“สายน้ำและแมกไม้ ลมหายใจของชีวิตกรุงเทพมหานคร” (ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!? ตอน3 /จบ)

“สายน้ำและแมกไม้ ลมหายใจของชีวิตกรุงเทพมหานคร” (ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!? ตอน3 /จบ)

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
“สายน้ำและแมกไม้ ลมหายใจของชีวิตกรุงเทพมหานคร”
 
(ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!? ตอน3 /จบ)
 
 
 
พื้นที่กรุงเทพฝั่งธนบุรีคือ”บางกอก” ที่ฝรั่งต่างชาติรู้จัก และเรียกขานกรุงเทพมหานคร ทับศัพท์ในนามเดิมว่า “Bangkok” นั่นเอง กรุงเทพธนบุรีในอดีตคือเวนิสตะวันออก ที่สายน้ำและแมกไม้อันร่มรื่นเป็นเสน่ห์ของบางกอกสำหรับชาวต่างชาติ
 
การพัฒนาเมืองสมัยใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในฝั่งพระนคร ทั้งตึกสูงและถนนหนทางที่มาเป็นทางสัญจรแทนที่คลอง เรือกสวนไร่นาทะยอยหมดไป คลองกลายเป็นเพียงทางระบายน้ำเสีย
 
สมัยดิฉันยังเป็นเด็ก จำได้ว่าคลองสาทรน้ำใสสะอาด มีต้นมะฮอกกานีขึ้นอยู่สองฝั่งคลองสาทรที่แสนจะร่มรื่น ต้นมะฮอกกานีเป็นทิวแถวยาวจากถนนสาทรไปถึงถนนวิทยุ ซึ่งปัจจุบันถนนวิทยุยังมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นให้เห็นอยู่บ้าง อาจเพราะมีสถานทูตต่างชาติตั้งอยู่ ซึ่งต่างจากถนนสาทรที่คลองกลายเป็นที่ตั้งเสารถไฟฟ้า และต้นมะฮอกกานีถูกตัดทิ้งหมด หรือย่านสาธุประดิษฐ์ที่เคยเป็นสวนผักและมีลิ้นจี่ชื่อดัง แต่ปัจจุบัน หมู่บ้าน คอนโดได้เข้ามาแทนที่เรือกสวนไร่นาจนไม่เหลือสภาพเดิม
 
การเปลี่ยนสภาพเป็นเมืองคอนกรีตโดยไม่สนใจรากเหง้าและสภาพทางภูมิสังคมว่า กรุงเทพเป็นเมืองน้ำ การถมคลองเป็นถนน การใช้คลองเป็นเพียงทางระบายน้ำเสีย ได้ทำลายคุณค่า และมูลค่าของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับคลอง และทำมาหากินโดยอาศัยคลอง นับเป็นการพัฒนาที่ขาดการสานต่อกับรากเหง้าอันเป็นคุณค่าดั้งเดิมของสังคมน้ำ
 
คนหนุ่มสาวชาวคลองบางประทุนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวฝั่งธนฯที่ตื่นตัวรับรู้ปัญหาของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกไล่เข้ามา ยังมีคนหนุ่มสาวอีกหลายกลุ่มที่ตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงของฝั่งธนบุรี พวกเขาไม่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงควรผสมผสานให้สิ่งเดิมได้รับการพัฒนา สานต่อ ไม่ใช่การทำลายที่มาในชื่อ การพัฒนา
 
คลองทั้งในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครยังมีศักยภาพในการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับประชาชน เส้นทางคลองในฝั่งธนและฝั่งพระนครเป็นเส้นทางสัญจรที่ไปได้รอบเมือง หากได้ปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคจากประตูน้ำของ
กทม. ซึ่งแก้ได้ไม่ยากนัก
 
การเดินทางด้วยเรือมีประสิทธิภาพและรวดเร็วไม่ต่างจากการเดินทางด้วยระบบราง และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า หากมีการพัฒนาเส้นทางสัญจรโดยอาศัยคลองเพื่อเชื่อมกับการเดินทางโดยรถไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟ จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดความแออัดการจราจรบนบกได้
 
จากคลองบางประทุนนอกหากเดินทางโดยเรือเพื่อมาต่อรถไฟฟ้าที่สถานีวุฒากาศจะใช้เวลาไม่เกิน10 นาที จากวัดบางประทุนนอกเดินทางโดยเรือไปปากคลองตลาด ใช้เวลาเพียง20นาที แต่ปัจจุบันเรือโดยสารเลิกไปเพราะมีปัญหาจากการเปิดปิดประตูน้ำที่ไม่เอื้อกับการเดินทาง
 
รถไฟสายวงเวียนใหญ่ มหาชัย ซึ่งเป็นของการรถไฟรัฐวิสาหกิจของไทย ค่ารถจากวงเวียนใหญ่ถึงวัดไทร ระยะทางประมาณ 6 กม.(เป็นสถานีใกล้กับวัดบางประทุนนอก) ค่ารถเพียง 3บาท ใช้เวลาเพียง10นาทีและจากสถานีวัดไทรไปถึงตลาดร่มหุบที่อัมพวา ระยะทางประมาณ 59 กม.ใช้เวลาชั่วโมงเศษ ค่ารถเพียง9บาท แตกต่างจากราคารถไฟฟ้าบีทีเอสของ กทม.ที่ให้เอกชนบริหารราวฟ้ากับเหว
 
หากผู้บริหารกทม.ไม่ละทิ้งคลอง และพัฒนาทางสัญจรให้มีการเชื่อมโยงการเดินทางทั่วกทม.ด้วย เรือ รถเมล์ รถไฟฟ้าในระบบ boat bus bts โดยมีบัตรใบเดียวใช้ขึ้นรถสาธารณะใน กทม.ได้ทั้งระบบ ในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของคนหาเช้ากินค่ำ จะช่วยลดรายจ่ายให้ชาว กทม.
 
 
 
 
การพัฒนาคลองในกทม.ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการสัญจร จะทำให้คลองมีคุณค่ามากกว่าการเป็นทางระบายน้ำเสีย ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าจากการค้าขายของชาวบ้าน และการท่องเที่ยวทางคลอง ตลาดน้ำในแต่ละจุดจอดเรือสามารถเป็นตลาดค้าขายของคนเล็กคนน้อยในชุมชนที่จะกระจายรายได้ลงมาในพื้นที่
 
รายได้ที่กระจายลงสู่ชุมชนที่เปรียบเสมือนรากฝอยของต้นไม้เศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งรากฝอยได้รับการหล่อเลี้ยงให้แข็งแรง จะเป็นรากแก้วที่ค้ำจุนเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ
 
การรักษา สืบสานสายน้ำลำคลอง และแมกไม้ โดยการเพิ่มกลไกและเครื่องมือให้ประชาชนย่านคลองในกรุงเทพฯซึ่งมีถึง 20 เขต เพื่อสร้างชุมชนคลองเข้มแข็ง สร้างวิถีการพัฒนาใหม่ที่คำนึงถึงภูมิสังคม ภูมิวัฒนธรรม จะเป็นลมหายใจที่แท้จริงของชีวิตกรุงเทพมหานคร
 
รสนา โตสิตระกูล
27 พ.ย 2562
 
#เมืองเปลี่ยนได้ด้วยมือเรา
#ฟื้นฟูเวนิสบางกอก
#เชื่อมโยงทางสัญจร boat bus bts