“ข้อพิรุธเรื่องการหนีภาษีของเชฟรอน เป็นกระบวนการสมคบคิด ใช่หรือไม่???”

“ข้อพิรุธเรื่องการหนีภาษีของเชฟรอน เป็นกระบวนการสมคบคิด ใช่หรือไม่???”

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“ข้อพิรุธเรื่องการหนีภาษีของเชฟรอน เป็นกระบวนการสมคบคิด ใช่หรือไม่???”

 


เมื่อวานนี้ (3ต.ค 2561)ดิฉันและคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาลได้ไปประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน สนช. คุณธีระชัยได้โพสต์เนื้อหาบางส่วนที่ชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งดิฉันได้แชร์โพสต์ของท่านมาในกระทู้ก่อนหน้านี้แล้ว


จะขอเพิ่มเติมประเด็นที่ชี้แจงต่อคณะอนุกมธ.ที่เป็นการแสดงถึงข้อพิรุธในการตอบข้อหารือของเจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากรเรื่องแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักร ที่ทำให้เชฟรอนเปลี่ยนการซื้อน้ำมันแบบเสียภาษีมาสำแดงการส่งออก เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยไปประมาณ 2,100ล้านบาท น่าจะเข้าข่ายเป็นการสมรู้ร่วมคิดของข้าราชการในกรมศุลกากรเพื่อให้เอกชนฉ้อภาษีของรัฐ ใช่หรือไม่???

ข้อสังเกตที่นำเสนอต่อคณะอนุกมธ.มีดังนี้

1)คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะใหญ่)เคยวินิจฉัยเมื่อปี2525 ว่าการส่งก๊าซจากแท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปมายังชายฝั่งถือว่าอยู่ในราชอาณาจักร จึงไม่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า และยังไม่เคยมีการตีความกลับคำวินิจฉัยดังกล่าวแต่อย่างไร และการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในปี2559 ก็อ้างอิงคำวินิจฉัยปี2525 ว่าในเมื่อแท่นขุดเจาะอยู่ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ก๊าซธรรมชาติจากแท่นขุดเจาะส่งมาขึ้นฝั่งจึงไม่มีภาษีขาเข้า ดังนั้นการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะจึงไม่ใช่การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ถือเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียภาษี

เชฟรอนใช้น้ำมันที่แท่นขุดเจาะเป็นเวลา40ปี (2514-2554)โดยเสียภาษีมาตลอด จู่ๆมากลับวิธีเป็นส่งออกเพื่อใช้สิทธิไม่เสียภาษี โดยทำอยู่บริษัทเดียว

กรณีนี้ผู้บริหารเชฟรอนและผู้บริหารในกรมศุลกากรไม่รู้ได้อย่างไร!?

2)พรบ.ปิโตรเลียม 2514 มาตรา70 ไม่ได้ยกเว้นภาษีให้กับน้ำมันที่นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ และแม้แต่อุปกรณ์ที่มีการยกเว้นภาษีตามมาตรา70นั้น ก็ยกเว้นเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรศุลกากรเท่านั้น แต่ไม่ยกเว้น ”ภาษีสรรพสามิต”

จึงเป็นข้อพิรุธสำคัญที่มาใช้ช่องทางศุลกากรว่าเป็นการส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อยกเว้นทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และกองทุนน้ำมัน ใช่หรือไม่

3)หากแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักร ในการสำแดงสินค้าส่งออกเหตุใดจึงสำแดงเฉพาะ”น้ำมัน” อย่างเดียว ทั้งที่เรือสนับสนุนต้องขนส่งอุปกรณ์ อาหารการกินต่างๆจากชายฝั่งไปแท่นขุดเจาะ จึงต้องปฏิบัติพิธีการส่งออกสินค้าอื่นด้วย แต่มิได้สำแดง ใช่หรือไม่???

4)หากแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักรไทยเหตุใดเชฟรอนต้องมาขอสัมปทานจากรัฐบาลไทย !?

แล้วเชฟรอนยังอ้างว่าไม่เจตนาได้หรือไม่?

ที่สำคัญ การที่กรมศุลกากรตีความช่วยเชฟรอนว่าแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักรไทย จะก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างใหญ่หลวง กล่าวคืออาจทำให้ประเทศเพื่อนบ้านนำการตีความของศุลกากรไทยไปเป็นประโยชน์ในการอ้างว่าแท่นขุดเจาะนั้นอยู่ในอาณาจักรของเขาก็ได้ ใช่หรือไม่

5)ในเดือนมีนาคม 2557 ศาลฎีกาแผนกภาษีที่มีท่านพรเพชร วิชิตชลชัย(ปัจจุบันเป็นประธานสนช.)เป็นประธานองค์คณะได้ตัดสินคดีที่บริษัทคุณนทีฟ้องกรมสรรพากรว่าเรือของบริษัทต้องได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นศูนย์เพราะแล่นอยู่ในพื้นที่เกิน12 ไมล์ทะเลที่เป็นนอกราชอาณาจักร

ศาลฎีกาตัดสินว่าเรือของโจทก์ที่แล่นระหว่างแท่นขุดเจาะเอราวัณ บงกช และปลาทอง มายังมาบตาพุด จ.ระยอง และเกาะสีชัง จ.ชลบุรีถือว่าอยู่ในราชอาณาจักรตามประมวลรัษฎากรมาตรา2 ที่บัญญัติว่าไหล่ทวีปถือเป็นราชอาณาจักรไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีนี้ชัดเจนยิ่งกว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเป็นคำพิพากษาฎีกาด้านภาษี และระบุชัดเจนว่าแท่นเอราวัณ แท่นบงกช และแท่นปลาทองอยู่ในราชอาณาจักรไทย แล้วข้าราชการในกรมศุลกากรไม่เคยรับรู้เลยหรือ !?

