“รสนา”ถามสนช.ต่างอะไรจากสภาฝักถั่วหากผ่านกฎหมายปิโตรเลียมโดยไม่ใช้วิจารณญาณอิสระ

“รสนา”ถามสนช.ต่างอะไรจากสภาฝักถั่วหากผ่านกฎหมายปิโตรเลียมโดยไม่ใช้วิจารณญาณอิสระ

 

 

 

 

รสนาถามสนช.ต่างอะไรจากสภาฝักถั่วหากผ่านกฎหมายปิโตรเลียมโดยไม่ใช้วิจารณญาณอิสระ

 

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะต่างอะไรจาก"สภาฝักถั่ว"ของพวกนักเลือกตั้ง หากต้องโหวตตามสัญญาณชู 2นิ้ว แบบที่สภาฝักถั่วบอกให้สมาชิกโหวตเห็นชอบกับร่างกฎหมายตามคำสั่งเจ้าของพรรคการเมือง

มาคอยดูว่าสนช. สภาที่มาจากการรัฐประหารจะโหวตผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม2ฉบับนี้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรหรือไม่ ทั้งที่รู้ชัดเจนว่าร่างกฎหมายทั้ง2ฉบับไม่ได้แก้ไขตามรายงานผลการศึกษาของสนช.เอง และเป็นกฎหมายที่ผ่องถ่ายทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติที่มีมูลค่าปีละ4-5 แสนล้านบาทให้เป็นของเอกชนไปอีก39 ปี

 

ประชาชนยืนหยัดต่อสู้คัดค้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ให้เปิดสัมปทานรอบ21 ตั้งแต่ปี2554 เพื่อให้มีการแก้ไขข้อเสียเปรียบของประเทศที่มาจากกฎหมายปิโตรเลียม 2514 เสียก่อน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเปิดสัมปทานรอบ21จนหมดวาระเพราะถูกรัฐประหาร

มาถึงวันนี้บ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐบาลคสช.ที่บอกจะปฏิรูปบ้านเมืองตามที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ แต่กลับไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน และเสียงทักท้วงจากประธานการตรวจเงินแผ่นดิน และ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ว่าร่างกฎหมายปิโตรเลียมยังมีจุดอ่อน จุดรั่วไหล ไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลไม่ยอมแก้ไขร่างกฎหมายให้เป็นไปตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติเอง การจงใจปล่อยให้มีจุดรั่วไหลของรายได้แผ่นดินทั้งที่มีการท้วงติงจากบุคคลหลายฝ่าย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นกระบวนการทุจริตเชิงนโยบายผ่านกระบวนการออกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากที่เคยเกิดในสภาของรัฐบาลเลือกตั้ง

 

หากร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่แก้ไข สนช.ก็ไม่ต่างอะไรจากสภาฝักถั่ว
ของนักเลือกตั้งที่ไม่ต้องใช้วิจารณญาณอิสระในการโหวตผ่านกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศ แค่ยกมือตามคำสั่งก็พอ การกระทำเช่นนี้เป็นการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน

 

ต้องจับตาดูวันจันทร์ที่21 พ.ย 2559 ว่าคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับ จะดึงดันผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับหรือไม่? เพราะเมื่อผ่านชั้นกรรมาธิการแล้ว ร่างกฎหมายทั้ง2ฉบับก็จะถูกส่งเข้าไปประกอบพิธีกรรมโหวตในสภาสนช.ภายในเดือนธันวาคมนี้

 

รัฐบาลควรรักษาความรู้สึกของประชาชนไว้บ้าง
ในช่วงเวลาที่คนไทยเศร้าโศกกับการเสด็จสวรรคตของ"พ่อของแผ่นดิน" รัฐบาลไม่ควรฉวยโอกาสผ่านกฎหมายปิโตรเลียมที่อัปลักษณ์ทั้ง2ฉบับในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสำคัญของคนไทยทั้งชาติ

รัฐบาลจะกล้าพูดได้เต็มปากละหรือว่า กำลังปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของ"พ่อ" เพื่อปฏิบัติบูชาพระองค์ท่าน !?!