“ขอเรียกร้องให้ ปปป.เข้ามาตรวจสอบคดีที่อธิบดีกรมศุลฯไม่ดำเนินคดีกับเชฟรอนที่สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีน้ำมัน”

“ขอเรียกร้องให้ ปปป.เข้ามาตรวจสอบคดีที่อธิบดีกรมศุลฯไม่ดำเนินคดีกับเชฟรอนที่สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีน้ำมัน”

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“ขอเรียกร้องให้ ปปป.เข้ามาตรวจสอบคดีที่อธิบดีกรมศุลฯไม่ดำเนินคดีกับเชฟรอนที่สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีน้ำมัน”

 

ข่าวเรื่องปปป.เชือดเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวโกงภาษีน้ำมัน เปิดปฏิบัติการตรวจค้น 6 จุด ทั่วประเทศ 29 ก.ย.นี้ พบว่าเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต 3 คน กรมศุลกากร 4 คน โกงภาษีน้ำมันไปขายต่อให้ บ.เวียงมิง ในประเทศเมียนมา พบทำมาแล้ว 36 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท

คดีดังกล่าวพบว่ามีบริษัทผู้ค้าน้ำมันแห่งหนึ่ง ทำเรื่องขอซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมัน ใน จ.ชลบุรี ตามมาตรา 7 ที่มีสิทธิ์ขอยกเว้นหรือคืนภาษีตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต 2560 อ้างว่า นำไปขายต่อให้ บ.เวียงมิง ในประเทศเมียนมา จากนั้นบริษัทผู้ค้ามอบหมายให้ บริษัทขนส่งไปรับน้ำมัน ที่โรงกลั่นเพื่อขนไปส่งที่ชายแดนเมียนมา จ.ตาก แต่บริษัทขนส่งกลับแวะขายให้ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง จ.พิษณุโลก จำนวน 32,000 ลิตร ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ส่วนน้ำมันที่เหลือก็ส่งให้ชายแดน อ.เเม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบทำมาแล้ว 36 ครั้ง แต่หลักฐานมีการยืนยันกระทำผิดแค่ 10 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท เบื้องต้นมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 4 ราย ซึ่งศาลได้ตัดสินความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 27 ร่วมกันลักลอบขายสินค้าที่ยังไม่ได้เสียภาษี ใน พ.ศ.2557

ดิฉันขอเรียกร้องให้กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้ามาตรวจสอบคดีโกงภาษีน้ำมันขนาดใหญ่กว่า มูลค่าสูงกว่าคดีข้างต้น คือกรณีที่ด่านศุลกากรที่มาบตาพุดยกเลิกใบขน336 ใบ ของบริษัทเชฟรอนที่สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยไม่มีอำนาจ อ้างว่าถ้าไม่ยกเลิกใบขนที่สำแดงเท็จจะทำให้เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันจากเชฟรอนไม่ได้ และอธิบดีศุลกากรซึ่งมีอำนาจเต็มแต่ปล่อยปละให้นายด่านที่ไม่มีอำนาจไปยกเลิกใบขนที่เป็นการสำแดงเท็จของเอกชนที่ต้องนำมาดำเนินคดี

กรณีเชฟรอนสำแดงส่งออกเป็นเท็จเพื่อฉ้อภาษีน้ำมันสรรพสามิตเกิดขึ้นตั้งแต่ปี2554-2557 และ ‭2558-2559‬ รวมมูลค่าภาษีประมาณ 3พันล้านบาท กรณีนี้หากไม่มีข้าราชการดีๆในกรมศุลกากรทักท้วง ไม่ยอมให้กระทำต่อไปเพราะเห็นว่ารัฐจะเสียหายมหาศาลจากการหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมัน ทำให้เป็นข่าวดังที่สังคมรับรู้กันทั่วและให้ความสนใจติดตาม จนอธิบดีกรมศุลกากรต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และผลการพิจารณาชี้ว่า การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต

หากกรณีนี้ไม่เกิดเป็นข่าวดังขึ้น การหลบเลี่ยงภาษีโดยมีข้าราชการสมรู้ร่วมคิด หรือปล่อยปละละเลย ย่อมทำให้รัฐต้องถูกฉ้อภาษีน้ำมันไปมหาศาล ย่อมมีมูลค่ามากกว่า3พันล้านบาทอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่

