คดี’บอส กระทิงแดง บทพิสูจน์หลักนิติธรรมของกฎหมาย

คดี’บอส กระทิงแดง บทพิสูจน์หลักนิติธรรมของกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

  

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

คดี’บอส กระทิงแดง บทพิสูจน์หลักนิติธรรมของกฎหมาย

 

คดีที่เป็นข่าวฮือฮา เขย่าเสาหลักระบบยุติธรรมของประเทศไทยจนสะเทือนถึงความเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ คือคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส กระทิงแดง’และตำรวจสอบสวนไม่คัดค้าน
 
 
การสั่งไม่ฟ้อง’บอส กระทิงแดง’ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในทางกฎหมายชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ทำให้เกิดข้อสงสัยของสังคมว่า คนรวยทำผิดอย่างชัดเจนก็สามารถวิ่งเต้นเพื่อสร้างกระบวนการสืบสวน สอบสวน และพยานหลักฐานใหม่ที่น่าเคลือบแคลง เพื่อให้พ้นผิดได้เพราะอำนาจเงิน และคอนเนคชั่น ใช่หรือไม่

 

ส่วนคนจนทำผิดต้องติดคุกสถานเดียว แสดงว่าหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ไม่สามารถปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมเกิดข้อกังขาว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยหลักนิติธรรมจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นนิติรัฐ( Legal State) ใช่หรือไม่

 

ดิฉันได้ขอคำปรึกษาอดีตผู้พิพากษาผู้ใหญ่บางท่าน ว่าในฐานะพลเมืองของประเทศนี้ จะมีส่วนในการรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศนี้ มิให้เสาหลักหนึ่งในสามของระบอบการปกครองที่เหลืออยู่ คือฝ่ายตุลาการต้องสั่นคลอน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเป็นรัฐที่ล้มเหลว(Fail State)

 

เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม และหลักของกฎหมาย ท่านได้แนะนำให้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อศาลยุติธรรม ที่ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในประเทศนี้ จึงเป็นที่มาของหนังสือที่ดิฉันจะนำไปยื่นด้วยตัวเองต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในวันพุธที่29 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น ขอเชิญชวนประชาชนที่ห่วงใยในบ้านเมืองพบกันที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เวลา 9.00น. ค่ะ

 

เรื่อง ขอความเป็นธรรมในการไม่เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหา
ขอประทานกราบเรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
ตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เหตุเกิดในท้องที่สถานีตำรวจทองหล่อ และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับผู้ต้องหานั้น ข้าพเจ้าในฐานะบุคคลซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50(1) ขอประทานกราบเรียนว่า แม้พนักงานอัยการจะมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143 แต่ตามมาตรา 3 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐรวมทั้งศาลนอกจากจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ยังจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย ซึ่งหลักนิติธรรมคือความยุติธรรมตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่เนติบัณฑิตเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ว่า”โดยที่กฎหมายเป็นแต่เพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยสมบูรณ์ถือความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”

 

คดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามข้อหา ประกอบกับผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศ จึงมีเหตุที่พนักงานอัยการควรมีคำสั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวน แม้ตำรวจผู้ตรวจสอบความเร็วรถของผู้ต้องหาจะให้การว่าผู้ต้องหาขับรถในวันเกิดเหตุไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็เป็นการกลับคำให้การเดิมที่เคยให้ไว้เมื่อ 7-8 ปีก่อนว่าผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่เกิน 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแม้จะมีประจักษ์พยาน 2 คนให้การว่าเห็นผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็เป็นการให้การหลังเกิดเหตุ 7-8 ปี เหตุใดจึงไม่รีบให้การหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะพยานปากหนึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่มียศสูงถึงพลอากาศโท ประการสำคัญสภาพหน้ารถของผู้ต้องหาพังยับเยิน หากผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรจริง สภาพหน้ารถไม่น่าจะพังยับเยินเช่นนั้น และไม่น่าจะลากไปไกลถึง 200 เมตรจากที่เกิดเหตุ การลากไปไกลเช่นนี้ย่อมแสดงว่าผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วสูง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่ตำรวจผู้ตรวจสอบความเร็วรถของผู้ต้องหาได้ให้การในครั้งแรกซึ่งวัตถุพยานย่อมสำคัญกว่าพยานบุคคลและพยานผู้เชี่ยวชาญ 

 

นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานที่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับความเร็วรถของผู้ต้องหาได้ เช่น สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เหตุใดจึงไม่ขอให้สำนักงานนี้ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความเห็นเพื่อความถูกต้องชอบธรรม ดังนั้น คำสั่งไม่ฟ้องจึงไม่ยุติธรรม ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง คำสั่งไม่ฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ศาลจึงไม่ควรเพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าว

 

อีกประการหนึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตรงกันข้ามกับความเห็นของพนักงานสอบสวน และพยานหลักฐานใหม่ก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นการกลับคำให้การเดิมของพยานและพยานบุคคลที่มาให้การใหม่ทั้งสองคนก็มีพิรุธน่าสงสัยเนื่องจากอ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์ แต่เหตุใดจึงเพิ่งมาให้การหลังเกิดเหตุนาน 7-8ปี ทั้งที่พยานคนหนึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่มียศสูงถึงพลอากาศโท เพื่อความเป็นธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติควรมีความเห็นแย้งและส่งสำนวนกับความเห็นแย้งไปให้อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กล่าวมานี้ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ศาลไม่ควรเพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าว

 

อนึ่ง ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีเพื่อให้คดีขาดอายุความ ซึ่งมีสี่ข้อหาที่คดีขาดอายุความไปแล้ว เหลือเพียงข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น หากผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดจึงต้องหลบหนีไปต่างประเทศเป็นเวลานาน 7-8 ปี เหตุใดจึงไม่กลับมาสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

 

ขณะนี้มีศาลยุติธรรมเพียงองค์กรเดียวที่จะให้ความยุติธรรมเรื่องนี้ เป็นที่พึ่งสุดท้ายของความยุติธรรม
จึงขอประทานกราบเรียนเพื่อโปรดพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งไม่เพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาควรมิควรแล้วแต่จะโปรด(น.ส รสนา โตสิตระกูล)