“ร่วมกันคัดค้านการนำ CP TPP เข้าพิจารณาในครม.”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“ร่วมกันคัดค้านการนำ CP TPP เข้าพิจารณาในครม.”
มีข่าวว่าวันอังคารพรุ่งนี้ (19 พ.ค 2563) รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะนำวาระการเข้าร่วม CPTPP เข้าประชุมในครม.เพื่อขออนุมัติในการเดินหน้าเจรจาอีกครั้ง หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้ถอนวาระพิจารณาเรื่องนี้ออกไป เมื่อวันที่28 เมษายน ที่ผ่านมา เพราะเสียงคัดค้านอย่างท่วมท้นจากประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย โดยรมต.พาณิชย์เองก็มีข้อกังวลในประเด็นสำคัญของCPTPP
อาทิเช่น การคุ้มครองพันธุ์พืช และความไม่เหมาะสมกับเงื่อนเวลาในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีแต่เสียกับเสียในการดึงดันเข้าร่วมความตกลงCPTPPผ่านมายังไม่ถึงเดือน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจถึงกัต้องลงมือนำเสนอเองในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ
โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน ที่ห่วงใยว่าการเข้าร่วมความตกลงCPTPP จะกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางอาหาร ความมั่นคงทางยา และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศประสบการณ์จากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้หลายประเทศเริ่มมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพึ่งตนเองด้านอาหาร ยกตัวอย่างสิงคโปร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านหนึ่งที่สนับสนุนการปลูกอาหารในหมู่ชาวสิงคโปร์ แม้ประเทศจะมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง1% ต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าถึง90% เหตุการณ์ล็อคดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้คนสิงคโปร์ยิ่งห่วงกังวลหากต้องพึ่งพาอาหารนำเข้า ก่อนหน้านี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดวาระแห่งชาติคือการปลูกอาหารบริโภคได้เอง 30% ภายในปี2030 คือในอีก5ปีข้างหน้า ล่าสุดหลังวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลสิงคโปร์ได้อัดฉีดเงินเร่งด่วนให้มีการสร้างฟาร์มปลูกผักบนดาดฟ้าลานจอดรถ 9 แห่งทั่วสิงคโปร์
ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านพันธุ์พืช ที่เป็นทั้งอาหารและยา สมควรที่รัฐบาลจะรักษาความมั่นคงทางอาหารและยาไว้และสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้จริงจัง แทนที่จะไปเน้นการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งประเทศได้รับประโยชน์น้อย แต่มีโอกาสได้รับผลกระทบมหาศาลเข้าร่วมควาตกลงCPTPP อาจทำให้ประเทศไทยตกหลุมพรางเสียค่าโง่ในอนาคตได้ เพราะบรรษัทข้ามชาติกำลังเตรียมใช้กฎเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนเอกชน ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ เช่นข้อตกลง CPTPP เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยหลายล้านเหรียญสหรัฐจากรัฐบาลที่ตัดสินใจใช้มาตรการแทรกแซงหรือข้อจำกัดทางการค้าบางอย่างเพื่อรับมือกับวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19ที่ผ่านมา
บรรษัทเอกชนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการล้อบบี้ให้มีกฎระเบียบดังกล่าวในข้อตกลง CPTPP และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีอื่นๆ ซึ่งช่วยให้พวกเขาหลบเลี่ยงกลไกศาลยุติธรรม ทำให้พวกเขาสามารถฟ้องร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ในอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ (Extraterritorial Tribunals) เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากรายได้ที่อ้างว่าสูญเสียไปอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางการค้าที่ประเทศนั้นๆประกาศใช้ กฎที่กล่าวถึงนี้เรียกว่า ISDS หรือกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนและรัฐ (Investor-State Dispute Settlement)รัฐบาลต่างๆอาจต้องเตรียมเผชิญกับกรณีที่ใช้กลไก ISDS จำนวนมากเมื่อการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกสิ้นสุดลง มาตราที่เกี่ยวกับ ISDS เป็นการวางรากฐานให้เอกชนฟ้องรัฐ นักลงทุนต่างชาติอาจอ้างว่ารัฐบาลละเมิดมาตราใน ISDS ที่เกี่ยวกับ “การเวนคืนทางตรง” (Direct expropriation)
เช่น กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการบังคับห้ามออกจากบ้าน (lockdown) ซึ่งกระทบกับการทำกำไรของเอกชน อาจถูกตีความว่าเป็น “การเวนคืนทางอ้อม” (Indirect expropriation) ก็เป็นได้การที่นักวิชาการและประชาชนคัดค้านการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นสิ่งที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องรับฟัง ไม่ควรใช้วิธีการลักไก่นำเรื่องเข้าประชุม เพื่อผ่านการอนุมัติการเข้าร่วมCPTPP ให้ได้ โดยที่ยังมีความห่วงกังวลในเรื่องผลเสียหาย และค่าโง่ในอนาคต
ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทยทั้งประเทศร่วมกันส่งเสียงคัดค้าน CPTPP อีกครั้งให้คณะรัฐมนตรีได้ยินเพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียค่าโง่อันอัปยศซ้ำซากอีกต่อไป
ร่วมกันแชร์ข้อความ #NoCPTPP#StopUPOV1991
#เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม
เพื่อคัดค้านการตัดสินใจทางนโยบายที่เอื้อประโยชน์บรรษัทขนาดใหญ่แต่ทำลายอนาคตของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น และความมั่นคงทางอาหารและยาของประเทศโดยรวม
รสนา โตสิตระกูล
18 พ.ค 2563