แม้เชฟรอนจะนำเงินภาษีที่ได้หลีกเลี่ยงไปมาจ่ายคืนให้กรมสรรพสามิต แต่ก็ไม่พ้นความผิดที่ฉ้อภาษีของรัฐ ต้องจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้กรมสรรพสามิต ส่วนกรมศุลกากรต้องนำเอกสารการสำแดงเท็จส่งออกมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีมาดำเนินคดี และต้องดำเนินคดีกับข้าราชการที่มีส่วนร่วมให้เอกชนเลี่ยงภาษีของรัฐด้วย เช่นเดียวกับการที่บก.ปปป.ดำเนินคดีโดยเอาผิดทั้งเอกชนและข้าราชการที่มีเอี่ยวในการเปิดทางให้เอกชนฉ้อโกงภาษีของรัฐ ที่มีการสำแดงเท็จว่าส่งออกน้ำมันไปพม่า แต่เอามาขายในประเทศ ใช่หรือไม่

การสำแดงเท็จว่าส่งออกน้ำมันเพื่อไม่ต้องจ่ายภาษีของเชฟรอนเพิ่งดำเนินการในปี2554 ทั้งที่เชฟรอนได้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยกว่า40ปี และตลอด40ปีที่ผ่านมาก็เสียภาษีน้ำมันเหมือนผู้รับสัมปทานรายอื่นๆ แต่ในปี2554 ก็มีปรากฎการณ์ที่เชฟรอนเพียงบริษัทเดียวเกิดข้อสงสัยว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะที่เอราวัณเป็นการส่งออกหรือไม่ เมื่อมาหารือผู้บริหารในกรมศุลกากร แทนที่ข้าราชการในกรมศุลกากรจะยืนยันหนักแน่นว่าต้องดูจากพรบ.ปิโตรเลียม 2514 ที่บัญญัติว่าแท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปอยู่ในราชอาณาจักรไทย และน้ำมันไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา70 หากข้าราชการระดับสูงในกรมศุลกากร ไม่ตอบข้อหารือแบบเปิดช่องให้เชฟรอนไปใช้อ้าง และสำแดงเท็จ เอกชนย่อมไม่สามารถฉ้อภาษีของรัฐได้ ใช่หรือไม่

จึงต้องมีการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ และฝ่ายบริหารว่ามีเอี่ยวหรือไม่ที่ให้คำปรึกษาที่เปิดช่องให้เอกชนใช้อ้างในการหลีกเลี่ยงภาษีและยังปล่อยปละให้มีการสำแดงเท็จว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกที่ได้รับยกเว้นภาษี

บริษัทเชฟรอนถูกจับน้ำมันเถื่อนที่ขายให้กับเรือสนับสนุน มาวิ่งในอ่าวไทยเพื่อรับส่งอุปกรณ์และพนักงานบนแท่นขุดเจาะกับแผ่นดินใหญ่ที่ด่านสงขลาในต้นปี2557 และยอมให้ยึดน้ำมันเถื่อน1.6ล้านลิตร มูลค่า48ล้านบาท และกรมศุลกากรเพิ่งส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินเมื่อปี2561

หลังจากถูกจับและถูกยึดน้ำมันเถื่อนแล้ว เชฟรอนก็หาเข็ดหลาบไม่ ยังกลับมาหารือกรมศุลกากรอีกในปี2558 และก็สำแดงเท็จในการส่งออกระหว่างปี2558-2559 เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีน้ำมันให้กับรัฐอีก จนเรื่องแดงขึ้นมา

กรมศุลกากรยังออกมาตั้งโต๊ะแถลง เมื่อ29 ส.ค 2561 ปกป้องเชฟรอนว่าไม่มีเจตนาสำแดงเท็จส่งออกเพราะมีการหารือกับกรมศุลกากรมาตลอด และยังแถลงว่าต้องยกเลิกใบขน336 ฉบับเพื่อไม่ให้เชฟรอนใช้สิทธิยกเว้นภาษีอีก ซึ่งคำแถลงดังกล่าวย่อมเป็นหลักฐานสำคัญให้ตั้งเป็นข้อสังเกต ว่าการฉ้อภาษีของรัฐคดีนี้ เป็นขบวนการร่วมมือกัน ระหว่างข้าราชการกรมศุลกากรและบริษัทเอกชน ใช่หรือไม่

