“การขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง4ปีให้องค์กรอิสระเป็นกระบวนการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่???"

“การขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง4ปีให้องค์กรอิสระเป็นกระบวนการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่???"

 

 

 

 

 

 

 

 

“การขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง4ปีให้องค์กรอิสระเป็นกระบวนการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่???"

 


ในยามที่ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำกำลังลำบากมากขึ้นจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนพลังงานสูงเว่อร์เกินจริง โดยที่รายได้ไม่สามารถปรับขึ้นตามได้

แม้แต่พ่อค้าคนหนึ่งในตลาดสดยังแสดงความเห็นว่า ตลอด4ปีของรัฐบาล การใช้งบประมาณล้วนหมดไปกับการดูแล”ส่วนใบ” แต่ ”รากกับลำต้น” ไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงให้เติบโตแข็งแรงแต่อย่างใด

ข่าวเรื่องการเสนอร่างกฎหมาย5ฉบับเข้าสนช.ในสัปดาห์นี้ เพื่อขึ้นเงินเดือนย้อนหลังให้กับศาลและองค์กรอิสระต่างๆก็เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อดูแล”ส่วนใบ”เท่านั้น โดยไม่คำนึงว่า หากลำต้นกับรากเหี่ยวเฉา ส่วนใบก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

เป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือ ที่ออกกฎหมายเพื่อให้มีการขึ้นเงินเดือนอีก10% โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึง4ปี ตั้งแต่ธันวาคม 2557 ทั้งที่คนในระดับนี้ไม่น่าจะมีความเดือดร้อนเมื่อเทียบกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง

ในขณะที่การขอปรับขึ้นค่าแรงของคนงานนั้น อย่าว่าแต่จะให้มีการขึ้นค่าแรงย้อนหลังเลย แม้แต่จะขึ้นค่าแรงให้เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันตามที่คนงานขอมานั้น รัฐบาลก็ยังทำให้ไม่ได้

การที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการในภาครัฐแบบไม่ยั้งตั้งแต่ปี2558เป็นต้นมาได้เช่นนี้ เพราะมาจากการรีดภาษีจากประชาชนที่ไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ แต่การขึ้นค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลไม่กล้าทำเพราะไม่กล้ายุ่งกับเงินในกระเป๋าของเอกชนใช่หรือไม่ ?

เวลานี้แหล่งรายได้ของรัฐก็ไม่ค่อยมี หนี้สินก็พอกพูนมากขึ้น ควรแล้วหรือที่จะมาเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับงบประมาณแผ่นดินด้วยการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการระดับสูงเป็นเงินก้อนโตเช่นนี้

การขึ้นเงินเดือนให้กับศาลฯและองค์กรอิสระย้อนหลังเช่นนี้ ขอตั้งเป็นข้อสังเกต2ประการ

1)เป็นการอำพรางการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อจะขึ้นเงินเดือนให้กับตนเองในคณะรัฐมนตรี และให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติ ใช่หรือไม่?

ที่ตั้งข้อสังเกตนี้เพราะเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งใน3สถาบันหลักคือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ จะมีอัตราเท่ากัน โดยที่ปัจจุบันตุลาการในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หัวหน้าคสช.นายกรัฐมนตรี ประธานสนช.และประธานองค์กรอิสระอื่น มีอัตราเงินเดือนใกล้เคียงกันที่ 75,590 บาท บวกเงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาทรวมเป็น 125,590 บาท และอัตราใหม่จะมีการปรับเพิ่มเป็น 83,090+55,000 รวมเป็น 138,090บาท

การปรับเงินเดือนให้สถาบันตุลาการและองค์กรอิสระ เป็นการอำพรางให้สถาบันตุลาการเป็นตัวนำร่องการขึ้นเงินเดือนและขึ้นย้อนหลังไปก่อนเพื่อกำบังการขึ้นเงินเดือนและขึ้นย้อนหลังให้กับคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติด้วย ใช่หรือไม่ ?

2)การขึ้นเดือนย้อนหลังให้4ปี จะถือเป็นการซื้อใจล่วงหน้าบรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และทำให้สังคมเกิดความกังวลว่าจะมีผลในการบิดเบือนกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการบริหารของรัฐบาล ใช่หรือไม่?

จากข้อสังเกตทั้ง2ข้อข้างต้น จึงมีคำถามว่าการมาพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน และบวกการขึ้นเงินเดือนย้อนหลังให้องค์กรเหล่านี้ในปลายสมัยรัฐบาลนั้นถือว่าเป็น”กระบวนการทุจริตเชิงนโยบาย” หรือไม่?

นับเป็นความต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยที่มาจากการยึดอำนาจ กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีเสียสละด้วยการลดเงินเดือนลง10% แต่นายกรัฐมนตรีไทยกินเงินเดือน2ตำแหน่งแต่ยังบ่นว่าตนเองได้เงินเดือนน้อย รวมทั้งรัฐมนตรีหลายคนในครม.ที่กินเงินเดือนควบ2 ตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีและในฐานะสมาชิกคสช.เป็นเวลามากกว่า4ปีแล้ว นอกจากจะไม่เสียสละในช่วงเวลาที่ประชาชนอยู่ในภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ยังวางแผนจะขึ้นเงินเดือนให้ตนเองบวกการย้อนหลังโดยอาศัยการอำพรางขึ้นเงินเดือนให้สถาบันตุลาการมานำร่องไว้ก่อนใช่หรือไม่ ?

สิ่งที่น่ากังวลคือรัฐบาลกำลังทำลายกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลในสภานิติบัญญัติอยู่แล้ว ใช่หรือไม่?หากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็น”พวก”ด้วยการให้โบนัสก้อนโตจากการขึ้นเงินเดือนบวกย้อนหลัง จะนำไปสู่การทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่สังคมควรเป็นห่วงกังวล

สิ่งที่ลอร์ดแอกตันกล่าวเป็นสัจพจน์ไว้ว่า “อำนาจนำไปสู่การคอร์รัปชัน อำนาจเบ็ดเสร็จ(ที่ไม่มีการตรวจสอบ)ย่อมนำไปสู่การคอร์รัปชันที่เบ็ดเสร็จ " น่าจะใช้อธิบายได้กับรัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จของไทยทุกยุค

รสนา โตสิตระกูล
9 ก.ค 2561

https://prachatai.com/journal/2018/07/77708