“รสนาเตือนรมว.คลังผิด157 ปล่อยรัฐวิสาหกิจตัดแบ่งกิจการตั้งบริษัทเอกชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ”

“รสนาเตือนรมว.คลังผิด157 ปล่อยรัฐวิสาหกิจตัดแบ่งกิจการตั้งบริษัทเอกชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ”

 

 

 

 

 

 

  

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

“รสนาเตือนรมว.คลังผิด157 ปล่อยรัฐวิสาหกิจตัดแบ่งกิจการตั้งบริษัทเอกชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ”

 

วันนี้ดิฉันได้ส่งหนังสือลงทะเบียนตอบรับถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ขอให้ใช้ดุลพินิจพิจารณามิให้มีการดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ร่วมกันทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แนะนำเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นบริษัทค้าน้ำมันและค้าปลีกว่าควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อนเกี่ยวกับประเด็นการปรับโครงสร้างของ ปตท. และการขายหุ้น OR ว่ามีหลายประเด็นที่ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน ต่อมา

 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ชี้แจงว่า ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขายหุ้น IPO ได้ทำอย่างรอบคอบ ไม่มีสมบัติแผ่นดินในธุรกิจของบริษัท ยืนยันว่ากระบวนการปรับโครงสร้างของปตท.มายัง ORโปร่งใสนั้น
ประเด็นสำคัญที่ตัวแทนของปตท.ไม่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายมหาชนที่มีหลักว่า “การใดหากไม่มีกฎหมายให้ทำได้ ไม่อาจทำได้” เมื่อไม่มีกฎหมายให้ปตท.สามารถตั้งบริษัทลูกหรือถือหุ้นในบริษัทอื่นได้ การตั้งบริษัทลูกOR ที่เป็นการแยกกิจการที่รัฐถือหุ้นอยู่51% มาตั้งเป็นบริษัทเอกชนนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายมหาชน บริษัทORย่อมเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโอนทรัพย์สิน กิจการและสิทธิต่างๆของปตท.ให้บริษัทORย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัทORไม่มีสิทธิในทรัพย์สิน 

 

กิจการและสิทธิต่างๆที่ตนได้รับโอนจากปตท.และผู้ซื้อหุ้นของบริษัทORก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สิน กิจการและสิทธิต่างๆที่มีการโอนมาจากปตท. ทั้งไม่มีสิทธิครอบงำดูแลกิจการและได้รับเงินปันผลแต่อย่างใด มาตรา 94 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหาคร พ.ศ.2528 ย่อมยืนยันหลักกฎหมายมหาชนที่ว่า “หน่วยงานของรัฐจะจัดตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัทต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ทำได้จึงจะทำได้” ซึ่งปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 4 เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 50 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี 3เมษายน 2550

 

หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปล่อยให้มีการตัดแบ่งกิจการในรัฐวิสาหกิจมาแปรรูปเป็นบริษัทของเอกชนได้ง่ายดาย โดยไม่ต้องมีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ก็ทำได้ ในที่สุดแล้วกิจการที่มีกำไรของรัฐวิสาหกิจก็จะถูกแปรรูปกลายเป็นกิจการของบริษัทเอกชนโดยง่าย ทำให้เอกชนมีอำนาจบริหารจัดการและครอบงำกิจการดังกล่าว จะกำหนดราคาค่าสินค้าและค่าบริการอย่างไรก็ได้ แม้จะไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริโภค เพราะถือหุ้นมีจำนวนมากกว่ากระทรวงการคลัง มีเสียงข้างมากกว่า ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

 

กระทรวงการคลังทำหน้าที่ถือหุ้นส่วนในกิจการปตท. 51% แทนประชาชนทั้ง68ล้านคนมีหน้าที่ต้องรักษาประโยชน์ของประชาชน การปล่อยให้ปตท.ตัดแบ่งเอากิจการที่มีกำไรไปตั้งบริษัทใหม่ โดยปตท.แม่ถือหุ้นน้อยกว่า 51% ย่อมเป็นการลดทอนหุ้นส่วนของประชาชน ที่มีอยู่ 51% ในปตท.ให้มีจำนวนน้อยลงในบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้น โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ และสตง.เคยทำเรื่องทักท้วงไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และ กราบเรียนนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น หากรัฐมนตรีกระทรวงการคลังยังปล่อยให้มีการดำเนินการแยกบริษัทOR โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้กระทำการย่อมมีความผิดฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำตามมาตรา 157 ซึ่งข้าพเจ้าจะทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป.ป.ช และคณะกรรมการตรวจการแผ่นดินต่อไป

 

จึงเรียนมาถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้กระทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิให้ผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต้องได้รับความเสียหายโดยใช้ดุลพินิจพิจารณามิให้มีการดำเนินการใดๆ ของบริษัทลูกที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

อนึ่ง การมีหนังสือนี้ไม่มีเจตนาขัดขวางการทำธุรกิจและธุรกรรมของปตท.และOR แต่อย่างใด แต่เมื่อมีปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีหนังสือนี้มาเพื่อให้ท่านใช้ดุลพินิจพิจารณา ซึ่งท่านจะพิจารณาและดำเนินการอย่างไรย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน

 

รสนา โตสิตระกูล
22 มกราคม 2564