ข้ออ้างว่าต้องยกเลิกใบขนเพื่อไม่ให้เชฟรอนไปใช้สิทธิในการไม่เสียภาษีอีก และการนำภาษีที่ไม่ได้จ่ายไปจ่ายไว้กับกรมสรรพสามิตประมาณ3พันล้านนั้น
จะได้ไม่กลายเป็นลาภมิควรได้ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในเมื่อน้ำมันที่ส่งไปแท่นขุดเจาะไม่ใช่การส่งออก เป็นการใช้ในประเทศ ย่อมต้องเสียภาษีน้ำมัน แต่การสำแดงน้ำมันใช้ในประเทศ ว่าเป็นการส่งออก จึงเป็นการสำแดงเท็จ และยังมีหลักฐานที่เชฟรอนถูกจับในการขายน้ำมันเถื่อนให้เรือสนับสนุน และนำน้ำมันเถื่อนมาใช้ในประเทศ ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องคือต้องนำใบขนที่สำแดงเท็จมาดำเนินคดี ก็เป็นการยกเลิกสิทธิการยกเว้นภาษีของเชฟรอน เนื่องจากไม่ใช่การส่งออก กรมสรรพสามิตก็สามารถเก็บภาษี พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มได้

แต่ข้ออ้างว่าจะเก็บภาษีได้ ต้องยกเลิกใบขนที่สำแดงเท็จจึงมีพิรุธว่าจะเป็นการช่วยเหลือบริษัทเอกชนให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี และจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และยังเป็นการช่วยปกป้องข้าราชการกรมศุลกากรที่มีเอี่ยวกับเอกชนให้มีการฉ้อภาษีของรัฐไม่ต้องได้รับการลงโทษด้วย ใช่หรือไม่

การที่กฎหมายบัญญัติให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจเต็มในการบริหารงานของกรมศุลกากร แต่อธิบดีไม่ดำเนินการสอบสวนคดีฉ้อภาษีรัฐของเชฟรอน แต่กลับกล่าวแก้แทนเชฟรอนว่า “เมื่อไม่ใช่การส่งออก จึงต้องชำระภาษีสรรพสามิต ดังนั้น เมื่อไม่ใช่การส่งออก เป็นการใช้ภายในประเทศ จึงไม่มีอากรศุลกากร และไม่มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร” แต่ในข้อเท็จจริงความผิดของเชฟรอนเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องดำเนินคดี แต่การที่อธิบดีไม่ดำเนินคดีและยังปล่อยให้มีการยกเลิกใบขนที่เป็นหลักฐานในการกระทำผิด อธิบดีจึงสมควรถูกตรวจสอบโดยปปป.และปปช.ว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดเพื่อช่วยบริษัทเอกชนที่ฉ้อภาษีไม่ต้องรับโทษใช่หรือไม่

คดีเชฟรอนสำแดงเท็จเพื่อใช้สิทธิไม่ต้องจ่ายภาษีน้ำมันคดีนี้ใหญ่กว่าคดีที่บก.ปปป.จับการสำแดงเท็จส่งออกน้ำมันไปพม่า แต่เอามาขายในไทยหลายสิบเท่า เฉพาะเบี้ยปรับตามกฎหมายศุลกากรคือ4เท่าของมูลค่าสินค้า หากปรับกันจริงจังโดยไม่ลูบหน้าปะจมูก เชื่อได้ว่า เงินค่าปรับที่จะได้เป็นรายได้แผ่นดินนั้น น่าจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

หากหน่วยงานอย่างปปป.และปปช.ไม่ตรวจสอบจัดการคดีของบริษัทยักษ์ใหญ่ จะกลายเป็นข้อครหาได้ว่า ดีแต่แข็งขันจับแค่ปลาซิวปลาสร้อย แต่ไม่กล้าจับพวกตัวใหญ่ๆแบบพวกปลาฉลาม เป็นเพียงปาหี่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ต่างจากการไล่จับนาฬิกา
แบรนด์เนมของชาวบ้านแต่พอกับนาฬิกาหรูของนายพล ก็หัวหดกันเสียแล้ว ใช่หรือไม่

รสนา โตสิตระกูล
19 ก.ย 2561

‭https://mgronline.com/crime/detail/9610000093472‬