาจบังคับบัญชาได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมานานยังไม่ปรากฎผลการปฏิบัติในเรื่องนี้ มูลนิธิและพวกจึงนำเรื่องดังกล่าวมาร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ให้ตรวจสอบว่ามีการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ครบถ้วนและมีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่ต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้


หลังจากนั้นในวันที่10พฤษภาคม 2561 คตง.ตรวจสอบและวินิจฉัยว่าปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน และรายงานนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 รับรองไว้ว่านายกฯสามารถใช้อำนาจบริหารบังคับบัญชาให้มีการคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 แต่จนบัดนี้ยังไม่เห็นผลของการดำเนินการ ซึ่งอาจทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้


นอกจากนี้ประชาชนยังร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ว่าคืนครบถ้วนหรือไม่ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอีกองค์กร ก็ชี้ว่าปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนเช่นกัน


การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองจากทางราชการให้สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภค มาเป็นผู้ฟ้องคดีดังกล่าวนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ด้วยเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับผลประโยชน์ของบ้านเมืองที่ล่าช้าของฝ่ายบริหาร ทำให้รัฐและประชาชนสูญเสียประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ จึงนำเรื่องมาฟ้องคดีต่อศาลอาญาทุจริตฯโดยอาศัยข้อมูลการสอบสวนการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมติครม.ของข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำให้มีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งการสอบสวนและวินิจฉัยนี้ คตง.ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี และปปช.ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม 2559 แต่ยังไม่ปรากฎความคืบหน้าของเรื่องนี้แต่ประการใด


มูลนิธิฯและประชาชนผู้ฟ้องคดีเพิกถอนการแปรรูปปตท.มาตั้งแต่ต้น ยังติดตามให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ ฟ.35/2550 ให้ครบถ้วน เมื่อเห็นว่ายังไม่ครบถ้วนจึงนำคดีมาฟ้องแม้ถูกยกคำร้องมาตลอด10ปี เพราะถูกตัดสินว่าไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ แต่ก็พยายามหาเส้นทางการใช้กลไกทางกฎหมายต่างๆเพื่อให้ ประชาชน และองค์กรภาคประชาสังคมมีช่องทางเข้าไปต่อสู้คดี และนำข้อมูลเพื่อให้ศาลฯพิจารณาและตัดสินว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนตามคำพิพากษาหรือไม่


จึงคาดหวังว่าศาลฯและผู้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะได้โปรดพิจารณาการตีความ ”ผู้เสียหาย” ในคดีทุจริตและการประพฤติมิชอบของภาครัฐให้หมายรวมถึงประชาชน และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบมีความเข้มแข็งสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เน้นการปราบปรามการทุจริต เพราะยากที่จะหวังพึ่งหน่วยงานรัฐทำหน้าที่ในการจัดการกับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง หน่วยงานรัฐมักทำหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และแฝงไว้ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงทำให้การขจัดปัญหาการทุจริตในวงราชการและการทุจริตเชิงนโยบายขนาดใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทำให้การทุจริต และประพฤติมิชอบของผู้ใช้อำนาจรัฐระดับสูงยังคงอยู่ และมีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างร้ายแรง


ภาคประชาชนหวังว่าศาลอาญาคดีทุจริตและการประพฤติมิชอบกลางแม้ไม่รับคดีบุคคลเป็นผู้เสียหายในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐก็หวังว่าจะรับองค์กรภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้มีสิทธิฟ้องแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินของแผ่นดินที่แท้จริง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ที่ทรงพระราชทานพระราชดำรัสให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า “เงินของแผ่นดินคือเงินของประชาชน”


ดังนั้นดิฉันขอยืนยันว่าการที่พวกเราในฐานะผู้ฟ้องคดีถูกยกคำร้องหลายครั้งเกิดจากปัญหาการตีความเรื่อง”สิทธิในการฟ้องคดี” ว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่เท่านั้น ศาลฯยังไม่เคยพิจารณาลงไปในเนื้อหาคำฟ้องเรื่องการคืนทรัพย์สินแผ่นดินไม่ครบถ้วนว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใด


ดังนั้นการที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไม่รับฟ้อง และศาลปกครองยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีตลอดมาตั้งแต่ปี 2551-2559 จึงไม่ใช่การยืนยันรับรองว่า ปตท.ได้คืนทรัพย์สินครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ.35/2550 แล้วตามที่ปตท.กล่าวอ้างแต่ประการใด

รสนา โตสิตระกูล
14 มิถุนายน 2561

ปตท.แจงปมมูลนิธิผู้บริโภคร้องศาลอาญาทุจริตกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สิน

https://www.prachachat.net/economy/news-173496

https://www.facebook.com/236945323048705/posts/1718015618274994/