รัฐบาลอย่ายืนบังแดด เพื่อกระจายอำนาจด้านพลังงานคืนสู่ประชาชน !!

รัฐบาลอย่ายืนบังแดด เพื่อกระจายอำนาจด้านพลังงานคืนสู่ประชาชน !!

 

 

 

 

 

 

  

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รัฐบาลอย่ายืนบังแดด เพื่อกระจายอำนาจด้านพลังงานคืนสู่ประชาชน !!

 

 

 

เมื่อเดือนมกราคม 2558 สมัยที่ดิฉันยังเป็นสมาชิสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยมีข้อเสนอ Quick win ต่อรัฐบาลคสช.ให้สนับสนุนประชาชนติดตั้งโซล่าบนหลังคาบ้านเรือน โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย ( Net Metering ) สมัยนั้นท่านนายกรัฐมนตรีอ้างว่ายังไม่สามารถเปิดให้ประชาชนติดตั้งโซล่าบนหลังคาอย่างเสรี และไม่สามารถใช้ระบบหักลบกลบหน่วยได้ทันที ต้องให้เวลาการไฟฟ้าปรับปรุงระบบก่อน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาแล้ว 6ปีเต็ม จากรัฐบาลคสช.มาเป็นรัฐบาลเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่การเปิดให้ประชาชนติดโซล่าบนหลังคายังไม่มีความสะดวก และไม่จูงใจให้ประชาชนติดตั้ง ยิ่งข้อเสนอเรื่องให้ใช้ระบบหักลบกลบหน่วย ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะมีนโยบายในประเด็นนี้กระมัง !?

 

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประกาศนโยบายโซล่าประชาชน ว่าจะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์บนหลังคา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไปโดยจะรับซื้อในจำนวน 50 เมกกะวัตต์ และได้ปรับเพิ่มราคารับซื้อที่หน่วยละ 2.20 บาท จากเดิมที่เคยกำหนดที่หน่วยละ 1.68 บาท โดยจะรับซื้อเป็นเวลา 10ปี ทั้งที่โซล่าบนหลังคามีอายุผลิตไฟฟ้าได้25ปี

 

นโยบายโซล่าประชาชนนี้ไม่ได้จูงใจ และส่งเสริมให้ครัวเรือนอยากติดตั้ง เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายหลายเรื่องที่ทำให้การลงทุนนี้ไม่คุ้มทุน

 

เริ่มตั้งแต่กระบวนการขออนุญาตซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ประกาศใช้เมื่อ 1ตุลาคม 2558 ระบุให้ยกเว้นการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาอาคารที่พักอาศัย ที่มีพื้นที่ไม่เกิน160 ตารางเมตร และน้ำหนักไม่เกิน20 กิโลกรัม ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร ซึ่งฟังดูเผินๆเหมือนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งโซล่าบนหลังคาได้ง่าย แต่มีการพ่วงข้อความต่อท้ายว่า “โดยต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัยและแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนดำเนินการ” ข้อความพ่วงทำให้การติดตั้งโซล่าบนหลังคากลายเป็นเรื่องยาก และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

 

การติดตั้งโซล่าของบ้านเรือนส่วนใหญ่เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า น้อยรายที่คิดจะติดตั้งเพื่อขายไฟ บ้านเรือนส่วนใหญ่ติดตั้งในระดับ 1.5 -3 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้พื้นที่เพียง 10 -20 ตารางเมตร เท่านั้น จึงไม่ควรต้องให้มีภาระจ้างวิศวกรวุฒิมารับรองตามกฎกระทรวงดังกล่าว

 

 

 

 

 

ที่ผ่านมาบ้านที่ติดตั้งโซล่าบนหลังคา เมื่อมีค่าไฟลดลง การไฟฟ้าจะมาเปลี่ยนมิเตอร์บ้านนั้นให้เป็นมิเตอร์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้ตัวเลขมิเตอร์ย้อนกลับ (แต่จะรับแค่ไฟฟ้าที่ไหลไปให้การไฟฟ้าเท่านั้น) จึงน่าจะเป็นสาเหตุของการคิดระบบรับซื้อ 2.20บาท/หน่วย ส่วนไฟที่การไฟฟ้าขายให้บ้านเรือนคิดที่ราคา 4บาท/หน่วย ซึ่งการคิดเล็กคิดน้อยแบบนี้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้ง2ฝ่าย ข้อเสนอการใช้ระบบ Net Metering คือการยอมให้ไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตได้อยู่ในสายส่งโดยการไฟฟ้าไม่ต้องมาเปลี่ยนมิเตอร์กันตัวเลขหมุนกลับ ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนประชาชนมากกว่าปิดกั้น ในหลายประเทศ รัฐบาลออกเงิน ให้ประชาชนติดตั้ง 40-50% ด้วยซ้ำไป แต่ประเทศไทยนอกจากรัฐบาลไม่สนับสนุนประชาชนอย่างจริงใจแล้ว ยังสร้างอุปสรรคจนไม่มีใครกล้าลงทุนติดตั้ง ต้องยอมซื้อไฟฟ้า ทั้งที่แดดเป็นของฟรีที่ธรรมชาติมอบให้ทุกคน

