คดีบอส อยู่วิทยา เป็นประจักษ์พยานว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมของสังคม

คดีบอส อยู่วิทยา เป็นประจักษ์พยานว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมของสังคม

 

 

 

 

 

 

  

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
 
 
 
คดีบอส อยู่วิทยา เป็นประจักษ์พยานว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมของสังคม
 
 
 
 
ตามที่ดิฉันและคณะได้ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ขอเอกสารรายงานบันทึกการประชุม ผลการศึกษา และหนังสือนำส่งอัยการของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(สนช.) กรณีข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยาเมื่อวันศุกร์ที่ 31 ก.ค 2563นั้น

 

ดิฉันได้รับการติดต่อจากเลขาของท่านประธานรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ส.ค 2563 ว่าท่านประธานอนุญาตมอบเอกสารให้ดิฉันและคณะตามที่ร้องขอ ดิฉันและคณะขอขอบพระคุณท่านประธานรัฐสภาเป็นอย่างสูงที่อนุญาตให้เปิดเผยเอกสารการประชุมของ กมธ.ดังกล่าวซึ่งเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยาจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องเปลี่ยนเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดโดยที่คดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญและเป็นที่สนใจของสาธารณชน หากเป็นไปได้ ดิฉันและคณะใคร่ขอความกรุณาจากท่านประธานรัฐสภามีบัญชาให้เจ้าหน้าที่ ดำเนินการส่งมอบเอกสารเพื่อเปิดเผยข้อมูลความจริงแก่สาธารณะเพื่อคลายข้อสงสัยเคลือบแคลงของประชาชนโดยไม่ชักช้า

 

ภายใน 1 สัปดาห์ คือในวันศุกร์ที่ 7 ส.ค 2563 ศกนี้ จะเป็นพระคุณยิ่งโดยดิฉัน และคณะจะขอไปติดตามความคืบหน้า และหากได้รับเอกสารในวันนั้น จะเป็นการแสดงถึงประสิทธิภาพในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการของรัฐสภาในยุคที่รัฐสภามาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และท่านประธานเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ ข้อมูลข่าวสารทางราชการในปี2540 ซึ่งดิฉันและประชาชนไทยมีความประทับใจในคำกล่าวของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีที่กล่าววาทะอันน่าประทับใจที่ว่า “รัฐรู้อะไร ประชาชนรู้อย่างนั้น”

 

เหตุที่ดิฉันขอความกรุณาท่านประธานรัฐสภาในการส่งมอบเอกสารในเวลารวดเร็ว เพราะ มีข้อสงสัยจากสาธารณชนว่ารายงานของคณะกรรมาธิการที่เป็นจุดเปลี่ยนของคดีนั้นมีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

1)กรรมาธิการไม่ใช่คู่กรณี หรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอความเป็นธรรมในคดีนี้ เพราะระเบียบการขอความเป็นธรรมเป็นเรื่องอำนวยความเป็นธรรมให้กับคู่กรณีและผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น

 

2)การร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ อยู่วิทยาต่ออธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 6ครั้ง ได้รับฟังเป็นที่ยุติไปแล้ว และวันที่27 เมษายน 2560 นายสุทธิ กิตติศุภกร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ในขณะนั้น ไม่อนุญาตให้เลื่อนการสั่งฟ้องอีก และร.ต.ต พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้นไม่ค้าน เพราะเห็นว่าหากสั่งคดีล่าช้าอีกอาจเกิดความเสียหายต่อคดี เป็นที่เคลือบแคลงของสังคม ดังนั้นอัยการเจ้าของสำนวนจึงมีคำสั่งฟ้อง แต่เมื่อผู้ต้องหาไม่มาพบ และหนีไปต่างประเทศ จึงต้องขอหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยาเพื่อเอาตัวมาฟ้องต่อศาล การสั่งคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้จึงเป็นการสั่งฟ้องที่เด็ดขาดตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาแล้ว

 

3)ต่อมาทนายนายวรยุทธ อยู่วิทยาจึงไปร้องกรรมาธิการ สนช.และตามข่าว มีการกล่าวอ้างว่าคณะกรรมาธิการมีการสอบพยานบุคคล2ราย และมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่องความเร็วรถ หลังจากนั้นได้ส่งรายงานและหนังสือไปที่อัยการสูงสุดซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องเด็ดขาดไปดังกล่าวแล้ว แต่เหตุใดรายงานกรรมาธิการที่ไม่อาจถือว่าเป็นการร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบกลับนำมาใช้ในการสั่งคดีได้อีกทั้งเป็นการสั่งไม่ฟ้อง รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องโดยไม่มีอำนาจและไม่มีระเบียบให้ทำได้ ใช่หรือไม่

 

จึงเกิดคำถามว่า ความเห็นของคณะกรรมาธิการอาจเป็นการเข้าข่ายแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ ทำให้ผู้ต้องหาหลุดจากคดีหรือไม่

 

ด้วยเหตุนี้ ดิฉันและคณะจึงต้องขอความกรุณาจากท่านประธานรัฐสภา โปรดให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาความคลางแคลงใจของสาธารณชนที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมักประวิงเวลา จนประชาชนเห็นและรู้สึกว่าความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม