“กรมสรรพสามิต สมควรปรับเชฟรอนหนีภาษีแบบเดียวกับที่ปรับคุณยายขายสาโท ข้าวหมักเพื่อความเป็นธรรม และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย”

“กรมสรรพสามิต สมควรปรับเชฟรอนหนีภาษีแบบเดียวกับที่ปรับคุณยายขายสาโท ข้าวหมักเพื่อความเป็นธรรม และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย”

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“กรมสรรพสามิต สมควรปรับเชฟรอนหนีภาษีแบบเดียวกับที่ปรับคุณยายขายสาโท ข้าวหมักเพื่อความเป็นธรรม
และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย”

 

หลังจากบทความของดิฉันที่ถามเรื่อง3กรมภาษีไม่ปรับบริษัทเชฟรอนที่หลีกเลี่ยงภาษีน้ำมัน นอกจากอธิบดีกรมศุลกากรจะออกมาแถลงข่าวว่าเชฟรอนถูกจับน้ำมันเถื่อนได้ที่ด่านสงขลา 1.6 ล้านลิตร และยอมระงับคดีกับกรมศุลกากรโดยยอมให้ยึดน้ำมันเถื่อนดังกล่าว ซึ่งกรมศุลฯได้ขายและส่งเป็นรายได้แผ่นดินมูลค่า48 ล้านบาทแล้ว

ส่วนกรณีเรื่องที่เชฟรอนสำแดงการส่งออกเป็นเท็จที่ตามพรบ.ศุลกากร 2469 มาตรา27 บัญญัติไว้ว่าตอนหนึ่งว่า “....ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัด
ใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้าม หรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” ซึ่งกรณีนี้กรมศุลกากรยังไม่ได้ดำเนินการ

กรมสรรพสามิตก็ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้เช่นกัน โดยให้ข้อมูลว่า “ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่า การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะไม่ถือเป็นการส่งออก กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตามกฎหมาย และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทเชฟรอนได้มาชำระภาษีสรรพสามิตเต็มจำนวนเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่สำนักงานสรรพสามิต จังหวัดระยอง”

ส่วนเบี้ยปรับเงินเพิ่มที่ดิฉันถามในบทความว่ามีการดำเนินการหรือไม่นั้น รองโฆษกกรมสรรพสามิตแถลงว่า

“ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้มีการยื่นคำของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย และ กรมสรรพสามิตได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาใน “คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำคัดค้านการประเมินภาษีและพิจารณาการงด หรือ ลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม” ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง (ก.ค. 2560 – ก.ค. 2561) และขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาข้อยุติ”

เท่าที่ทราบผู้กระทำ
ผิดกฏหมายสรรพสามิตจะถูกปรับทุกรายตั้งแต่ 5-10 เท่า เช่นกรณีคุณยายขายสาโท ข้าวหมักที่โดนปรับไป 10,000 บาท ก็น่าจะเป็นการถูกปรับหลายเท่า เพราะมูลค่าสาโทกับข้าวหมักน่าจะไม่กี่ร้อยบาท การปรับคุณยายที่ขายสาโท ข้าวหมักหลายเท่าตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็เพราะเป็นคนจนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ใช่หรือไม่

แต่บริษัทเชฟรอนที่มีอำนาจต่อรองสูง จึงสามารถขอเสนอคำคัดค้านให้งดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม อีกทั้งเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตก็มีความพยายามที่เสนอเข้าที่ประชุมพิจารณาถึง 6 ครั้ง และกรมสรรพสามิตก็ช่วยเหลือด้วยการใช้เวลาในการประชุมเรื่องนี้เป็นระยะเวลายาวนานถึง 1 ปี (กรกฎาคม2560 - กรกฎาคม 2561) ว่าจะงดเว้นค่าปรับและเงินเพิ่มให้เชฟรอนได้หรือไม่ ซึ่งเพื่อความเป็นธรรมสมควรปรับเชฟรอนแบบเดียวกับที่ปรับคุณยายขายสาโทและข้าวหมักหรือเหมือนกับผู้กระทำผิดรายอื่นๆอย่างเสมอหน้า มิฉะนั้นหน่วยงานของรัฐอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าเก่งแต่บังคับใช้กฎหมายได้เฉพาะกับคนจน

ในกรณีของเชฟรอนนั้น ไม่น่าจะมีสาเหตุอันใดที่สมควรงดเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มให้ เพราะมีพฤติการณ์ที่น่าจะเข้าข่ายหลีกเลี่ยงข้อกฏหมายเพื่อฉ้อค่าภาษีของประเทศไทย ใช่หรือไม่

