คนไทยไม่ใช่หนูทดลองวัคซีน-รู้ให้เท่าทันการล่าอาณานิคมวัคซีน

คนไทยไม่ใช่หนูทดลองวัคซีน-รู้ให้เท่าทันการล่าอาณานิคมวัคซีน

 

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

คนไทยไม่ใช่หนูทดลองวัคซีน-รู้ให้เท่าทันการล่าอาณานิคมวัคซีน

 

เชื้อโควิด-19 เป็นไวรัสที่มีหนามจึงมีชื่อว่า โคโรน่าไวรัส แปลว่าไวรัสที่มีมงกุฎหนาม ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายเร็ว มีความรุนแรงและแพร่ระบาดไปในระดับโลก โดยอัตราการเสียชีวิตในระยะแรกจะสูงมาก อย่างไรก็ตาม ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่ง ในยามเริ่มแรกไวรัสโควิด-19 ยังเป็นพวกป่าเถื่อนอยู่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเลย เปรียบเทียบกับโรคโคโรนาไวรัสซาร์สตัวแรกเมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีมงกุฏหนามเช่นกันแต่เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต เชื้อไวรัสก็ตายด้วย ทำให้ซาร์ส-1 สูญหายไปเองอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหรือฉีดวัคซีนสารพัดยี่ห้อเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับโควิด-19 หรือ ซาร์ส-2 แม้จะรุนแรงน้อยกว่าซาร์ส-1 แต่ก็สิงสถิตอยู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ยาวนานกว่ามาก และยังไม่มีใครตอบได้ว่าเจ้าโคโรนาไวรัสซาร์ส-2 หรือโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน

 

ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปในระยะใกล้ๆนี้ ยังไม่เคยมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคไวรัสอุบัติใหม่ใดๆได้สำเร็จเลย จนกระทั่งโรคระบาดเหล่านั้นสูญหายไปเองในปีเดียว โดยไม่ต้องใช้วัคซีนเลย เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่2009 โรคซาร์ส โรคเมอร์ส เป็นต้น

 

 

ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตวัคซีนออกมา กลับมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสใหม่ทุกปี
แม้แต่โรคไวรัสเอดส์ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงในอเมริกามาตั้งแต่ปี2524 และเชื้อไวรัสเอดส์ยังอยู่กับเรามาจนบัดนี้ มีตัวเลขเมื่อปี 2563นี้เองว่ามีผู้ติดเชื้อ HIV ทั่วโลกราว 37 ล้านคน กล่าวเฉพาะในกรุงเทพฯของเราจังหวัดเดียว ยกตัวอย่างในปี2562 มีผู้ติดเชื้อ HIV ราว 77,558 คน และมีผู้เสียชีวิตที่รายงานว่าตายเพราะเอดส์ในปีเดียวกันจำนวน1,877 คน ในปัจจุบันเรามีแต่ยาต้านเชื้อเอดส์ แต่ไม่มีวัคซีนป้องกันเอดส์แม้แต่เข็มเดียว ทั้งที่พวกบริษัทผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่มีเวลายาวนานถึง 40 ปี แต่ทำไมไม่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนเอดส์

 

ในช่วงหลังจะพบว่าไวรัสโควิด-19 มีการปรับตัวมากขึ้นเพื่อจะได้ดำรงอยู่กับผู้ติดเชื้อได้ จึงมีการกลายพันธุ์ ที่พบขณะนี้อย่างน้อย 3 สายพันธุ์ คือ (1) สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 (2) สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 และ (3) สายพันธุ์บราซิลP.1 ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์นั้น ชนิดใดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดิม โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ไวรัสทั้ง 3 สายพันธุ์นี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ปุ่มโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ทำให้สามารถที่จะเข้าสู่เซลล์และแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น

 

 

โชคดีของคนไทยที่โควิด-19 ในระลอก 2 และ 3 ในประเทศเรานี้ มีอัตราความรุนแรงต่ำลงจากปีที่แล้ว โดยจากเดิมเมื่อปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 2.95% แต่ปัจจุบันแม้มีผู้ติดเชื้อมาก แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.34% แปลว่าความรุนแรงของโรคลดลงมาก แม้ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เชื้อโควิด ระยะหลัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ “ไม่มีไข้” แปลว่า ที่ผ่านมาการคัดกรองไข้ตามสถานที่ต่างๆ อาจจะหลงทางมานาน การคัดกรองด้วยการวัดไข้ 37.5 องศาเซสเซียส อาจกลายเป็นตัวชี้วัดที่ได้ผลน้อยหรืออาจไม่ได้ผลเลย จึงยากแก่การป้องกันควบคุมโรคระบาดระลอกใหม่นี้ได้

 

