กมธ.สนช.ทำเกินอำนาจหน้าที่และแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีวรยุทธ อยู่วิทยาหรือไม่!?
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
กมธ.สนช.ทำเกินอำนาจหน้าที่และแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีวรยุทธ อยู่วิทยาหรือไม่!?
จากเอกสารที่ดิฉันได้รับจากวุฒิสภา มีสาระที่จะนำมาวิเคราะห์ให้ฟัง กรณีนี้เริ่มจากนายวรยุทธ อยู่วิทยามอบอำนาจให้ทนายมาร้องขอความเป็นธรรมจากกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ (กมธ.)สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ของนายวรยุทธ อยู่วิทยา
กมธ.สนช. ได้นำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ อยู่วิทยาเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมาธิการเมื่อ 26พฤษภาคม 2559 สาระโดยสรุปที่ร้องขอความเป็นธรรมคือ นายวรยุทธอ้างว่าอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยาเมื่อ2 พฤษภาคม 2556 ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ในทันที และขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่มีคำสั่งไม่ฟ้องความผิดในฐานขับรถขณะเมาสุรา นายวรยุทธอ้างว่าอธิบดีอัยการได้มีคำสั่งฟ้องแย้งกับพนักงานสอบสวนโดยอธิบดีอัยการเชื่อว่ารถยนต์ของนายวรยุทธขับขี่มาด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. แต่คำให้การของพ.ต.ท สมยศ แอบเนียนสันนิษฐานว่าความเสียหายที่เกิดกับรถทั้งสองคันที่ชนกัน มีความเสียหายไม่มาก รถทั้งสองคันน่าจะแล่นด้วยความเร็ว ไม่เกิน 80 กม./ชม. และ พ.ต.ท ธนสิทธิ แตงจั่น ครั้งแรกคำนวณความเร็วรถที่นายวรยุทธขับด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. ต่อมากลับคำว่าขับด้วยความเร็ว 79.23 กม./ชม.
แต่รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดรับฟังแล้วมิได้นำคำให้การและรายงานการตรวจพิสูจน์ของ พ.ต.ท ธนสิทธิ แตงจั่นมารวมพิจารณาสั่งคดี แต่กลับยุติการร้องขอความเป็นธรรม เมื่อ 11 เมษายน 2559 โดยเห็นว่าคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้1 และอธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้ชอบด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรม แต่นายวรยุทธ อยู่วิทยาเห็นว่าคำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมาร้องต่อ กมธ.สนช. โดยนายวรยุทธมีความประสงค์ให้กมธ.สนช.แจ้งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและนำคำให้การและรายงานการตรวจพิสูจน์ความเร็วมาประกอบการพิจารณาคดีและ ”สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ”
กมธ.สนช.ประชุมเรื่องนายวรยุทธในคณะกรรมาธิการเพียง3ครั้ง และอนุมัติตั้งคณะทำงานที่มีนายธานี อ่อนละเอียด เป็น หัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งมีการประชุม6 ครั้ง นอกจากนี้ยังรับหนังสือขอความเป็นธรรม(เพิ่มเติม)จากทนายของนายวรยุทธ อีก2ครั้ง โดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมใหญ่ และคณะทำงานเชิญคนมาให้ข้อมูลตามที่ทนายของนายวรยุทธชี้นำ เช่น 21 กรกฎาคม 2559 ให้เชิญ พล.อ.ท จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และพล.อ.ท สุรเชษฐ ทองสลวย
และรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม (เพิ่มเติม) 9 สิงหาคม 2559 ให้เชิญ พ.ต.ท สมยศ แอบเนียน และพ.ต.ท สุรพล เดช วิรัตนวิไชย และ พ.ต.ท ธนสิทธิ แตงจั่น ที่ให้การสอดคล้องกันเรื่องความเร็วรถที่นายวรยุทธขับไม่เกิน 80 กม./ชม.
จากพล.อ.ท จักกฤช ถนอมกุลบุตร ก็โยงต่อไปถึงเรืออากาศเอก สะอาด ศบศาสตราศร รวมถึง พลอากาศเอก กันต์ พิมานทิพย์ และนายจารุชาติ มาศทอง และรองศาตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ เกิดนิยม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งทุกคนที่เชิญมาล้วนให้การสอดคล้องกันว่านายวรยุทธ อยู่วิทยาขับรถด้วยความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 80 กม./ชม.รวมถึงอ้างสูตรคำนวณให้ได้ความเร็วไม่เกิน80 กม./ชม.
และประเด็นสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาจากพยานที่กมธ.สนช.เชิญมาให้การคือ กลายเป็นดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐเป็นผู้ขับรถประมาท สวนเลนเข้ามาเลยถูกชนเสียชีวิต นายวรยุทธ อยู่วิทยาจึงไม่ใช่ผู้ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่เป็นเหตุสุดวิสัยรายงานการพิจารณาศึกษาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนของนายวรยุทธ อยู่วิทยาไม่ใช่การแสวงหาข้อเท็จจริง ที่ควรมีความเห็นและพยานที่มีความเห็นทั้งสองด้าน แต่รายงานข้อเท็จจริง ขอ ง กมธ.สนช.เป็นเสมือนการจัดทำเอกสารหลักฐานนอกสำนวนคดีและเพื่อต้องการหักล้างสำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรมที่อัยการเจ้าของคดีสั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยาไปแล้วโดย กมธ ทำเพื่อให้เปลี่ยนเป็นการสั่งไม่ฟ้องตามความต้องการของนายวรยุทธ ใช่หรือไม่?
