รัฐบาลและท้องถิ่นควรเร่งจัดสรรนมสำหรับทารกและเด็กเล็กในช่วงโควิดอย่างเร่งด่วน
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
รัฐบาลและท้องถิ่นควรเร่งจัดสรรนมสำหรับทารกและเด็กเล็กในช่วงโควิดอย่างเร่งด่วน
เมื่อ2วันก่อน (28 พ.ค 2563) ดิฉันได้นำเจลแอลกอฮอล์ แมสผ้า และยาน้ำแก้ไอมะแว้งที่มูลนิธิสุขภาพไทยได้รับบริจาคจาก กฟผ.,กลุ่มมิตรผล และบริษัทอ้วยอันไปส่งมอบต่อให้มูลนิธิไชยวนา(สวนครูองุ่น มาลิก)และมูลนิธิกระจกเงา ที่สุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ
ช่วงโรคระบาดโควิด-19 อาสาสมัครของ2มูลนิธิได้ทำงานอาสาลงสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนแออัด เขตวัฒนา และเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าวและขอรับบริจาคสิ่งของจำเป็นจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อกระจายให้กับผู้เดือดร้อน โดยนำของจำเป็นใส่ในถุงยังชีพไปมอบให้แต่ละครอบครัว กว่า 1,000 ครอบครัว สิ่งของที่นำไปมอบประกอบด้วยอาหารแห้ง ยารักษาโรค และของใช้จำเป็นอื่นๆ เช่น เจลแอลกอฮอล์ และแมสผ้า โดยนำลงไปมอบให้เป็นรายครอบครัว ไม่ต้องให้ประชาชนมายืนรอเข้าแถวรับของอาสาสมัครเล่าให้ฟังว่า จากการลงไปสำรวจทุกชุมชน
พบว่ามีเด็กเล็กอยู่มากพอสมควร และสิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดคือนมเด็ก มีบางครอบครัวชงนมข้นหวานให้ลูกแรกเกิดและเด็กเล็กกิน ซึ่งไม่ใช่โภชนาการที่ถูกต้อง เพราะเด็กเล็กต้องการนมที่มีคุณภาพสำหรับสมองที่กำลังเติบโต หากขาดอาหารที่ดี เด็กจะไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้เลย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง อาสาสมัครเล่าว่านมผงของเด็กราคาแพงมากสำหรับพ่อแม่ที่ขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 พวกเขาพยายามขอรับบริจาคนมผงสำหรับทารก และเด็กก่อนวัยเรียนอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดภาวะทุโภชนาการในเด็กเล็ก
ดิฉันได้โทรปรึกษาเพื่อนหมอในสปสช. ว่างบประมาณเสริมสร้างสุขภาพ และป้องกันโรคที่สปสช.จัดสรรให้ท้องถิ่น ทราบว่ากทม.ได้รับการจัดสรรงบนี้มาประมาณ 1,500ล้านบาท และงบก้อนนี้ยังใช้ไปไม่มากนัก ดิฉันถามว่างบสร้างเสริมสุขภาพนี้ สามารถจัดสรรเป็นนมให้เด็กเล็กได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ เพราะโภชนการก็ถือเป็นการสร้างเสริมสุขภาพได้
ดิฉันใคร่ขอให้กทม.ประสานกับจิตอาสาที่ทำงานบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในช่วงโควิดนี้ และผู้นำชุมชนใน50เขตของกทม.ในการสำรวจความต้องการนมสำหรับทารกและเด็กเล็กก่อนวัยเรียน และรีบจัดสรรนมให้อย่างรีบด่วน
แม้ว่าในระบบจะมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับนมโรงเรียน และอาหารกลางวันให้เด็ก แต่สำหรับเด็กแรกเกิด และเด็กเล็กที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนอาจจะไม่ได้รับนมโรงเรียน ใช่หรือไม่ ส่วนเด็กนักเรียนที่ได้รับนมโรงเรียน และอาหารกลางวัน เมื่อการเปิดเทอมเลื่อนยาวออกไป ผู้บริหารท้องถิ่นและ
กทม.ก็ควรจัดการให้มีนม และอาหารส่งถึงเด็กนักเรียนด้วย ในช่วงวิกฤตโควิด-19ที่ผู้คนตกงาน หรือลดจำนวนวันทำงาน ทำให้รายได้ลดลง ครอบครัวรายได้น้อยจะยิ่งลำบากมากขึ้น หน่วยงานรัฐท้องถิ่นจึงควรมีบทบาทในการช่วยเหลือครอบครัวผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่เดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างน้อยด้วยการจัดสรรนม และอาหารให้ถึงนักเรียนและเด็กเล็กอย่างทั่วถึงโดยเร็ว
รสนา โตสิตระกูล
30 พ.ค 2563