วัคซีนในปัจจุบันที่ประเทศไทยนำมาใช้มีอยู่ 2 ยี่ห้อคือ ซีโนแวคจากจีน และแอสตร้าเซเนก้าจากเกาหลีใต้ ซีโนแวคมีประสิทธิศักดิ์ต่ำแต่ปลอดภัยกว่าเพราะมาจากเชื้อโควิดที่ตายแล้ว แต่กลับห้ามฉีดในผู้สูงวัย ทั้งๆที่กลุ่มผู้สูงวัยเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงของโรคมาก และอัตราการเสียชีวิตสูง แปลว่าเรากำลังฉีดวัคซีนลดความรุนแรงในกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้ดูเหมือนว่าวัคซีนเป็นตัวช่วยเรื่องนี้ ซึ่งแท้จริงอาจไม่ใช่มาจากวัคซีนก็เป็นได้ใช่หรือไม่

 

 

ในขณะที่แอสตร้าเซเนก้า เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสหวัดชนิดหนึ่งจากลิงชิมแปนซี มาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้มีโปรตีนโคโรนาไวรัสเลียนแบบ ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโควิด-19 ได้ ในทางทฤษฎี (ขอให้ขีดเส้นใต้ตรงคำว่า”ในทางทฤษฎี”) วัคซีนแอสตรเาเซเนก้าจึงอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ดีขึ้น และปลอดภัยขึ้น โดยทั้งนี้พบว่ายังเป็นวัคซีนที่มีค่าประสิทธิศักดิ์ต่ำกว่าวัคซีนอีกหลายตัวในยุโรป และเป็นวัคซีนที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย จึงยังไม่ใช่วัคซีนที่จะใช้ป้องกันโรค หรือใช้วงกว้างมากที่สุดเช่นกันในเวลานี้ ใช่หรือไม่

 

ข้อเสนอของหลายฝ่ายในการใช้วัคซีนให้มากทั่วถึงและรวดเร็วในเวลานี้ดูไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างเรา ๆ จะเข้าใจได้เลย เพราะข้อเท็จจริงขัดกับความเชื่อที่ว่าวัคซีนจะเป็นเครื่องช่วยชีวิต ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดได้ ซึ่งผูกติดกับความเชื่อดั้งเดิมว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก แต่วัคซีนโควิดในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ประเด็นข้างต้น จริงอยู่วัคซีนโควิดอาจช่วยได้คือลดความรุนแรงและไม่เสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด แต่ถ้าอัตราการตายจากโควิดในปีนี้ ลดลงมากจาก 2.75% ของปี 2563 เหลือเพียง 0.34% ในปี 2564 แน่นอนว่าไม่ได้เป็นผลมาจากวัคซีนแต่อย่างใด เพราะคนไทยเพิ่งได้รับวัคซีนไปราว 5 แสนคน ยังไม่ถึง 1% ของประชากรด้วยซ้ำไป ทั้งที่ ข้อมูลทางวิชาการระบุว่าวัคซีนที่จะหยุดการแพร่ระบาดได้ ต้องฉีดให้ได้อย่างต่ำ 25-60% ของประชากรจึงอาจจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้

 

 

ณ ขณะนี้ ประสิทธิศักดิ์ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่นักไวรัสวิทยาและนักอิมมูโนวิทยาทั่วโลก แม้องค์การอนามัยโลกจะไฟเขียวให้ใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็ตาม แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนมากเท่าใด จึงจะเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันได้จริงและอยู่ได้ยาวนานเพียงไร

 

สิ่งที่น่าปะหลาดใจอีกอย่างจากกรณีการตรวจเชิงรุกที่กลุ่มประชากรที่สมุทรสาคร ช่วงระบาดระลอก 2 พบข้อมูลสำคัญว่าผู้ที่เข้าตรวจนั้นมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 อยู่แล้วถึง 73% โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนใดๆ เลย (ดูตารางประกอบ) ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐควรทุ่มสรรพกำลังในการศึกษาวิจัยว่าคนในจังหวัดที่พบการระบาดมาก ว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วเท่าใด หากพบมากก็จะไม่ต้องไปฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองไปอีก
วิกฤตการณ์โควิดในเวลานี้ไม่ต่างจากสงครามโลกในอดีต แต่คราวนี้เป็นสงครามกับเชื้อโรค ในยามสงครามผู้จะร่ำรวยจากสงครามคือพ่อค้าอาวุธ แต่สงครามกับเชื้อโรค ผู้ที่จะร่ำรวยก็คือพ่อค้ายาและวัคซีน ใช่หรือไม่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปอดสงสัยไม่ได้ ยิ่งคนแตกตื่นและหวังพึ่งวัคซีนที่ยังพัฒนาไม่เต็มร้อยเพียงอย่างเดียว จนไม่สนใจทางเลือกอื่นๆ ก็มีแต่ทำให้บริษัทยาร่ำรวยโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

