"คตง.สตง. ตรวจสอบกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557"

"คตง.สตง. ตรวจสอบกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557"

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

                                  

"คตง.สตง. ตรวจสอบกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557"

 

มีผู้อ่านท่านหนึ่งตั้งคำถามดิฉันว่า "สอบถามคุณรสนาว่า ตกลงว่าต้องปฎิบัติตาม สตง. คตง. ใช่ไหมครับ ไม่ได้ปฎิบัติตามคำสั่งศาล คือส่วนตัวก็เห็นว่าทาง ปตท.เขาก็ปฎิบัติตามกรอบ ตามระเบียบนะครับ ศาลสั่งก็แบ่งแยก คืนแล้วรายงานต่อศาล ศาลพิจารณาว่าครบแล้ว แต่ถ้า สตง.หรือ คตง. ตีความว่าไม่ครบ แล้วต้องปฎิบัติตาม มันไม่ขัดต่อหลักหรือครับ ผมว่าเรื่องนี้น่าจะขึ้นอยู่กับคำสั่งศาลมากกว่า เพราะศาลเป็นองค์กรเดียวที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้ และคิดว่าต่อให้ศาลมีคำสั่งแบบไหน ปตท.เขาก็พร้อมปฎิบัติตามนะครับ"

ดิฉันขอตอบคำถามนี้เพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะด้วยดังนี้

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหมายเลขคดีแดงที่ ฟ35/2550 เมื่อ14 ธันวาคม 2550 ความว่า "พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่(ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน, บมจ.ปตท.) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยก(1)ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (2)สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้ง (3)แยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่4"

คณะรัฐมนตรีของพล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์มีมติคณะรัฐมนตรี (มติครม.)เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2550 เนื้อหาโดยสรุปคือ "เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป"

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม2551
บริษัทปตท.ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่4 ได้ส่งรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดและอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ ฟ35/2550 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่สตง.ยังมีความเห็นแย้งเรื่องทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกคืนกระทรวงการคลัง และผู้ถูกฟ้องคดีที่1-3 ก็ไม่ได้รับรู้กับรายงานดังกล่าวด้วย

ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของคดี เมื่อได้รับรายงานที่กล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องทั้งสี่และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาแล้ว จึงได้ลงลายมือ"รับทราบ"ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาแล้ว ซึ่งปตท.ได้ยึดเอาการ"รับทราบ"รายงานการคืนทรัพย์สินโดยตุลาการเจ้าของคดีเป็นการรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินว่าแบ่งแยกครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว

แต่ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก่อนนำไปรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น ยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติครม. ที่มอบหมายให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อน และข้อโต้แย้งในประเด็นว่าทรัพย์สินส่วนใดที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีความเห็นแย้งกัน
ระหว่างสตง.และบมจ.ปตท. เช่นท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ก็มิได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติตามที่มติ
ครม.ได้มอบหมาย และเมื่อสตง.ทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุดโต้แย้งว่าเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ยังไม่ครบถ้วน ยังมีท่อส่งก๊าซในทะเลและท่อส่งก๊าซบนบกที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนก่อนการแปรรูปเมื่อปี2544 ซึ่งมูลค่าในขณะนั้นคือ 32,613.45 ล้านบาทที่ยังไม่ได้แบ่งแยกและส่งมอบ แต่ศาลปกครองสูงสุด(ตุลาการเจ้าของคดี)ในขณะนั้นก็มิได้เรียกสตง.มาสอบถาม

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกในฐานะผู้ฟ้องคดีเดิมได้รวบรวมรายชื่อประชาชน1,450 คนร้องต่อศาลปกครองให้มีการพิจารณาว่ากระบวนการแบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินยังมิได้ดำเนินการตามมติครม.18 ธันวาคม 2550 ที่ต้องให้สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อนที่จะรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด

ในคดีฟ้องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ออกคำสั่งที่800/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 โดยในหน้า 64 ระบุว่า

“การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง. ยืนยันว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นการรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”

หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่800/2557 ที่ระบุว่าการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมติครม.เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเองภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อไม่มีการว่ากล่าวตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงไปร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)ให้มีการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของคตง.ว่าหน่วยราชการในฐานะผู้รับตรวจมีการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติครม.หรือไม่ ซึ่งเป็นการร้องตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557

ดังนั้นมติคตง.10พฤษภาคม 2559 มีคำวินิจฉัยว่าบมจ.ปตท. ยังแบ่งแยกทรัพย์สินเรื่องท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 และคตง.ก็ได้ส่งมติดังกล่าวเมื่อ24 สิงหาคม 2559 ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และบมจ.ปตท. ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายใน60วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 ตุลาคม2559

ตามบทบัญญัติมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน หากผู้รับตรวจที่ได้รับแจ้งมติแล้ว. ไม่ปฏิบัติภายใน60วัน จะมีความผิดตามมาตรา 157 และความผิดอื่นตามกฎหมาย

ข้อสงสัยที่ว่ามติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)ที่ส่งถึงให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุด กระทรวงการคลัง และบมจ.ปตท.และสั่งให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง.นั้น จะเป็นมติที่เหนือกว่าคำสั่งของตุลาการศาลปกครองเจ้าของคดีหรือไม่นั้น ต้องชี้แจงว่ามติของ
คตง.เป็นการตรวจสอบภายในว่ามีการปฏิบัติตามมติครม.ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งอิงตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 และนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดและผู้ถูกฟ้องคดีที่2 ต้องกำกับให้หน่วยราชการภายใต้การบังคับบัญชาปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน และหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะนำความกราบเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป มิใช่ปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่4 ไปรายงานศาลดังที่ผ่านมา