ชีวิตลำคลอง เสน่ห์บางกอก (ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!? ตอน2)

ชีวิตลำคลอง เสน่ห์บางกอก (ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!? ตอน2)

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
ชีวิตลำคลอง เสน่ห์บางกอก
 
(ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!? ตอน2)
 
 
 
 
กรุงเทพมหานครเคยเป็นเมืองสวน เมืองน้ำ มาแต่เดิม  สังฆราชปาเลอกัว ซึ่งเข้ามาในสยามประเทศเมื่อปี 2373 ได้บรรยายภาพของกรุงเทพฯ ว่า “กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มตลอดปี จึงงามเหมือนภาพวาด... ท่านมองเห็นร้านค้าบนเรือนแพจำนวนนับพันเรียงเป็นสองแถวยาวตามริมฝั่งแม่น้ำ มีลำคลองที่ตัดผ่านไปรอบเมือง “ ในสมัยนั้น กรุงเทพฯ ไม่มีรถยนต์สักคันเดียว ใช้การสัญจรทางแม่น้ำและลำคลองเป็นหลัก
 
การพัฒนากรุงเทพเป็นเมืองสมัยใหม่ เราได้ละทิ้งสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อของบางกอก และคลองที่มีอยู่มากมาย กล่าวกันว่าเรามีคลองถึง1,160กว่าคลองในกรุงเทพ โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี มีถึง 649 คลอง ซึ่งปัจจุบันเราได้เปลี่ยนคลองเหล่านั้นให้เป็นเพียงที่ระบายน้ำเสีย ทั้งที่คลองยังเป็นทางสัญจร และการค้าขายของชาวบ้าน คลองมีความสำคัญสำหรับอาชีพชาวสวนของชาวกรุงเทพธนบุรี แต่การพัฒนาเมืองสมัยใหม่ เราได้ทำลายรากเหง้าเดิมไปจนแทบไม่มีเหลือ แต่ที่สำคัญคือ
ได้ทำลายปอดสีเขียวขนาดใหญ่ของมหานคร
 
พื้นที่สีเขียวด้วยแมกไม้ของกรุงเทพถูกโค่นทิ้งและเปลี่ยนเป็นป่าคอนกรีต ที่เต็มไปด้วยมลภาวะ ในขณะที่สิงคโปร์ได้ใช้เวลา50ปี สร้างเมืองที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้ ตามวิสัยทัศน์ของผู้นำสร้างเมืองที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็น City in the Garden
 
แต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารกรุงเทพฯกลับเปลี่ยนความร่มรื่นด้วยแมกไม้ของบางกอกให้กลายเป็นเมืองคอนกรีตอันแห้งแล้ง พระอาจารย์ฝรั่งชยสาโรเคยกล่าวว่า กรุงเทพ เป็น big city แต่ไม่ใช่ great city ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส เป็น great city เพราะมีต้นไม้มากในเมือง มีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ท่านเล่าว่าสมัยท่านยังอยู่ในลอนดอน เดินไป2ชั่วโมงก็สามารถเดินภายใต้ร่มไม้ตลอดทาง
 
กรุงเทพฯเคยมีฉายา “เวนิสแห่งตะวันออก” เพราะมีคลองนับพัน แต่ปัจจุบันเรามีคลองเป็นทางระบายน้ำเน่าเสีย
 
ดิฉันถามพี่แอ๊ว ชาวบ้านแห่งคลองบางประทุนว่า เราจะสามารถฟื้นฟูลำคลองในกรุงเทพธนบุรีให้กลับมาใสสะอาด และฟื้นทางสัญจรในคลองให้เป็นเวนิสตะวันออกอีกครั้งจะเป็นไปได้ไหม
 
 
 
 
พี่แอ๊วบอกคงเป็นไปไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาผู้บริหาร กทม.ไม่เคยสนใจให้ชาวบ้าน ชาวคลองเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งไม่เคยรวมเอาพื้นที่ของสวนและคลองเข้ามาอยู่ในแบบแผนการพัฒนาเมืองสมัยใหม่เลย แต่กลับปล่อยให้การพัฒนาเมืองคอนกรีตเข้ามารุกรานจนชาวสวนที่อาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นวิถีในการดำรงชีวิตแทบอยู่กันไม่ได้อีกแล้ว
 
คนหนุ่มสาวกลุ่มรักษ์คลองบางประทุน ไม่ใช่พวกโหยหาอดีตแบบคนรุ่นเก่า แต่พวกเขาและเธอ เพียงหวังที่จะสืบสานพัฒนาศักยภาพคลองให้ดำรงอยู่ร่วมมหานครสมัยใหม่อย่างมีคุณภาพและคุณค่าที่ประมาณมิได้ ดังนั้นวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาพวกเขาจึงจัดกิจกรรมที่เปิดให้คนนอกพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ (จัก)คลองบางประทุน หนึ่งย่านสวนริมคลองที่กำลัง..เปลี่ยนแปลง
 
นอกจากกิจกรรมเก็บขยะในตอนเช้าแล้ว ช่วงบ่ายก็มีการสอนวิธีสานทางมะพร้าวเป็นรูปปลาตะเพียน และกิจกรรมดนตรี ตอนบ่ายคล้อย 16.00น. โดยเป๊ก บลูสกาย ในชื่อ “River of memory” สายน้ำแห่งความทรงจำ
 
คนหนุ่มสาวชาวคลองบางประทุน ต้องการสื่อสารเสน่ห์ชีวิตริมคลองให้คนภายนอกซึมซับรับรู้ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันสืบสานวิถีชีวิตชาวคลองมิให้เหลือเพียงสายน้ำแห่งความทรงจำ แต่เป็นสายน้ำแห่งอนาคตอันสดใสที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครตลอดไป
 
รสนา โตสิตระกูล
25 พ.ย 2562
 
#เมืองเปลี่ยนได้ด้วยมือเรา
#ฟื้นฟูเวนิสบางกอก