“ข้ออ้างเปิดเสรีก๊าซ และเปิดเสรีผลิตไฟฟ้า เป็นโร้ดแม็ปกินรวบพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ ใช่หรือไม่”

“ข้ออ้างเปิดเสรีก๊าซ และเปิดเสรีผลิตไฟฟ้า เป็นโร้ดแม็ปกินรวบพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ ใช่หรือไม่”

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“ข้ออ้างเปิดเสรีก๊าซ และเปิดเสรีผลิตไฟฟ้า เป็นโร้ดแม็ปกินรวบพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ ใช่หรือไม่”

 

ในบทความ"ขอแทรกวิวาทะระหว่างกรณ์กับปิยสวัสดิ์"ของคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ดิฉันช่วยยืนยันข้อมูลข้อสุดท้ายในบทความคุณธีระชัยว่า เป็นเรื่องจริงที่ผู้แทนกลุ่มบริษัท ปตท.เคยให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาที่ดิฉันเป็นประธานว่า


“มีการขายก๊าซแอลพีจีให้แก่บริษัทปิโตรเคมีในเครือปตท.ถูกกว่าที่ขายให้ลูกค้าทั่วไป โดยราคาก๊าซแอลพีจีที่ขายให้บริษัทในเครือใช้หลักการแบบ net back ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณกลับจากราคาขายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติคของบริษัทปิโตรเคมี หักด้วยต้นทุนและผลตอบแทนของบริษัทปิโตรเคมี ราคาก๊าซแอลพีจีที่ขายตามหลักการดังกล่าวจึงมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซในตลาดโลก โดยปตท.ขายราคานี้เฉพาะบริษัทปิโตรเคมีในเครือปตท.เท่านั้น”


ในขณะที่ปตท.ขายก๊าซแอลพีจีให้แก่ลูกค้าที่เป็นบริษัทปิโตรเคมีทั่วไปในราคาตลาดโลก บริษัทปิโตรเคมีในเครือของปตท.จึงมีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่าบริษัทอื่นและย่อมสามารถแข่งขันราคาในตลาดได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ


การขาย2ราคาแบบนี้ มีความเป็นธรรมทางการค้าหรือไม่!?

นอกจากขายก๊าซแอลพีจีให้บริษัทปิโตรเคมีอื่นๆในราคาตลาดโลกแล้วก๊าซแอลพีจีที่ขายให้ประชาชนใช้เป็นก๊าซหุงต้ม รัฐบาลคสช.ก็ช่วยเปิดเพดานราคาให้ปตท.สามารถขายก๊าซหุงต้มให้ประชาชนในราคาตลาดโลกอีกด้วย และไม่ใช้ราคาตลาดโลกแบบราคาตกลงล่วงหน้าระยะยาว (Contract Price)แต่ให้ใช้ราคาจร (Spot Price) ที่ซาอุดิอารเบีย ซึ่งราคาจรมีราคาสูงกว่าราคาก๊าซที่ทำสัญญาล่วงหน้าระยะยาว


จะเห็นได้ว่าการที่รัฐบาลคสช.ไม่จัดการเรื่องแบ่งแยกท่อก๊าซในทะเลคืนให้รัฐให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้ปตท.ยังครอบครองท่อก๊าซในทะเล และได้รวบเอาสิทธิผูกขาดซื้อก๊าซเจ้าเดียวไปเป็นของปตท.อีกด้วย จึงทำให้ปตท.สามารถผูกขาดการซื้อก๊าซและการใช้ก๊าซราคาถูกไว้เฉพาะบริษัทในเครือปตท.แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ใช่หรือไม่


ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รัฐบาลดำเนินการ3ประการ คือ1)ให้แบ่งแยกสาธารณสมบัติคืนให้กระทรงการคลัง 2)ให้แบ่งแยกที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน และรอนสิทธิเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ 3) ให้แบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่4(บมจ.ปตท.)


สิทธิผูกขาดซื้อก๊าซเจ้าเดียว ย่อมเป็นอำนาจมหาชนที่ยังไม่ได้แบ่งแยกคืนให้กับรัฐตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ใช่หรือไม่ และสิทธิมหาชนดังกล่าวทำให้ปตท.สามารถผูกขาดการใช้ก๊าซจากอ่าวไทยในราคาถูกกว่าประชาชน และบริษัทเอกชนอื่นๆ ใช่หรือไม่ ทั้งๆที่ก๊าซในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรปิโตรเลียมหลักของประเทศ และของประชาชน


การปล่อยให้ปตท.สามารถขยายกิจการไปสู่การผลิตไฟฟ้า ย่อมเป็นการต่อขยายการผูกขาดด้านพลังงานจากน้ำมัน และก๊าซไปถึงธุรกิจไฟฟ้า และเป็นการผูกขาดในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำอีกด้วย ใช่หรือไม่


รัฐบาลในอดีตเคยมีความพยายามในการแปรรูป กฟผ.เมื่อปี2548 หลังจากแปรรูปปตท.ไปในปี2544 เพียงแต่ในครั้งนั้นยังไม่สำเร็จ แม้แปรรูปกฟผ.ไม่สำเร็จแต่กฟผ.ก็ถูกล้วงไส้ไปทำกำไรให้เอกชนมากมายแล้ว การปล่อยปตท.เข้ามาในธุรกิจผลิตไฟฟ้าคือแนวทางที่ต้องการยึดกิจการพลังงานไปเป็นธุรกิจของเอกชน ตามแนวทางการแปรรูปที่ไม่สำเร็จ เป็นโร้ดแม็ปเดิมเพื่อ “กินรวบพลังงาน” ของประเทศให้เอกชนใช่หรือไม่

รสนา โตสิตระกูล
14 ก.ย 2561