“ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!?” (ตอนที่1)
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!?” (ตอนที่1)
เช้าวันนี้ (24 พ.ย 2562 )ดิฉันได้รับการเชิญชวนจากกลุ่มรักษ์บางประทุนไปร่วมกิจกรรม “เรียนรู้(จัก)คลองบางประทุน หนึ่งย่านสวนริมคลองที่กำลัง..เปลี่ยนแปลง ” โดยกิจกรรมช่วงเช้าคือร่วมกันเก็บขยะในคลองบางประทุน ซึ่งนอกจากคนหนุ่มสาวกลุ่มรักษ์คลองบางประทุนในพื้นที่ ที่ต้องการฟื้นชีวิตคลองแล้ว ก็ยังมีคนหนุ่มสาวชาวกรุงนอกพื้นที่อีกประมาณ10คนมาร่วมกันเก็บขยะพลาสติกในคลองด้วย
คลองบางประทุนอยู่ในเขตจอมทอง ซึ่งอยู่ในส่วนกรุงธนเหนือ สมัยปีน้ำท่วมใหญ่ปี2554 ดิฉันยังเป็นวุฒิสมาชิกกรุงเทพฯ เคยร่วมมือกับชาวบ้านริมคลองฝั่งธน และข้าราชการในสำนักระบายน้ำ ในกรมชลประทาน และในกรมอู่ทหารเรือมาวางเครื่องผลักดันน้ำตามแนวพระราชดำริ ในคลองแนวดิ่ง ทั้งคลองสนามชัย คลองพระยาราชมนตรีและคลอง อื่นๆในฝั่งธนบุรี จนทำให้น้ำไม่ท่วมถนนพระราม2 ตามที่รัฐบาลในสมัยนั้นคาดการณ์ไว้ เพราะมาจากความร่วมมือของบุคคลหลายฝ่ายที่มีเจตนาร่วมกัน
คลองบางประทุน เป็นคลองเชื่อมที่ระหว่างคลองสนามชัยและคลองภาษีเจริญ คนหนุ่มจากกลุ่มรักษ์คลองบางประทุน หนึ่งในผู้ริเริ่มกิจกรรมวันนี้ เคยเขียนจากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ว่า “ในอดีตคลองบางประทุนจะมีต้นโมกและพรรณไม้นานาชนิด กิ่งก้านสาขาใบหนาแน่นและโง้งลงมาชนกันจนเป็นหลังคา แสงเดือน แสงตะวันจะลอดใบไม้ออกมาเพียงรำไร กลิ่นหอมของโมกโชยฟุ้งทั่วคลอง คนสมัยก่อนจึงเรียกคลองนี้ว่า คลองบางประทุน เพราะมีแมกไม้ดุจหลังคาประทุนที่ให้ร่มเงา”
ปัจจุบันสภาพชีวิตชาวคลองบางประทุน รวมถึงชีวิตชาวคลองอื่นๆในฝั่งธนบุรีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างขนานใหญ่ หมู่บ้านยุคใหม่เริ่มรุกเข้ามาในพื้นที่ การตัดถนนโดยไม่ได้ออกแบบสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนริมคลอง ยิ่งกว่านั้นคลองที่เคยเป็นทางสัญจรของชาวบ้าน กลายเป็นที่ระบายน้ำเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านขนาดใหญ่ และบ้านเรือนชาวบ้านที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ คลองกลายเป็นที่ทิ้งขยะ ระบบนิเวศน์ก็เสื่อมโทรมลง สัตว์น้ำหลายชนิดหายไป ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนมาเดินทางทางบก ชาวบ้านขาดแคลนน้ำใช้และน้ำสำหรับทำเกษตร
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รุกเข้ามาในพื้นที่ แต่ชีวิตดั้งเดิมยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง พระวัดบางประทุนนอก ยังพายเรือออกรับบาตรทุกเช้า แม้การสูบน้ำในคลองของเจ้าหน้าที่ กทม.จะไม่สนใจวิถีการดำเนินชีวิตของคนริมคลองก็ตาม
วันนี้ขณะที่พายเรือเก็บขยะในคลอง มีโอกาสแวะคุยกับชาวบ้านดั้งเดิมในแถบนี้ ที่เกิดและโตจนอายุเลยวัยเกษียณเล่าให้ฟังว่า เด็กๆในย่านนี้ว่ายน้ำได้ตั้งอายุไม่ถึง3ขวบ สมัยก่อนน้ำสะอาด เวลาคืนวันลอยกระทง ชาวบ้านจะตักน้ำจากคลองตอนเที่ยงคืนมาล้างหน้า และอาบน้ำถือว่าเป็นมงคล แต่เดี๋ยวนี้น้ำไม่สะอาดเหมือนก่อนแล้ว
ปัจจุบันชาวบ้านดั้งเดิมในย่านนี้ยังเก็บน้ำฝนใส่ตุ่มไว้เป็นน้ำกิน
คนนอกพื้นที่บางคนที่เข้ามาร่วมงานวันนี้ เล่าว่าแวะเข้ามาบ่อย เพราะชอบความสงบในคลองบางประทุน ซึ่งเหมือนอีกโลกที่ unseen สำหรับคนภายนอก
น่าเสียดายที่การพัฒนาเมืองสมัยใหม่ได้ละทิ้งชีวิตคนริมคลอง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนบางกอก ที่พึ่งตนเอง มีความสงบสุขตามอัตภาพ มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน วิถีชีวิตแบบ slow life เช่นนี้เป็นสิ่งโลกสมัยใหม่กำลังใฝ่หา แต่วิถีชีวิตแบบนี้ ยังมีอยู่จริงในฝั่งธนบุรี เป็นวิถีชีวิตที่ไม่ควรถูกทำลายให้เหลือเพียงวิถีการพัฒนาเพียงแบบเดียว วิถีดั้งเดิมเช่นนี้ควรค่าแก่การรักษาไว้ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีทั้งคุณค่า และสามารถสร้างมูลค่าได้
สำหรับดิฉันเห็นว่า วิถีชีวิตของชาวบางประทุนควรได้รับการสนับสนุนให้คงอยู่ได้อย่างดีในท่ามกลางการพัฒนาเมืองสมัยใหม่
รสนา โตสิตระกูล
24 พ.ย 2562
# เมืองเปลี่ยนได้ด้วยมือเรา