 

รัฐบาลควรพิจารณาทางเลือกจากภูมิปัญญาสมุนไพรของนักวิจัยไทยและนานาชาติในการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิดโดยการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษา ซึ่งไม่ต่างจากการติดตามรายงานผลอาการ และผลข้างเคียงของคนรับวัคซีน เฟส 4 (post marketing) ของบริษัทยา โดยที่ฟ้าทะลายโจรเป็นยาในบัญชียาหลัก จึงมีความปลอดภัยสูง การพบว่าฟ้าทะลายโจรสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลอง และการใช้ทางคลินิกพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด 270 คน สามารถหายได้ภายใน 5 วัน ที่รับรองผลการทดลองโดยกรมแพทย์แผนไทยแล้วอีกด้วย

 

ไม่ใช่แค่การทดลองในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีงานวิจัยของจีนเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรกับโควิด-19 เมื่อ18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนักวิจัยจีนใช้เทคนิคการจับของโครงสร้างยากับเชื้อโรค (molecular docking) ในคอมพิวเตอร์ พบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ และอนุพันธุ์ของฟ้าทะลายโจร จับตัวกับเชื้อโควิดหลายตำแหน่งโดยเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส โควิด และยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส นอกจากนี้จีนยังเคยจดสิทธิบัตรสารแอนโดรกราโฟไลด์และอนุพันธ์ของฟ้าทะลายโจรในการป้องกันและรักษาโรคซาร์ส-1 ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสตระกูลเดียวกับโควิด-19

 

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ตีพิมพ์แนวการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภาวะปอดเสียหายเฉียบพลัน พบว่าอนุพันธุ์ของฟ้าทะลายโจร ชื่อ Dehydrographolide Succinate ซึ่งขึ้นทะเบียนที่จีนใช้เป็นยาฉีดรักษาปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในการรักษาปอดเสียหายจากโควิดในรูปยาพ่นละออง
กลไกสำคัญของฟ้าทะลายโจรที่พบ 4 ประการคือ
1) กลไกป้องกันไวรัสเข้าเซลล์
2) ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
3) ลดการอักเสบ โดยเฉพาะที่ปอด
4) เพิ่มภูมิคุ้มกัน

 

อย่างไรก็ดีวัคซีนป้องกันที่ดีที่สุดคือการเว้นระยะห่างทางกายภาพ การสวมใส่มาสก์ การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขภาพเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งแนวทางนี้ ประเทศไทยเคยทำมาแล้วสมัยเกิดอหิวาตกโรคเมื่อ 200 ปีก่อน (พ.ศ. 2363) สมัยรัชกาลที่ 2 คนไทยในพระนครตายไป 30,000 คน ในเวลานั้น มีประชากรในกรุงเทพฯแค่แสนเศษ เท่ากับเสียชีวิตถึง 30% แต่เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ทรงรับสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน (lock-down) ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ก็โปรดมิให้เข้าเฝ้า ให้งดกิจราชการเสียทั้งหมด ปล่อยไพร่ทาสและนักโทษทั้งหมดให้กลับไปอยู่บ้านเรือนของตน ถนนหนทางไม่มีคนเดิน ตลาดหยุดค้าขาย เว้นไป 15 วัน โรคระบาดภายในกรุงเทพฯสมัยนั้นก็ทุเลาลง

 

การต่อสู้กับโควิด-19 ในเวลานี้ ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ และความพยายามในการพึ่งตนเองโดยอาศัยภูมิปัญญาการรักษาของสังคม และลดการระบาดด้วยสุขอนามัยคือการใส่มาสก์ ล้างมือ ไม่อยู่ในที่แออัดอย่างที่บรรพบุรุษไทยเคยใช้กันอย่างได้ผลมาแล้ว ในขณะที่หลายคนกำลังคิดว่าทำไมประเทศไทยจึงฉีดช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทำไมเราไม่ตั้งคำถามว่า เราจะเสี่ยงกับวัคซีนที่ยังไม่วิจัยอย่างชัดเจนเพื่ออะไร ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราความรุนแรงของโรคต่ำมาก อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำมาก และวัคซีนก็ยังไม่ถึงระดับป้องกันการติดเชื้อได้ อีกทั้งเราสามารถใช้สมุนไพรของเราเองรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลดีอยู่แล้ว

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ที่โควิดยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนอาจต้องฉีดวัคซีนกันไม่สิ้นสุด คนไทยควรจะเป็นหนูทดลองพร้อมชาติอื่น หรือจะให้คนชาติอื่นใช้วัคซีนไปก่อนสักพักเพื่อดูผลกระทบโดยรวม อะไรที่จะเป็นวิธีที่ดีกว่ากัน
รสนา โตสิตระกูล
11 เมษายน 2564