“กรมศุลฯออกตัวแรงป้องเชฟรอนไม่มีเจตนาหนีภาษี ระวังเป็นการเข้าข่ายสมคบคิดช่วยเอกชนหนีภาษีหรือไม่!?!”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“กรมศุลฯออกตัวแรงป้องเชฟรอนไม่มีเจตนาหนีภาษี ระวังเป็นการเข้าข่ายสมคบคิดช่วยเอกชนหนีภาษีหรือไม่!?!”
เมื่อวานนี้ (29 ส.ค 2561)กรมศุลกากรตั้งโต๊ะชี้แจงกรณีเชฟรอนไม่มีเจตนาหนีภาษี เนื้อหาสำคัญสรุปได้2ประเด็น
1)กรมศุลฯอ้างว่าการสำแดงการส่งออกด้วยรหัสzzไปเขตต่อเนื่องเป็นปฏิบัติการครั้งแรกที่คลาดเคลื่อน ส่วนการสำแดงรหัสYY เป็นการสำแดงตรงตามความเป็นจริง จึงมิใช่”การสำแดงเท็จ” และยังออกรับอีกว่า มีการหารือกับกรมศุลฯโดยตลอด และกรมศุลฯไม่พบพฤติการณ์เจตนาฉ้อค่าภาษีตามที่(บทความของดิฉัน)กล่าวอ้างแต่อย่างใด
2)กรมศุลฯกล่าวอ้างว่าถ้าไม่ยกเลิกใบขน 336 ฉบับ จะมีผลให้คำสั่งยกเว้นภาษีสรรพสามิตยังคงชอบด้วยกฎหมาย ถ้ากรมสรรพสามิตรับเงินภาษีไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงอาจเป็นเหตุต้องคืนเงินให้เชฟรอนในฐานลาภมิควรได้ โดยอ้างหนังสือสตง.เป็นผู้แนะนำ
ดิฉันขอชี้แจงโต้แย้งคำแถลงของกรมศุลฯดังนี้
1)แท่นขุดเจาะอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคำพิพากษาฎีกาที่2899/2557 ที่ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัยเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาได้พิพากษาว่าฐานขุดเจาะบงกช ฐานขุดเจาะปลาทอง และฐานขุดเจาะเอราวัณมายังท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ท่าเรือศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ดังนั้นการยื่นใบขนสินค้าขาออกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคือ ”การสำแดงส่งออกเป็นเท็จ” เพื่อใช้สิทธิในการยกเว้นภาษี เพราะการสำแดงส่งออกไปประเทศปลายทาง zz หรือ yy จะต้องมีการส่งน้ำมันออกไปนอกราชอาณาจักรจริงๆ แต่กรณีนี้ไม่มีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามที่สำแดงในใบขนสินค้า จึงเป็นการสำแดงเท็จ
2)ข้ออ้างว่าถ้าไม่ยกเลิกใบขน จะทำให้เก็บภาษีไม่ได้นั้น ไม่จริงและไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ใช่การส่งออก แต่สำแดงเท็จว่าเป็นการส่งออก แสดงว่าเป็นการฉ้อภาษีของรัฐ ที่อ้างว่าไม่เจตนาก็ไม่พ้นผิด ขอให้อธิบดีกรมศุลฯดูบทบัญญัติมาตรา16 พรบ.ศุลกากร ฉบับที่9 พ.ศ 2482 “การกระทำตามมาตรา27 (ของที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เสียต้องถูกดำเนินคดีอาญาและปรับ4เท่า) และมาตรา99 (การสำแดงเท็จ)ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่”
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือกรมศุลฯต้องนำใบขนมาดำเนินคดี พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ตามมาตรา27 เพื่อไม่ให้การยกเว้นภาษีมีผลทางกฎหมาย ก็เก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่มได้ เหมือนกรณีการโกงเงินชดเชยโดยไม่ได้ส่งออกจริง กรมศุลฯก็ถือเป็นการสำแดงเท็จและมีการดำเนินคดีกับผู้ส่งออก และดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจปล่อยของอยู่ ใช่หรือไม่
การเรียกคืนภาษีที่ไม่มีสิทธิได้รับ มิใช่ลาภมิควรได้ตามที่กรมศุลฯพยายามเบี่ยงเบนความเข้าใจของสังคมว่าต้องรีบยกเลิกใบขน(โดยไม่ดำเนินคดีเอาผิด) เพราะมีอายุความ1ปี มิเช่นนั้นจะเรียกเก็บภาษีไม่ได้ แต่กรณีนี้เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของแผ่นดินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ
3)ใบขนสินค้าขาออกมิใช่คำสั่งทางปกครอง การที่สตง.ขอให้เพิกถอนใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวจึงน่าจะคลาดเคลื่อนจากมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ พ.ศ.2539 ที่ให้เพิกถอนได้เฉพาะที่เป็นคำสั่งทางปกครองเท่านั้น
