“กลุ่มทุนทุกสายมุ่งสู่กัญชา เพื่อหวังรวย !?”

“กลุ่มทุนทุกสายมุ่งสู่กัญชา เพื่อหวังรวย !?”

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“กลุ่มทุนทุกสายมุ่งสู่กัญชา เพื่อหวังรวย !?”

 


ข่าวเมื่อ10ก.ย 2561 ระวัง!ซีพี-ปตท.ผูกขาดประเทศ ยึดรถไฟความเร็วสูง-ธุรกิจยา : คอลัมน์… กวาดบ้านกวาดเมือง โดย… ลมใต้ปีก
https://www.springnews.co.th/column/342933
มาวันนี้มีข่าวว่า “ปตท.ยันไม่ล้มแผนผุดโรงงานยารักษามะเร็ง เพียงรอองค์การเภสัชกรรมส่งเรื่องมาก็พร้อมลุยก่อสร้างโดยเร็ว หวังคนไทยเข้าถึงยาในราคาที่ถูก ส่วนรูปแบบความร่วมมือยังไม่สรุป”


ต้องขอตั้งคำถามว่า รัฐบาลกำลังจะแปรรูปองค์การเภสัชอีกองค์กร เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนต่างๆเข้ามาหาแสวงหาความร่ำรวยจากธุรกิจยาและกัญชา ใช่หรือไม่!?


ในข่าว ปตท.กล่าวว่า “หวังให้คนไทยเข้าถึงยาราคาถูก..” ดิฉันว่า รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่แทนประชาชน ควรกำหนดมาตรการเพื่อให้ ปตท.ดูแลราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้มที่อยู่ในสายการผลิตหลักของตนเองที่ขายคนไทยให้มีราคาเป็นธรรมเสียก่อนจะดีกว่าไหมคะ !? ก่อนที่จะทำให้คนไทยจะเชื่อว่าเมื่อมีกลุ่มทุนเอกชนเข้ามาเอี่ยวกับการผลิตยาของรัฐวิสาหกิจแล้วจะทำให้ยามีราคาถูกลง


การกลั่นน้ำมันที่อยู่ในสายการผลิตของปตท. จนสามารถส่งออกเป็นล่ำเป็นสัน แต่รัฐบาลยังปล่อยให้ปตท.ใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายคนไทยเป็นราคานำเข้าจากสิงคโปร์ราวกับเราไม่มีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ จนต้องมีการนำเข้าจริงจากสิงคโปร์ ใช่หรือไม่!?


ก๊าซหุงต้ม ที่เป็นที่มาของคำว่า ไทยจะโชติช่วงชัชวาล เพราะพบแหล่งพลังงานในบ้าน รัฐบาลในอดีตกำหนดให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซหุงต้มก่อนภาคส่วนอื่นๆ และให้ประชาชนได้ใช้ในราคาควบคุมที่มีราคาถูก เป็นธรรม เพราะเป็นทรัพยากรในบ้านตัวเอง เมื่อเหลือจึงให้ภาคส่วนอื่นเช่นภาคปิโตรเคมีได้ใช้


ต่อมารัฐบาลสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ก็เปลี่ยนหลักเกณฑ์ให้ปิโตรเคมีมาใช้ร่วมกับภาคครัวเรือน เหลือค่อยให้ภาคส่วนอื่นได้ใช้ ปรากฎว่าปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกที่เป็นเอกชน ได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาถูกกว่าประชาชน ใช่หรือไม่?


ประชาชนจึงต้องใช้ก๊าซแพงขึ้นเมื่อการปิโตรเลียมที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจ ถูกแปรรูปให้เอกชนเข้ามาแบ่งผลกำไร และเมื่อคสช.เข้ามาบริหารประเทศ ได้ยกเลิกราคาควบคุมที่ขายให้ประชาชน แถมด้วยการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มแบบ100% คือให้ประชาชนใช้ก๊าซหุงต้มในราคานำเข้าจากซาอุดิอารเบีย + ค่าโสหุ้ยนำเข้าจากซาอุฯ ทั้ง100% ทั้งที่ก๊าซหุงต้มส่วนใหญ่ผลิตได้ในประเทศจากก๊าซดิบในอ่าวไทย มีการนำเข้าไม่ถึง10% ใช่หรือไม่?