6)ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายได้ตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอนครั้งที่2ในปี2558 หลังจากบริษัทเชฟรอนถูกจับน้ำมันเถื่อน1.6ล้านลิตร ในต้นปี2557 (และยอมระงับคดีโดยให้ยึดน้ำมัน1.6 ล้านลิตร มูลค่า48ล้านบาท ซึ่งกรมศุลกากรส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินในปี2561) ว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการส่งออก ไม่ใช่การค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี แต่กลับไปเขียนบทความในวารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า แท่นขุดเจาะอยู่ในราชอาณาจักรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี2525 การส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะจึงไม่ใช่การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเนื้อหาในบทความขัดแย้งกับการตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ลงข่าวการตั้งกรรมการสอบกรณีที่ผ.อ สำนักกฎหมายตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอน และมีผลการสอบว่าเป็นการตอบข้อหารือโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

แต่เหตุใดทางกระทรวงการคลังจึงยังไม่ได้มีการพิจารณาโทษข้าราชการที่ตอบข้อหารือที่มีผลทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้านภาษี ?

กรณีอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากรที่ตอบข้อหารือเอกชนไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากหุ้น ยังถูกปปช.ชี้มูลว่ามีความผิดทั้งที่มีอำนาจในการตอบข้อหารือ แต่เมื่อตอบข้อหารือไม่ชอบตามกฎหมาย ก็มีความผิด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำคุก3ปีโดยไม่รอลงอาญา

7)บริษัทเชฟรอนอ้างว่าไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี แต่ทำตามการตอบข้อหารือของกรมศุลกากร และกรมศุลกากรก็ออกหน้ารับว่าได้ปรึกษาหารือกันมาตลอด จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นการสมคบคิดฉ้อภาษีของรัฐ ใช่หรือไม่

การตอบข้อหารือของข้าราชการหากไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เอกชนย่อมไม่สามารถอ้างเอาคำหารือมาคุ้มครองตนได้ เพราะคำตอบข้อหารือไม่ใช่เป็นข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

ข้อพิรุธเหล่านี้แสดงได้ชัดเจนว่าการฉ้อภาษีของรัฐครั้งนี้ น่าจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในกรมศุลกากรกับบริษัทเอกชน ใช่หรือไม่?

แล้วกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนี้ยังนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร?

การยกเลิกใบขน 336ใบขนที่สำแดงเท็จส่งออกของเชฟรอน ซึ่งต้องนำมาดำเนินคดี และมาตรา27 ของพรบ.ศุลกากร 2469 ความผิดฐานลักลอบของที่ไม่เสียภาษี มีโทษปรับ4เท่าของมูลค่าสินค้ารวมอากร สมมติน้ำมันใน336ใบขน มีมูลค่า 1หมื่นล้านบาท ปรับ4เท่า คือปรับ4หมื่นล้านบาท

การยกเลิกใบขน 336 ใบขนจึงเป็นการทำลายหลักฐานเพื่อไม่ให้มีการลงโทษทั้งข้าราชการและปรับเชฟรอนที่สมคบกันฉ้อภาษีรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่หรือไม่?

หากกรมศุลกากรไม่มีข้าราชการดีๆที่ออกมาส่งเสียงไม่ยอมให้การฉ้อภาษีเช่นนี้ดำเนินต่อไป รัฐบาลย่อมสูญเสียภาษีมากกว่า2,100ล้านบาท อาจจะเป็นหมื่นล้านหรือแสนล้านก็ได้ ใช่หรือไม่?

แม้คณะอนุกมธ.จะบอกว่ามีอำนาจในขอบเขตจำกัด ทำได้แค่การดูเรื่องการจัดเก็บรายได้ให้ถูกต้อง แต่กรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ดิฉันและคุณธีระชัยเสนอว่าคณะอนุกมธ.ควรนำเสนอเรื่องนี้ต่อให้คณะอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยฉพาะอย่างยิ่งท่านพรเพชร วิชิตชลชัยประธานสนช.เคยเป็นประธานองค์คณะที่เคยตัดสินคดีเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยเรื่องแท่นขุดเจาะอยู่ในราชอาณาจักร สมควรที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้อย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยปละละเลยกรณีนี้ ข้าราชการและเอกชนจะไม่เข็ดหลาบ และสามารถเป็นผู้เจาะรูรั่วให้กับกระเป๋าเงินของแผ่นดินได้อีกในอนาคต

รสนา โตสิตระกูล
4 ตุลาคม 2561