4)ข้ออ้างว่าการกระทำของเชฟรอนไม่มีเจตนาน่าจะฟังไม่ขึ้น เพราะเชฟรอนยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นการส่งออกจริง เอกสารสำแดงใบส่งออกนั้นย่อมสามารถนำมาขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ที่เชฟรอนไม่ขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะในมาตรา2 ของประมวลรัษฎากร บัญญัติชัดเจนว่า “ประเทศไทย หรือ ราชอาณาจักร หมายถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทย...” เชฟรอนจึงยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจะอ้างว่าไม่เจตนาย่อมฟังไม่ขึ้น ใช่หรือไม่
5)มีข้อพิรุธว่าผู้บริหารกรมศุลกากรรู้เห็นเป็นใจให้เอกชนหลบเลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่
5.1)พรบ.ศุลกากรฯบัญญัติให้ใช้ร่วมกับกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ”ของ”ที่ส่งออกและนำเข้า เรื่องน้ำมันจึงต้องไปใช้นิยามของพรบ.ปิโตรเลียมฯที่บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา4 ว่า “ราชอาณาจักร” หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปและตามสัญญากับต่างประเทศด้วย” ประกอบความเห็นกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่28/2525 ที่มีความเห็นว่าก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ในเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยถือว่าอยู่ในเขตราชอาณาจักร จึงไม่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า
เชฟรอนส่งก๊าซมาขายจากแท่นขุดเจาะเอราวัณไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า เพราะเป็นราชอาณาจักร แต่ส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นเอราวัณอ้างเป็นนอกราชอาณาจักร เพื่อยกเว้นภาษี เป็นเจตนาหลีกเลี่ยง ใช่หรือไม่
5.2)นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรเป็นบอร์ดของปตท.สผ.ไม่สงสัยหรือว่าเหตุใดปตท.สผ.จึงซื้อน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปแบบเสียภาษี และผู้รับสัมปทานราย อื่นๆก็ไม่มีใครสำแดงส่งออกน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีแบบเชฟรอน ใช่หรือไม่ !?!
5.3)การยกเลิกใบขนที่เป็นเท็จโดยไม่ดำเนินคดีกับเชฟรอนเป็นการทำลายหลักฐานเพื่อช่วยทั้งเชฟรอนไม่ให้ถูกปรับและถูกดำเนินคดีทางอาญา และเพื่อไม่ให้ข้าราชการในกรมศุลฯที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดช่วยให้เอกชนหนีภาษี ต้องรับผิดด้วย ใช่หรือไม่
วิญูชนย่อมมีคำถามว่า คำตอบข้อหารือที่ทำให้เอกชนสามารถประหยัดภาษีได้3พันล้านบาท ผู้ช่วยเหลือจะได้รับผลประโยชน์ใดบ้างหรือไม่?
หากกรณีนี้ไม่ถูกยับยั้ง ความเสียหายต่อภาษีของรัฐอาจจะกลายเป็นหมื่นล้าน แสนล้านก็เป็นได้ แล้วใครจะรับผิดชอบ!?
ดังนั้นการทุจริตขอคืนภาษีของเอกชน ทั้งโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม โกงภาษีสรรพสามิตด้วยการสำแดงการส่งออกเท็จ มีกรณีมากมายที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล เพราะโกงได้เป็นพันเป็นหมื่นล้าน และการโกงของเอกชนนั้น มีหลายๆกรณีมาจากการสมรู้ร่วมคิดของข้าราชการระดับสูงด้วย ซึ่งมีทั้งที่ถูกลงโทษแล้วด้วย ใช่หรือไม่
กรณีการหลบเลี่ยงภาษีในลักษณะที่ข้าราชการเป็นผู้เปิดไฟเขียว ชี้ช่องให้โดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และแสดงให้เห็นความเละเทะของกรมภาษีซึ่งเป็นกระเป๋าเงินของประเทศ ที่มีระบบการบริหาร การกำกับที่ไร้ประสิทธิภาพ และไม่สามารถป้องกันการฉ้อโกงภาษีของบริษัทใหญ่ๆได้ จึงควรต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ โดยควรทำตามข้อเสนอของดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรที่เสนอให้ใช้ยาแรงกวาดล้างข้าราชการในระบบทุจริตคอร์รัปชันกินเมืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก่อนที่บ้านเมืองจะหายนะมากไปกว่านี้
รสนา โตสิตระกูล
อดีตประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
30 ส.ค 2561
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_150705