อย่าตัด”เท้า” ให้เข้ากับ”รองเท้า” ข้อเสนอการจัดการศึกษาของเด็กนักเรียนให้ตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19

อย่าตัด”เท้า” ให้เข้ากับ”รองเท้า” ข้อเสนอการจัดการศึกษาของเด็กนักเรียนให้ตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19

 

 

 

 

 

 

  

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
 
อย่าตัด”เท้า” ให้เข้ากับ”รองเท้า” ข้อเสนอการจัดการศึกษาของเด็กนักเรียนให้ตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19
 
 
 
 
 
ในช่วงระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลใช้มาตรการปิดบ้าน ปิดเมือง (lock down) ปิดสถานประกอบการ ไม่ให้คนมาแออัดในสถานที่สาธารณะ เพื่อวางระยะห่างทางสังคม มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนส่วนตัว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อจากไวรัสโควิด จนกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เรียกว่า New Normal หรือที่มีการเสนอให้ราชบัณฑิตสภาแปลเป็นไทยว่า ความปกติใหม่ การปิดบ้าน ปิดเมืองเกือบ2เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส ด้านสังคมก็ได้รับผล
 
 
กระทบหนักพอๆกัน การปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับ และเปลี่ยนมาใช้การเรียนในระบบออนไลน์นั้น มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่การเรียนแบบออนไลน์ที่ต่อเนื่องยาวนานเกินไปย่อมไม่ตอบโจทย์การศึกษาต่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก และ กลุ่มนักเรียนในครอบครัวรายได้น้อย ดิฉันได้รับฟังจากเพื่อนที่มีลูกเล็กว่า การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กยังเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กขาดสมาธิ
 
 
“เด็กไม่มีสมาธิในการเรียนผมเคยดูลูกเรียนออนไลน์เสียงเด็กแต่ละคนnoisyมาก ต่างคนต่างพูด ครูใช้เวลาเกิน10นาทีเพื่อบอกว่าเปิดหนังสือเล่มไหนหน้าไหนลูกสาวผมไม่เข้าเรียนออนไลน์3วันครูโทรมาแจ้ง ลูกผมบอกว่าเรียนแล้วไม่ได้อะไร หนวกหู” เพื่อนอีกคนบอกว่า “พี่ครับตอนนี้เด็กในชุมชนเขตคลองเตยมีปัญหาเกือบทุกบ้าน 90% ไม่เคยมีคอมพิวเตอร์ใช้และไม่มี notebook มือถือส่วนใหญ่ก็จะมีแต่เฉพาะพ่อหรือแม่แล้วจะเรียนออนไลน์ได้อย่างไรครับ “ นี่เป็นเสียงสะท้อนปัญหาส่วนหนึ่งให้เห็นว่าการจัดการศึกษาแบบเดียวกันทุกกลุ่ม ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย
 
 
อีกปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อให้เด็กเรียนอยู่กับบ้านก็คือ หลายบ้านอาจจะไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็ก เพราะมีความจำเป็นต้องออกไปทำงาน ดิฉันมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับดร.อุทัย ดุลยเกษม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านให้ความเห็นว่า “การให้นักเรียน เรียนแบบ "ออนไลน์” อยู่ที่บ้าน ไม่ว่าจะผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรือระบบโทรทัศน์ก็แล้วแต่ เป็นการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของการแพทย์และเรื่องสุขภาพกายด้านเดียว แต่การศึกษามิใช่เรื่องการเรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะถ้าเรียนแต่หนังสืออย่างเดียว ไม่ต้องมีโรงเรียนก็ได้ อย่าลืมว่าในกระบวนการศึกษานักเรียนจะได้เรียนรู้ในด้านอื่นๆอีกหลายด้าน ทั้งด้านทักษะต่างๆ ด้านบุคลิกภาพ ด้านระบบคุณค่า ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกัน ด้านอารมณ์ ฯลฯ การเรียนผ่านระบบออนไลน์นานๆนักเรียนจะเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งที่สำคัญในชีวิตไปหลายอย่าง น่าเสียดายมาก”
 
 
หลังการปิดบ้านปิดเมืองเกือบ 2เดือน และยังต้องขยายเวลาออกไป ไม่ทราบอีกนานเท่าไหร่ ตราบเท่าที่การระบาดของไวรัสโควิดยังไม่ยุติ เมื่อรัฐบาลกำลังค่อยๆคลายล็อคความเข้มงวดในการควบคุมลง จึงควรพิจารณาการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปได้ในสถานการณ์ที่รัฐบาลผ่อนคลายความเข้มงวดลง ข้อเสนอจากการพูดคุยกับดร.อุทัย ดุลยเกษม ซึ่งนักการศึกษา เป็นความเห็นและข้อเสนอที่น่าสนใจ
 
