"สมควรลงโทษข้าราชการทุจริต สนองพระราชดำรัสฯเพื่อรักษาประเทศไทยให้รอดพ้นอันตราย"

"สมควรลงโทษข้าราชการทุจริต สนองพระราชดำรัสฯเพื่อรักษาประเทศไทยให้รอดพ้นอันตราย"

 

 

 

"สมควรลงโทษข้าราชการทุจริต สนองพระราชดำรัสฯเพื่อรักษาประเทศไทยให้รอดพ้นอันตราย"
 
 
มีพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ความตอนหนึ่งว่า "....ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริตและมีความตั้งใจมุ่งมั่นสร้างความเจริญก็ขอให้ต่ออายุได้ถึง100ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้ว ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย..."
ข้าราชการที่ดีต้องใช้กฎหมายให้เคร่งครัดให้หลวงได้ประโยชน์ ข้าราชการที่ดีย่อมไม่ตีความกฎหมายให้หลวงเสียประโยชน์ที่เป็นภาษีน้ำมันถึง3,000ล้านบาทใช่หรือไม่?
 
 
กระทรวงการคลังได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์วันนี้ ( 26 ตุลาคม 2559) อ้างกรณีที่กรมศุลกากรยกเว้นภาษีการส่งน้ำมันให้บริษัทเชฟรอนไปใช้ยังแท่นขุดเจาะในพื้นที่ไหล่ทวีปของไทยที่อยู่นอกอาณาเขต12ไมล์ทะเล โดยตีความว่าเป็นการส่งออกน้ำมัน เพราะกฎหมายศุลกากรไม่ได้กำหนดนิยาม "ราชอาณาจักร" ไว้ อีกทั้งอ้างว่ายังไม่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาหรือแนวการตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยไว้โดยตรงเกี่ยวกับปัญหาการส่งสินค้าไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกอาณาเขต12ไมล์ทะเล จะถือว่าเป็นการส่งไปยังพื้นที่นอกราชอาณาจักรหรือไม่? เลยจะให้กรมศุลกากรทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง
 
 
ข้ออ้างของกระทรวงการคลังเรื่องที่กฤษฎีกาไม่เคยวินิจฉัยเรื่องการส่งของไปยังแท่นขุดเจาะนั้น ขอให้อ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยตอบข้อหารือของกระทรวงการคลังประเด็น ก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ในเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยนั้น จะถือว่าอยู่ในเขตราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรอันจะไม่ต้องเสียอากรขาเข้าได้หรือไม่ (เลขเสร็จที่28/2525 มกราคม 2525) คำตอบก็คือ
 
 
"สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรจาก “ของ” ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร ในเมื่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้นิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ ความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” สำหรับ “ของ” ทั่วไปจึงต้องถือตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายความถึงอาณาเขตของประเทศตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถ้ามีกฎหมายเกี่ยวกับ “ของ” ใด โดยเฉพาะซึ่งนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ ความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” สำหรับของนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติไว้
 
 
พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้แสดงความประสงค์เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ชัดแจ้ง โดยระบุไว้ในมาตรา 4 ว่า “ราชอาณาจักร” หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไปและตามสัญญากับต่างประเทศด้วย และได้นิยามคำว่า “ปิโตรเลียม” ไว้ว่า หมายความรวมถึงก๊าซธรรมชาติด้วย ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” ในกรณีที่นำมาใช้กับก๊าซธรรมชาตินี้จึงต้องถือตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 กำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย ก็บัญญัติไว้สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมอีกด้วย
 
 
ก๊าซธรรมชาติที่นำขึ้นฝั่งทางท่อมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามที่กระทรวงการคลังหารือมานั้นได้ความว่าเป็นก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ภายในเขตไหล่ทวีปตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 นั้น จึงต้องถือว่าเป็นก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการขุดเจาะในราชอาณาจักร การนำก๊าซธรรมชาติขึ้นฝั่งทางท่อจึงมิใช่เป็นการนำจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร"
กล่าวให้ชัดๆลงไปอีกก็คือ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ 2469 มาตรา40 และมาตรา45 บัญญัติว่า ทั้งการนำเข้าสินค้าและการส่งสิ่งของใดๆออกนอกราชอาณาจักรต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการ
ศุลกากร....
 
 
อดีตนิติกรในกรมศุลกากรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เราเป็นนักกฎหมาย เรื่องนี้มันง่ายมากว่าต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯที่ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 4 ซึ่งต้องตีความให้เคร่งครัดให้หลวงได้ประโยชน์ กฤษฎีกาตีความวางแนวทางไว้แล้ว การตีความให้หลวงเสียหาย 3,000ล้านบาท เป็นการกระทำทุจริตผิดมาตรา157 รวมทั้งแพ่ง วินัยด้วย"
 
 
ปลัดกระทรวงการคลังไม่คิดบ้างหรือว่าหากมีการตีความว่าพื้นที่ไหล่ทวีปไม่ใช่ราชอาณาจักรไทย เพียงเพื่อให้เอกชนรายหนึ่งได้ประโยชน์ทางภาษีแล้ว ประเทศชาติจะเสียประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่เสียประโยชน์ในเรื่องภาษีเท่านั้น แต่การตีความดังกล่าวอาจจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยในเขตแดนไหล่ทวีป เพราะการตีความเช่นนั้นจะพัวพันไปถึงเขตแดนไหล่ทวีปว่ามิใช่อยู่ในอธิปไตยของประเทศไทย และกลายเป็นเขตแดนนอกราชอาณาจักรโดยเฉพาะพื้นที่ไหล่ทวีปที่มีบางส่วนทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีข้อพิพาทกันอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นหากตีความว่านอกอาณาเขต12ไมล์ทะเลมิใช่ราชอาณาจักรไทย
 
 
กล่าวโดยสรุปก็คือ การเสียค่าโง่จะไม่ส่งผลเสียแค่ประเทศจะไม่ได้ภาษีที่ควรจะได้เท่านั้น แต่จะลามไปถึงการเสียดินแดนได้ด้วย
การยื้อไม่ยอมเรียกคืนภาษีน้ำมัน 3,000ล้านบาทจากบริษัทเชฟรอนของปลัดกระทรวงการคลัง ต้องถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนว่ามีความผิดปกติหรือไม่?
 
สังคมควรตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีตีความในปี2554 ว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการส่งออก แทนที่จะถือว่าเป็นการใช้ในประเทศอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาโดยตลอด และการตีความเช่นนี้มีเพียงบริษัทเชฟรอนได้ประโยชน์ในการขอคืนภาษีเพียงบริษัทเดียว!?! เหตุใดบริษัทเอกชนรายอื่นๆที่ก็ได้สัมปทานขุดเจาะในเขตไหล่ทวีปของประเทศไทย จึงไม่มีใครมาขอคืนภาษีบ้าง?
 
หากผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจสั่งการเรียกคืนภาษีในกรณีนี้ ยังแกล้งโง่ ยืดเยื้อให้มีตีความใหม่ ไม่เร่งรัดให้มีการปฏิบัติเรียกคืนค่าโง่ภาษีน้ำมันคืนโดยเร็วเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ก็ควรที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดเอาผิดข้าราชการประเภทนี้ให้เห็นทันตาให้สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
 
 
เรื่อง รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร