“รัฐบาลไม่ควรต่อสัมปทานทางด่วน อาจจะเกิดค่าโง่แบบซ้ำซ้อนและซ้ำซากและเป็นภาระผู้บริโภค”

“รัฐบาลไม่ควรต่อสัมปทานทางด่วน อาจจะเกิดค่าโง่แบบซ้ำซ้อนและซ้ำซากและเป็นภาระผู้บริโภค”

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

 

“รัฐบาลไม่ควรต่อสัมปทานทางด่วน อาจจะเกิดค่าโง่แบบซ้ำซ้อนและซ้ำซากและเป็นภาระผู้บริโภค”

 

 

 

 

ข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อวันที่6 มกราคม 2563 รายงานว่า บอร์ดการทางพิเศษ (กทพ.) ประกาศปิดคดีพิพาททางด่วน เผยเจรจา BEM ยอมรับทุกเงื่อนไข และจะมีการประชุมตามกระบวนการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หลังจากนั้นจะส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไข ประเด็นที่ไม่มีการปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 และยุติข้อพิพาท ส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และส่งต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในสิ้นเดือนม.ค. นี้นั้น

 

เรื่องสืบเนื่องจากศาลปกครองมีคำพิพากษา เมื่อวันที่21 ก.ย. 2561 ให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เพราะเป็นเส้นทางแข่งขันและยังมีคดีในศาลอีก10กว่าคดี ที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ แต่ปรากฎว่าบอร์ดกทพ.ยอมลู่ก่อนลมมาด้วยการมีมติจะยอมความเพื่อให้เอกชนถอนฟ้องคดีที่ค้างในศาล ด้วยการให้ต่อสัมปทานทางด่วนไปอีก 15ปี 8 เดือน ซึ่งหากไม่ต่อสัมปทานใหม่ สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดในเดือน กุมภาพันธ์ 2563

 

กรณีรัฐบาลในอดีตที่ให้สัมปทานสร้างทางยกระดับแก่บริษัทดอนเมืองโทลเวย์ และอนุญาตให้สร้างส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิตนั้น เคยถูกทักท้วงจากบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ที่รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่2 จากกทพ.ว่าเป็นเส้นทางแข่งขัน (ทั้งที่เส้นทางอุดรรัถยา และดอนเมืองโทลเวย์อยู่ห่างกัน ดูแล้วไม่น่าจะทำให้รายได้ถูกกระทบกระเทือน แต่เนื่องจากในการทำสัญญาระหว่างกทพ.กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด มีการระบุในเอกสารภาคผนวกว่าเป็นทางแข่งขัน) และกรณีดังกล่าวรัฐบาลในอดีตก็รับรู้ก่อนที่จะให้สร้างส่วนต่อขยาย จึงเท่ากับรัฐบาลในอดีตยอมรับที่จะให้กทพ.ถูกฟ้องและรับภาระการชดเชยให้เอกชนหากแพ้คดี จะเรียกว่ารัฐบาลในอดีตยอมรับการเสียค่าโง่ทั้งๆที่รู้ ใช่หรือไม่?

 

คดีที่เอกชนคู่สัญญาฟ้อง กทพ.รวม10กว่าคดี โดยเรียกร้องค่าเสียหายรวมกว่า 137,000 ล้านบาท ซึ่งคดีแรกที่ศาลปกครองมีคำพิพากษานี้ คือให้ชดเชยรายได้ให้เอกชนเป็นเงิน 4,318 ล้านบาท

 

การที่บอร์ดกทพ.และรัฐบาลยอมยกธงขาวตั้งแต่ต้นมือ โดยเจรจาจะยอมให้เอกชนต่อสัมปทานอีก 15 ปี 8เดือนเพื่อแลกกับการให้เอกชนถอนฟ้อง และไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยคดีแรก 4,318 ล้านบาท แต่อย่างไรเสีย กทพ.ยังต้องรับภาระหนี้ทางบัญชีอีก 58,873 ล้านบาท (แทนตัวเลขสมมติว่าถ้ารัฐแพ้คดีทั้งหมดต้องจ่ายค่าชดเชยรวมดอกเบี้ยให้เอกชนประมาณ 137,000ล้านบาท) และรัฐบาลยังต้องยอมให้เอกชนสามารถขึ้นค่าผ่านทางด่วนจากกระเป๋าผู้ใช้ทางปีละบาท รวม 15ปี 8 เดือน ก็ร่วมๆ15-16 บาท คูณด้วยจำนวนผู้ใช้ทางทั้งหมดในช่วงสัมปทาน