 

รัฐบาลไทยเอื้อแต่โรงไฟฟ้าเอกชน เช่นการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ จากโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมของเอกชน รัฐบาลยอมรับซื้อไฟฟ้าในราคา3-5บาทต่อหน่วย ทั้งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อแพง และขายไฟต่อให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในราคาหน่วยละประมาณ 3บาทเท่านั้น เท่ากับ กฟผ.ซื้อเอกชนแพง แต่ขายให้กฟน.และกฟภ.ในราคาถูกกว่า ซึ่งราคาส่วนต่างที่ซื้อแพงก็ถูกผลักมาโปะไว้ในค่า Ft ที่เป็นภาระของประชาชนทั้งประเทศต้องจ่ายแทน

 

ด้วยเหตุนี้ แม้มีไฟฟ้าสำรองเกินอยู่ 40% แต่ก็ยังมีข่าวการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่เสมอ เพราะอะไร จึงมีการอนุมัติเอกชนผลิตไฟฟ้าขายให้กฟผ.ทั้งที่มีไฟสำรองเกินความจำเป็นแล้ว และยังมีการรับซื้อในราคาแพงได้ โดยมีอายุรับซื้อถึง 25ปี ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยข่าวร่ำลือที่ว่า มีเงินค่าอนุมัติเมกกะวัตต์ละล้าน ใช่หรือไม่ และนโยบายผลิตไฟเกินความจำเป็นดังกล่าว เอื้อประโยชน์การผูกขาดให้แก่ใคร?!

 

จึงมีคำถามต่อมาว่า เพราะเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตของประชาชนรายเล็ก รายน้อยในราคาที่เป็นธรรม ที่ช่วยเพิ่มรายได้จากการลดรายจ่ายของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้นได้ยาก ใช่หรือไม่

 

 

ข้อเสนอต่อนโยบายโซล่าประชาชนของรัฐบาล
1)นายกรัฐมนตรีควรเจรจากับรัฐมนตรีมหาดไทยให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่65 ให้การตรวจสอบรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารโดยวิศวกรโยธาเมื่อมีการติดตั้งโซล่าบนหลังคาเกิน 180 ตารางเมตรขึ้นไป ส่วนที่ใช้พื้นที่น้อยกว่านั้นให้ติดตั้งได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต
2)นายกรัฐมนตรีควรมีบัญชาให้ใช้นโยบายหักลบกลบหน่วยค่าไฟในระบบ Net Meteringได้แล้ว หลังจากขอเวลาพิจารณามา 6ปีแล้ว วิธีหักลบกลบหน่วยเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และตรงไปตรงมาเช่นสมมติว่าครัวเรือนใดที่ผลิตไฟจากโซล่าได้เดือนละ 200 หน่วย ใช้ ไฟฟ้าเดือนนั้น 250 หน่วย ก็จ่ายให้การไฟฟ้า 50หน่วยในราคาหน่วยละ 4บาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่อารยประเทศต่างๆเขาใช้กันอยู่แล้ว เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังฟอสซิล และเชื้อเพลิงสกปรก
ในช่วงการระบาดของ

 

โควิด-19รอบใหม่ ที่ทำให้คนตกงาน และมีรายได้น้อยลง การลดรายจ่ายจึงเป็นสาระสำคัญที่รัฐบาลควรพิจารณา นอกเหนือจากการมีนโยบายลดค่าไฟ ค่าน้ำให้ประชาชนแล้ว การสนับสนุนให้ประชาชนที่พอมีเงินสามารถติดตั้งโซล่าบนหลังคาเพื่อลดรายจ่าย ซึ่งจะทำได้โดยง่าย แค่รัฐบาลหยุดยืนบังแดด ด้วยการหยุดสร้างอุปสรรคในการใช้แสงแดดของประชาชนอย่างจริงใจ รัฐบาลก็สามารถช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชนจากการลดรายจ่ายได้แล้ว และยังเป็นการสร้างงานใหม่ในยุคนิวนอร์มอล ที่ช่วยให้คุณภาพของอากาศดีขึ้น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อเร็วๆนี้

 

ขอให้รัฐบาลหยุดบังแดด และเปิดทางสว่างให้ประชาชน ได้พึ่งตนเองจากพลังงานแสงอาทิตย์
รสนา โตสิตระกูล
14 มกราคม 2564