ที่ตั้งคำถามเช่นนั้นโดย พิจารณาจากเหตุผลดังต่อไปนี้

1)บริษัทเชฟรอนเป็นบริษัทรายแรกๆที่ได้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทย จึงสมควรรู้ว่ามาตรา70 ในพรบ.ปิโตรเลียม 2514 ไม่ได้ยกเว้นภาษีน้ำมันที่นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในไหล่ทวีป และอย่างน้อยตั้งแต่ปี2514-2554 เป็นระยะเวลาถึง40ปี ที่เชฟรอนซื้อน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะแบบการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แต่เหตุใดจึงเพิ่งมาสงสัยในปี 2554 ว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกนอกราชอาณาจักร ใช่หรือไม่ !?!

2)แท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปจะเป็นนอกราชอาณาจักรไทยได้อย่างไร ในเมื่อเชฟรอนต้องมาขอสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมจากรัฐบาลไทย ใช่หรือไม่

3)เหตุใดพื้นที่อื่นที่เป็นสัมปทานของเชฟรอน หรือของบริษัทอื่น เช่นปตท.สผ.ก็ยังซื้อน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในลักษณะการค้าชายฝั่งที่เสียภาษีสรรพสามิตตามปกติ ไม่มีบริษัทอื่นมีความสงสัยว่าแท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปเป็นนอกราชอาณาจักร ที่สามารถซื้อน้ำมันไม่เสียภาษีสรรพสามิต มีเพียงแท่นขุดเจาะที่แหล่งเอราวัณแห่งเดียวเท่านั้นที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำมัน ใช่หรือไม่

4)เชฟรอนหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำมันต้ังแต่ปี2554-2557 จนถูกจับน้ำมันเถื่อนได้ที่ด่านสงขลา เมื่อปี2557 และยอมกลับไปซื้อน้ำมันแบบการค้าชายฝั่ง แต่แล้วก็กลับมาปรึกษาผู้บริหารในกรมศุลกากรอีกครั้งในปี2558 และกลับมาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอีกในปี2558-2559 ย่อมแสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่พยายามหลีกเลี่ยงเพื่อฉ้อภาษีของรัฐไทย ทั้งที่ได้รับประโยชน์และผลกำไรมหาศาลจากการเป็นผู้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทย ใช่หรือไม่

5)หากไม่มีข้าราชการ
ดีๆที่มีความซื่อตรงอย่าง
นายด่านสงขลาที่กล้าจับน้ำมันเถื่อนที่เชฟรอนนำมาใช้ในอ่าวไทยเมื่อปี2557 และถ้าไม่มีนายด่านมาบตาพุดที่ทักท้วง
กรณีเชฟรอนส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะว่าไม่ใช่เป็นการส่งออก จนมีการตั้งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา กระทั่งมีข้อยุติว่าน้ำมันที่นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียภาษีแล้วนั้น ป่านนี้เชฟรอนก็ยังคงสามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้ประเทศไทยต้องได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ใช่หรือไม่

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ย่อมไม่มีเหตุผลอันใดที่กรมสรรพสามิตจะเสียเวลา เสียเบี้ยประชุมของหลวงมาเพื่อพิจารณายกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มให้กับเชฟรอน แต่ควรมีมติปรับในขั้นสูงสุดเพื่อให้เข็ดหลาบ ว่าต่อให้มีข้าราชการที่คอยช่วยเหลือให้เอกชนฉ้อภาษีของรัฐแทรกอยู่ในระบบ แต่ยังมีข้าราชการดีๆที่จะคอยสอดส่องตรวจสอบ และหากพบการกระทำผิดแล้วมีการลงโทษหนัก ก็จะเป็นการป้องปรามคนที่คิดจะฉ้อภาษีของรัฐต้องคิดหนัก ไม่กล้ากระทำการอีกต่อไป

การที่คณะกรรมการมีการประชุมถึง6 ครั้งเป็นเวลา 1ปี แต่ที่ยังไม่สำเร็จแสดงว่าต้องมีกรรมการที่ไม่เห็นด้วย หากมีมติยกเว้นเบี้ยปรับให้เชฟรอนก็เท่ากับเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฏหมาย ผู้ที่มีมติให้มีการงดเว้นการคิดค่าปรับเงินเพิ่ม อาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 154 และ157 ซึ่งดิฉันจำเป็นต้องกล่าวโทษท่านตามกฎหมายต่อไป

รสนา โตสิตระกูล
(อดีตประธานกรรมการศึกษาและตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้าง
ธรรมาภิบาล วุฒิสภา)

26 ส.ค 2561

https://thaipublica.org/2018/08/customs-disputed-chavron-20/