 
“ในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของเราซึ่งเป็นการเตรียมตัวให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคตนั้น เราต้องการประชาชนคนไทยที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นการมีมาตรการป้องกันภัยจากโรคทั้งหลายมีความสำคัญและมีความจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันเราต้องการประชาชนคนไทยที่มีศักยภาพสูง ยิ่งอัตราการเกิดของทารกลดน้อยลงมากๆอย่างที่เป็นอยู่ เรายิ่งต้องทำให้คุณภาพของประชากรไทยสูงขึ้นกว่ายุคก่อนๆหลายเท่า เพราะปริมาณลดลง ด้วยเหตุดังนั้น การจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของเราในวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มิใช่เพียงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชน และครอบครัว ฯลฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และที่สำคัญต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆที่มีความหลากหลาย อย่าพึงใช้วิธีการเดียวแบบที่ทำๆกันอยู่ เพราะสถานการณ์ในสังคมของเรามี “ความหลากหลาย” ผมคิดว่า ไม่ว่าวิธีการจัดการศึกษาที่วิเศษอย่างไรก็ตาม ถ้าใช้วิธีการจัดการศึกษาวิธีเดียวกับกลุ่มคนที่หลากหลาย สภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ย่อมจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังอย่างแน่นอน
 
 
ยกเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นเป็นประเด็น เช่น ในปัจจุบันนี้เรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่หมดไป แต่ความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการศึกษา มีอยู่มากพอสมควร เช่น หลายจังหวัดและหลายอำเภอ สถานการณ์การติดเชื้อหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสต่ำมากหรือไม่มีเลย
 
 
โรงเรียนในระดับประถมศึกษาจำนวนไม่น้อยมีนักเรียนจำนวนไม่ถึงร้อยคน ในบางชั้นเรียนมีนักเรียนไม่ถึง ๑๐ คน และโรงเรียนในประเทศไทยยกเว้นบนเทือกเขาสูงๆในภาคเหนือแล้ว ระยะทางระหว่างโรงเรียนกับบ้านพักอาศัยไม่ไกลเกิน ๕ กิโลเมตร บางแห่งใกล้มากกว่านี้อีก ดังนี้เป็นต้น ในสภาพการณ์ที่มีความหลากหลายอย่างนี้ ทำไมเราจึงเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนเพียงแบบเดียว คือแบบOnline ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกโรงเรียน ทุกห้องเรียน ใช้ระบบการเรียนการสอนอย่างเดียวกันเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความหลากหลายต่างๆที่มีอยู่จริง เป็นไปไม่ได้เลยหรือ ที่เราจะจัดการเรียนการสอนหลายระบบเพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลาย การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบที่หลากหลายมิใช่ทำไปเพราะความโก้เก๋อะไร แต่ทำไปเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ให้มากที่สุด เพื่อว่าเด็กและเยาวชนของเราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆและได้พัฒนาด้านต่างๆที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
 
 
ผมคิดว่าแม้แต่ในชั้นเรียนที่มีเด็กประมาณ ๒๐-๓๐ คน (ซึ่งถือว่ามากแล้วในปัจจุบัน) ก็ยังสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ เพราะเมื่อเรามาคำนวณดูเวลาเรียนที่เด็กนักเรียนใช้ในแต่ละวัน มีประมาณ ๔ คาบ (คาบละประมาณ ๕๐ นาที) ถ้าเด็กเรียนในชั้นเรียน ๕ วันในหนึ่งสัปดาห์ เด็กจะใช้เวลาในชั้นเรียนประมาณ ๒๐ คาบในหนึ่งสัปดาห์ (ที่ไม่มีวันหยุดพิเศษ) ถ้าเราคิดในลักษณะที่ว่า ให้แบ่งเด็กในชั้นเรียนดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่ม ๆละ ๑๐-๑๕ คน และให้แต่ละกลุ่มผลัดกันมาเรียนในชั้นเรียนกลุ่มละ ๓ วันในหนึ่งสัปดาห์ แต่ให้เด็กเรียนวันละ ๖ คาบ พราะฉะนั้นในช่วงสามวัน เด็กจะได้เรียนในชั้นเรียนประมาณ ๑๘ คาบ ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ต้องมาเรียนทุกวัน การทำในลักษณะนี้ เราสามารถใช้มาตรการต่างในการป้องกันการติดเชื้อโรคไวรัสได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย วิธีคิดในลักษณะนี้ เป็นตัวอย่างในการคิดเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในมิติต่างๆมากกว่าการเรียนหนังสือ”
 
 
สำหรับดิฉันยังเห็นว่าการหมุนเวียนให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนในช่วงคลายล็อคดาวน์อย่างควบคุมจะช่วยให้ครูและทางการสามารถสอดส่องดูแลสุขภาพของเด็กนักเรียนได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการหรือความเจ็บไข้ได้ป่วย
 
 
การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็น New Normal ที่ทุกสังคมต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริงแบบใหม่ การศึกษาก็เช่นกัน ต้องมีการปรับรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมทางสังคมใหม่ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละบริบทอย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้วิธีแบบเดิมๆที่จัดการศึกษาในรูปแบบเดียวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “จงอย่าตัด ‘เท้า’ ให้เข้ากับ ‘รองเท้า’ แต่จงตัด ‘รองเท้า’ ให้พอดีกับ ‘เท้า’ “
ขอให้ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่งได้โปรดนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ต่อเด็ก และ เยาวชนไทย และด้วยวิธีการนี้ น่าจะสามารถแก้ปัญหาการจัดการเรื่องนมโรงเรียนและอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ที่เด็กไม่ได้รับนม และอาหารกลางวันในช่วงปิดเมือง และการปิดเรียน ที่อาจจะยืดยาวออกไปอีก เพราะการระบาดของไวรัสโควิด
 
รสนา โตสิตระกูล
15 พ.ค 2563