เครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน เรียกร้องให้อธิบดีกรมศุลกากร และ อธิบดีกรมสรรพสามิตปรับบริษัทเชฟรอน ถ้ามีการสำแดงเท็จส่งออกน้ำมันเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
แถลงข่าวเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน
วานนี้(27 สค.2561) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง น.ส รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว กทม.และ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนปี2535 ร่วมกันแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ เรียกร้องให้อธิบดีกรมศุลกากร และ อธิบดีกรมสรรพสามิตปรับบริษัทเชฟรอนถ้ามีการสำแดงเท็จส่งออกน้ำมันเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี และตั้งคำถามว่าเชฟรอนยังมีคุณสมบัติเข้าประมูลแหล่งบงกชเอราวัณหรือไม่
น.ส รสนากล่าว่า ในปี2554 เชฟรอนเปลี่ยนวิธีการขนส่งน้ำมันไปใช้เดินเครื่องจักรที่แท่นขุดเจาะ จากเดิมที่เสียภาษีแบบการขายภายในประเทศ ไปสำแดงเป็นการส่งออก โดยอ้างผลการหารือผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของกรมศุลกากร
แต่ในใบขนสินค้าที่เชฟรอนยื่นต่อด่านศุลกากรนั้น มิได้ระบุว่านำไปใช้บนแท่นขุดเจาะ กลับระบุว่าเป็นการส่งออกน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่อง ด้วยรหัส ZZ ซึ่งเป็นรหัสปลอดภาษี แต่ความจริงไม่ได้ส่งน้ำมันไปขายที่เขตต่อเนื่อง
นอกจากใช้น้ำมันดังกล่าวบนแท่นขุดเจาะแล้ว ปรากฏว่ายังมีการนำไปใช้เดินเรือรับส่งระหว่างแท่นขุดเจาะกับชายฝั่งของไทยอีกด้วย จึงมีสภาพเป็นน้ำมันเถื่อน และในปี 2557 ด่านศุลกากรได้จับกุมและยึดน้ำมัน 1.6 ล้านลิตรมูลค่า 48 ล้านบาทที่ด่านสงขลา และได้ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินแล้วในปี2561
บัดนี้ได้มีข้อยุติจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า การส่งน้ำมันไปใช้เดินเครื่องบนแท่นขุดเจาะ ถือเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียภาษี
น.ส รสนากล่าวว่าบริษัทขุดเจาะอื่นๆ เช่นปตท.สผ. ก็ซื้อน้ำมันแบบเสียภาษี มีเชฟรอนบริษัทเดียวที่ดำเนินการเช่นนี้สำหรับแหล่งเอราวัณ และเห็นว่าทั้งกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตไม่มีเหตุผลที่จะงดเว้นเบี้ยปรับ แต่ควรปรับในอัตราโทษสูงสุดเพื่อให้ผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษีเข็ดหลาบ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาลได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นกรณีที่กระทบกับทั้ง 3 กรมภาษีที่ปลัดกระทรวงการคลังควรเข้ามาตรวจสอบ และตั้งคำถามว่า ถ้ามีข้อสรุปชัดเจนว่าเชฟรอนสำแดงเท็จเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี และการถูกจับน้ำมันเถื่อนได้นั้น เป็นประเด็นที่ต้องถามว่าเชฟรอนยังมีคุณสมบัติที่จะมาประมูลแหล่งปิโตรเลียมอีกหรือไม่ โดยยกเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาสัมปทานที่จะทำให้ถูกเพิกถอนสัมปทานข้อหนึ่งคือการทำลายประโยชน์สาธารณะ หรือมีการกระทำที่กระทบต่อเศรษฐกิจ
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์กล่าวว่าได้สอบถามทาง สตง.เรื่องการยกเลิกใบขนที่อาจมีการสำแดงเท็จของเชฟรอนนั้น สตง.ยืนยันว่ายกเลิกใบขนที่ผิดกฎหมายไม่ได้ และกล่าวถึงอธิบดีกรมศุลกากรที่กำลังจะไปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ควรจะต้องจัดการเรื่องการสำแดงเท็จให้เสร็จสิ้นก่อนการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเพื่อป้องกันประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน
https://www.facebook.com/236945323048705/videos/1939449253022795/