“ข้อเสนอมาตรการเฉพาะหน้าต่อ กทม.และรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5”
“ข้อเสนอมาตรการเฉพาะหน้าต่อ กทม.และรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5”
ปัญหาฝุ่นจิ๋วPM 2.5 กลายเป็นภัยด้านสุขภาพที่มาตามฤดูกาล และอาจจะกลายเป็นภัยที่มานอกฤดูกาลได้อีกด้วย
เช้าวันนี้(30 ก.ย 2562) สื่อรายงานว่า “อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 40-78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐาน 33 สถานี (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)”
อันที่จริงค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ของไทยกำหนดไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานโลกถึง 50% กล่าวคือมาตรฐานโลกกำหนดไว้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อวัน และค่าเฉลี่ยไม่เกิน12 ไมโครกรัมต่อปี หากไทยกำหนดปริมาณฝุ่นจิ๋วไว้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมตามมาตรฐานโลก อาจมีพื้นที่วิกฤติจากปริมาณฝุ่นจิ๋วเกินมาตรฐานมากกว่า 33 เขตในกทม.ตามที่กรมควบคุมมลพิษรายงานก็เป็นได้
รัฐบาลและกทม.ควรกำหนดมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติเรื่องPM 2.5 อย่างจริงจังทั้งระยะสั้นและระยะยาว
อย่างไรก็ดี ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดปริมาณฝุ่นจิ๋ว เกินค่ามาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ กทม.และรัฐบาลควรมีมาตราการแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหา ดังนี้
1)กทม.และรัฐบาลควรประกาศให้ประชาชนในกทม. ขึ้นรถไฟฟ้า รถใต้ดิน และรถขนส่งสาธารณะฟรีในช่วงวิกฤติจากฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดปริมาณรถส่วนตัวบนท้องถนนลง
2)เขตที่มีปริมาณฝุ่นจิ๋วเกินค่ามาตรฐานกทม.และรัฐบาลควรประกาศปิดโรงเรียนในเขตนั้นๆ เพราะฝุ่นจิ๋วทำอันตรายเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
3)เขตที่มีปริมาณฝุ่นจิ๋วเกินค่ามาตรฐาน ควรให้อาคารและเขตก่อสร้างหยุดกิจการก่อสร้างชั่วคราวเพื่อไม่เพิ่มปริมาณฝุ่นในเขตนั้นๆ
4)รถบรรทุกขนาดใหญ่ควรกำหนดให้วิ่งในเวลากลางคืนที่มีการจราจรบนท้องถนนน้อย
5)กทม.และรัฐบาลควรให้บริการหน้ากากอนามัย N 95 ฟรีแก่เด็กนักเรียน และประชาชน หรืออย่างน้อยควรกำหนดราคากลางของหน้ากากอนามัย N 95ให้มีราคาถูก เพื่อไม่เป็นภาระกับประชาชน
หากกทม.และรัฐบาลเร่งให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเช่นนี้ ประชาชนก็จะเบาใจได้ว่าส่วนราชการได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาแม้จะเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าก็ตาม
รสนา โตสิตระกูล
30 ก.ย 2562