พี่อุ่นเรือนนางในจินตนาการของคุณอังคาร กัลยาณพงศ์
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
พี่อุ่นเรือนนางในจินตนาการของคุณอังคาร กัลยาณพงศ์
พี่อุ่นเรือนจากไปสู่สัมปรายภพเมื่อวันพุธที่11 พฤศจิกายน 2563 ห่างกัน8ปีหลังจากมรณกรรมของคู่ชีวิตคุณอังคาร กัลยาณพงศ์ หนึ่งในมหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ประกาศตนว่าเป็นกวีมาแต่ชาติปางก่อน
บทกวี”เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง”เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของคุณอังคาร แสดงความเจ็บช้ำจากความรักอย่างลึกล้ำของกวีใหญ่ ที่เขียนขึ้นมานานมากก่อนที่คุณอังคารจะได้พบกับพี่อุ่นเรือนซึ่งมีอายุน้อยกว่าคุณอังคารถึง 2รอบนักษัตร
สิ่งที่น่าสนใจคือพี่อุ่นเรือนมีเค้าหน้าเหมือนภาพวาดนางทิพย์ มโนห์ราในจินตนาการของคุณอังคาร มานานกว่าจะมาพบกันจริงทำให้พวกเราพูดกันว่า พี่อุ่นเรือนคู่แท้คุณอังคารเกิดช้าไป24ปี จึงทำให้เกิดบทกวีแสนไพเราะ “เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง”
พี่อุ่นเรือนเป็นผู้หญิงสวยอย่างไทย วาจาไพเราะ เรียกดิฉันว่าน้องรส ยังจำเสียงหวานๆของพี่อุ่นเรือนได้เสมอ
ครั้งหนึ่งในปี2533 ฟูกูโอกะ มาซาโนบุ ชาวนาญี่ปุ่น เจ้าของงานเขียน ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว (ที่ดิฉันเป็นผู้แปล และเคยไปศึกษางานเกษตรธรรมชาติที่ไร่ของลุงฟู ระหว่างปี 2531-2532) ลุงฟูได้รับเชิญมาเยี่ยมชาวนาเมืองไทยโดยการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิเด็ก มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิโกมลคีมทอง ครั้งนั้นนอกจากการพาลุงฟูไปตะเวนเยี่ยมชาวนาทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือแล้ว ได้มีการสัมนาเชิงวิชาการในกรุงเทพฯ และที่เชียงใหม่ นอกจากนี้พวกเรายังได้พาลุงฟูไปพบท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ และ ได้พามาเยี่ยมคุณอังคารและพี่อุ่นเรือนที่บ้านของท่าน
ภาพประวัติศาสตร์ที่ถ่ายร่วมกันเมื่อ30ปีที่แล้ว ในภาพมีลุงฟู คุณอังคาร พี่อุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ พี่พิภพและพี่รัชนี ธงไชย พี่เดชา ศิริภัทร ฐิติมา คุณติรานนท์ หมอตั้ง(ล่าม) สมพล โสภณสิริ สันติสุข และ ดิฉันยังรำลึกถึงบทสนทนาในวันนั้นได้ดีโดยเฉพาะการประคารมระหว่างลุงฟู กับ คุณอังคาร
คุณอังคารเอาหินก้อนหนึ่งมาให้พวกเราดู และบอกด้วยความตื่นเต้นว่า หินสมัยพระเจ้าปราสาททอง อายุราว300-400 ปี ลุงฟูหยิบหินมาดูพลิกไปพลิกมาแล้วก็พูดยิ้มๆว่า “ผมว่าหินนี่อายุน่าจะไม่น้อยกว่าล้านปีนะครับ ไม่ใช่300-400ปีหรอก” คุณอังคารโต้ไม่ออก เพราะมุมมองต่างกัน คนหนึ่งมองอายุจากผลงานศิลปะ อีกคนมองอายุผลงานของธรรมชาติ จากนั้นคุณอังคารก็ออกปากชวนลุงฟูไปเที่ยวภูหลวง ซึ่งน่าจะเป็นที่ที่คุณอังคารมีความผูกพันประทับใจเพราะได้นำมาตั้งเป็นชื่อลูกชายคนโต ลุงฟูตอบว่า”ขาผมไม่แข็งแรง คงเดินขึ้นเขาไม่ไหว” คุณอังคารตอบกลับว่า “ไม่ต้องกังวลครับ ขนาดเบียร์ไม่มีขายังขึ้นได้เลยครับ” พูดเสร็จก็หัวเราะร่วน เรียกว่าการประคารมของ2ปราชญ์
จากนั้นก็เปลี่ยนมาเล่าขำขันเรื่องกลัวเมีย เริ่มจากพี่เดชาเล่าว่า “เรื่องเมียอ่ะนะ ผมใช้แค่หลังมือกับเท้าเท่านั้น” แล้วหยุดให้ล่ามแปล ลุงฟูฟังล่ามแปลถึงกับทำท่าตกใจ พี่เดชาพูดต่อ “หลังมือเอาไว้เช็ดน้ำตา ส่วนเท้าเอาไว้วิ่งหนี “ คราวนี้ลุงฟูและทุกคนพากันหัวเราะ หลังจากนั้นลุงฟูพอเจอหน้าพี่เดชา(ช่วงที่อยู่ไทย)จะยกหลังมือเช็ดน้ำตา พร้อมทำท่าวิ่งล้อเลียน และยังมีการเล่าขำขันเรื่องกลัวเมียอีกหลายเรื่อง พี่อุ่นเรือนเลยพูดขึ้นมาว่า “ฟังเล่าแบบนี้ ทำให้ผู้หญิงเป็นตัวร้ายนะคะ “ แล้วพี่อุ่นก็พูดต่อว่า “จริงๆก็อยากให้ผู้ชายเขาเชื่อและทำตามโดยผู้หญิงไม่ต้องพูดอะไรจะดีที่สุดค่ะ เราจะได้ไม่เป็นตัวร้าย” แต่ในแวดวงคนคุ้นเคย ย่อมรู้ดีว่าพี่อุ่นเรือนคือ นางฟ้าตัวจริงใน
ชีวิตของมหากวีอหังการ์ ที่ไม่เคยว่าร้ายสามีทั้งต่อหน้าและลับหลัง
นับว่าพี่อุ่นเรือนเป็นของขวัญอัญมณีที่เติมเต็มชีวิตของมหาจิตรกรกวีอังคาร กัลยาณพงศ์ ตลอดห้วงเวลาที่ร่วมชีวิตกันอย่างยาวนาน แม้สิ้นสามีสุดที่รัก และมีโรคาพยาธิรุมเร้าพี่อุ่นเรือนก็ยังอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่เชิดชูผลงานกวีศิลป์ของสามีให้ยั่งยืนอยู่คู่แผ่นดินสยามด้วยการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกรกวีอังคาร กัลยาณพงศ์ ณ ย่านสวนหลวง ถนนพระราม 9 อันเป็นที่แสดงผลงานศิลปะและกวีนิพนธ์ต้นฉบับที่หาดูไม่ได้ในที่อื่น ที่สำคัญพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเสมือนทัชมาฮาลแห่งความรักที่ผู้หญิงสามัญชนคนหนึ่งสร้างไว้เป็นอนุสรณ์แด่ชายคนรัก เพื่อให้คนทั้งหลายประจักษ์ว่าแผ่นดินสยามยังมีกวีใหญ่ไม่แพ้ที่ใดในโลก
รสนา โตสิตระกูล
13 พฤศจิกายน 2563