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือคณะทำงานของนายธานี อ่อนละเอียดไม่ใช่ตำรวจ แต่ทำหน้าที่เหมือนตำรวจสอบสวน ที่ทำรายงานพยานหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยเอาเรื่องขับรถด้วยความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด และด ต วิเชียรตายด้วยเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความประมาทของนายวรยุทธ รายงานฉบับนี้ใช้พยานบุคคลโยนความผิดให้คนตาย โดยไม่มีใครมาให้ข้อมูลเพื่อหักล้างพยานฝ่ายที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อนายวรยุทธ ที่คณะทำงานของ กมธ.สนช.ปั้นแต่งขึ้นมาโยนความผิดให้คนตายเพียงเพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยาใช่หรือไม่?
กรรมาธิการในคณะนี้ ประกอบด้วยตำรวจในระดับผบ.ตร. อดีต ผบ.ตร.นายตำรวจยศนายพัน นายพลหลายคน อัยการสูงสุดในขณะนั้น และอดีตผู้พิพากษา อยู่ด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่เข้าใจบทบาทตัวเองผิดหรือไม่ จึงปล่อยให้มีการตั้งคณะทำงานที่ทำตัวเป็นพนักงานสอบสวน ที่สอบสวนรวบรวมทำเอกสารเพื่อให้นำไปหักล้างสำนวนในกระบวนการยุติธรรมของพนักงานสอบสวนที่อัยการสั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยาโดยชอบไปแล้ว ใช่หรือไม่?
จากเอกสารรายงานของกรรมาธิการ สนช. ที่ส่งถึงอัยการสูงสุดและอธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 22ธันวาคม 2559 ซึ่งอัยการสูงสุดที่เป็นกรรมาธิการในคณะนี้ คือร.ต.ต พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร รับฟังแล้วยังให้สั่งฟ้องนายวรยุทธ เมื่อ 26 เมษายน 2560 หลังจากนั้นเมื่อประธานกรรมาธิการ สนช.มีหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปถึงอัยการสูงสุดอีกตามการร้องขอของทนายนายวรยุทธ เมื่อวันที่9 ก.พ 2561 อัยการสูงสุดคนต่อมาก็ตอบหนังสือกรรมาธิการลงวันที่17 ตุลาคม 2561 ว่าเนื่องจากผลการสอบสวนเพิ่มเติมไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการได้ จึงยังคงสั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา เมื่ออัยการสูงสุดถึง2คน ได้สั่งฟ้องแล้ว ต้องถือเป็นสำนวนฟ้องที่จบแล้ว ยกขึ้นมาอีกไม่ได้
การที่นายเนตร นาคสุข ขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดี ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรองอัยการสูงสุด แต่กลับใช้อำนาจโดยมิชอบ”สั่งไม่ฟ้อง” นายวรยุทธ อยู่วิทยา หักคำสั่งฟ้องเดิมที่เป็นคำสั่งฟ้องของผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร และเอกสารที่นำมาใช้ในการสั่งไม่ฟ้องนั้นก็เป็นรายงานฉบับเดิมของกรรมาธิการ สนช. ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องความเร็วรถ และพยานบุคคลในรายงานไม่อาจหักล้างข้อมูลในสำนวนที่สั่งฟ้องไปแล้วและถือว่าเป็นเอกสารนอกสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน (เอกสารมาจาก กรรมาธิการ สนช ) การที่นายเนตร นาคสุขสั่งไม่ฟ้องทั้งที่ไม่มีหลักฐานใหม่ และเป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดถึง2คน สั่งยุติแล้ว จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช่หรือไม่ ?
และแท้จริงแล้วเอกสารจาก กรรมาธิการ. สนช.นั้นเป็นเอกสารนอกสำนวนคดี และไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การปฏิบัติหน้าที่ของ นายเนตร นาคสุข จึงขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ ใช่หรือไม่ ?
สิ่งที่ปรากฎอย่างชัดเจนคือการยื้อคดี ก็มีต้นทางมาจากเอกสารของกรรมาธิการ สนช. เอกสารตรวจสอบข้อเท็จจริงของกมธ.สนช.ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำและเป็นการทำโดยไม่ชอบ ทำเพื่อให้มีการนำเอามาใช้ต่อสู้เพื่อพลิกคดีโดยมิชอบให้นายวรยุทธ ใช่หรือไม่?
ขอตั้งคำถามว่า ความยืดเยื้อของคดี และความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ มาจากรายงานของกรรมาธิการ สนช.ที่ปั้นแต่งหลักฐานและพยานมาหักล้างสำนวนในคดีของอัยการที่สั่งฟ้องแล้ว เป็นการแทรกแซงอำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา ที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติตามหลักการแบ่งแยกอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ !?
รสนา โตสิตระกูล
18 สิงหาคม 2563