ถ้าเปรียบกับนิทานเรื่องม้าอารี ที่มีรางหญ้า รางอาหารเป็นของตนเอง อิ่มหมีพีมันทุกคืนวัน ต่อมาคนดูแลคอกม้า ไปเอาม้าอาคันตุกะเข้ามาร่วมกินอาหารด้วย นานเข้าม้าเจ้าของคอกเริ่มถูกม้าอาคันตุกะเบียดออกห่างจากรางอาหารของตน และในที่สุดก็ถูกถีบออกไปหากินนอกคอกของตัวเอง เหมือนประชาชนที่ต้องใช้ก๊าซที่เป็นทรัพยากรในบ้านของตนเองในราคานำเข้าจากซาอุฯ


ปัจจุบันม้าอาคันตุกะกลายเป็นเจ้าของรางหญ้า รางอาหารแทนม้าอารีที่เป็นเจ้าของ ม้าอารีต้องกินอาหารจากหญ้าในรางของตนในราคานำเข้าจากนอกประเทศ นี่คือนิทานเรื่องรัฐวิสาหกิจพลังงาน


ปตท.มักอ้างว่าตนเองเป็นแค่ฝ่ายปฏิบัติ รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ราคาอย่างไร ตนก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งในทางนิตินัยก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีพฤติการณ์อุ้มกลุ่มทุนมากกว่าคุ้มครองประชาชน ใช่หรือไม่


ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลใน5ปีที่ผ่านมา ได้ยอมให้กลุ่มทุนเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนโยบายอุ้มกลุ่มทุนให้ได้ประโยชน์จากนโยบายสาธารณะของรัฐ อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง มากกว่าการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ใช่หรือไม่?


องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีหน้าที่ผลิตยาคุณภาพ แต่ราคาถูกให้ประชาชนเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงยาจำเป็นในราคาถูกกว่ายาของบริษัทเอกชน นอกจากนี้องค์การเภสัชยังเป็นตัวถ่วงดุลราคายาของเอกชนที่มีราคาแพง เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจยา เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล องค์การเภสัชจึงเป็นเป้าหมายของกลุ่มทุนที่หวังรวยจากการผูกขาด โดยอาศัยนโยบายของรัฐ เพื่อการแสวงหากำไรจากยาซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของประชาชน


องค์การเภสัชกรรมไม่ใช่บริษัทเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการทำกำไรสูงสุด จึงควรต้องยึดมั่นกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม คือการผลิตยาคุณภาพในราคาถูกเพื่อประชาชน ไม่จำเป็นต้องหวังร่ำหวังรวยด้วยการไปร่วมลงทุนร่วมกับเอกชน เพราะในที่สุดแล้ว เรื่องราวจะซ้ำรอยนิทานม้าอารี เหมือนกรณีเรื่องก๊าซหุงต้มคือ จากการเป็นเจ้าของรางหญ้า รางอาหาร เมื่อปล่อยม้าอาคันตุกะเข้ามาร่วมกินอาหารในราง ต่อไปอาจจะถูกเบียดออกจากรางอาหาร จนในที่สุดเจ้าของเดิม คือประชาชนจะถูกถีบออกไปอยู่นอกคอกทรัพยากรของตนก็เป็นได้


และคอกนั้นก็จะตกเป็นของกลุ่มทุนที่เข้ามาเป็นอาคันตุกะในยามเริ่มต้นและกลายเป็นเจ้าของในที่สุด ใช่หรือไม่?


ประชาชนที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ และทรัพยากรทั้งหลายในประเทศนี้ จึงต้องจับตาดูบทละครเรื่องนี้ชนิดตาไม่กระพริบ เพื่อพิเคราะห์ว่า อุปสรรคในการเข้าถึงยากัญชา ที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐกำหนดมาขวางทางประชาชนไว้ ไม่ให้พึ่งตัวเองได้ ทั้งการไม่ให้ปลูก กีดกันตำรับยากัญชา และกีดกันการกระจายยาให้ผู้ป่วยนั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญในบทละครเรื่องเดิม ว่าด้วยการอุ้มกลุ่มทุนมาล้วงกระเป๋าประชาชน ใช่หรือไม่!?


รสนา โตสิตระกูล
18 มิ.ย 2562

https://news1live.com/detail/9620000057347