 

ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจภายในเดือนมกราคม 2563 ว่าจะอนุมัติการต่อสัมปทานหรือไม่นั้น ดิฉันขอนำเสนอตัวเลขรายได้ที่การทางพิเศษ รัฐวิสาหกิจของประเทศจะได้หรือจะเสีย เพื่อประกอบการพิจารณา และเพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนทุกคนที่เป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงได้รับทราบ ดังนี้

1)กรณีกทพ.ไม่ต่อสัมปทานกับเอกชน หลังสิ้นสุดสัมปทานในเดือนก.พ 2563 กทพ.จะมีรายได้ในระยะ 15ปี 8เดือนดังนี้

1.1)สัญญาทางด่วนขั้นที่2 รายได้ของทางด่วนขั้นที่2 จะเป็นของกทพ.ทั้งหมดประมาณ 233,567 ล้านบาท

1.2)ถ้าไม่ต่อสัมปทาน กทพ.ยังมีรายได้ตามสัญญา ส่วน D อีก 18,456 ล้านบาท

1.3)ถ้าไม่ต่อสัมปทาน กทพ.ยังมีรายได้ตามสัญญาบางปะอิน-ปากเกร็ด
อีก 19,698 ล้านบาท

 

รวมรายได้ของกทพ.ที่ไม่ต่อสัมปทาน( 15ปี 8 เดือน) 233,567+18,456 +19,698 =271,721 ล้านบาท

แม้กทพ.ยอมเสียค่าโง่ 4,318 ล้านบาท กทพ.ยังมีรายได้ 267,403 ล้านบาท ในระยะ 15ปี 8เดือน

2)กรณีที่รัฐบาลยอมให้กทพ.ต่อสัมปทานให้เอกชน อีก 15 ปี 8เดือน

2.1)กทพ.จะมีรายได้ ระยะ15ปี 8เดือน เพียง 130,789ล้านบาท รายได้ในข้อ1.2 และข้อ 1.3 จะตกเป็นของเอกชนทั้งหมด

2.2)ส่วนเอกชนจะมีรายได้ 102,778 +18,456 +19,698 =140,932 ล้านบาท (ทางด่วนขั้นที่2 +สัญญาส่วน D และ+สัญญา ปากเกร็ด บางปะอิน)

2.3)เอกชนยังเป็นเจ้าหนี้กทพ.ตามบัญชีอีก 58,873 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กทพ.ที่เคยมีสถานะดำเนินการมีผลกำไร กลายเป็นขาดทุนทันที เท่ากับเป็นการบ่อนเซาะให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอลงและหนี้จำนวนนี้ ก็ถือเป็นหนี้สาธารณะอีกด้วย

2.4)นอกจากนี้เอกชนยังมีรายได้เพิ่มจากการปรับค่าผ่านทางได้ตลอดอายุสัญญา

หากมองในเชิงการบริหาร รัฐบาลไม่ควรยอมแพ้ ด้วยการต่อสัมปทานให้เอกชน เพราะได้ไม่คุ้มเสีย อีกทั้งยังเป็นการเสียค่าโง่แบบซ้ำซากแถมจะทำให้ประชาชนแบกรับค่าทางด่วนอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่?

 

หากรัฐบาลต้องการให้เอกชนบริหาร ควรทำสัญญาจ้างบริหาร ซึ่งรัฐบาลยังคงมีอำนาจในการกำหนดราคาค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในขณะที่การให้สัมปทาน เป็นการยอมให้เอกชนสามารถขึ้นค่าผ่านทางได้เองตามสัญญา โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้นว่าสมควรขึ้นราคาหรือไม่?

 

ที่สำคัญเมื่อรัฐเป็นผู้จ้างเอกชนบริหารตามเงื่อนไขของรัฐ ย่อมพ้นจากการถูกฟ้องร้องให้เสียค่าโง่ ใช่หรือไม่?

 

สิ่งที่ประชาชนผู้บริโภคสงสัยมาโดยตลอด ก็คือเหตุใดรัฐบาลที่มีทั้งอำนาจเหนือเอกชน มีทั้งงบประมาณ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย เหตุใดรัฐบาล จึงมักทำสัญญาบกพร่องจนเกิดค่าโง่เสมอมาใช่หรือไม่?

 

กรณีการต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่2 จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า รัฐบาลคำนึงถึงผลได้ ผลเสียต่อรายได้ของรัฐและผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ทางด่วน อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่??!

 

รสนา โตสิตระกูล
7 ม.ค 2563

https://mgronline.com/business/detail/9630000001514