เปิดงานวิจัยคนไทยได้ตีพิมพ์ระดับโลก “ฟ้าทะลายโจรยับยั้งเชื้อโควิด-19”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
เปิดงานวิจัยคนไทยได้ตีพิมพ์ระดับโลก “ฟ้าทะลายโจรยับยั้งเชื้อโควิด-19”
ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าข้อเขียนเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 จะถูกปิดกั้นในระบบโซเชียลมีเดีย และบล็อกการเข้าถึงข้อมูลแบบเดียวกับที่มีการบล็อกการเข้าถึงข้อมูลการใช้โกฐจุฬาลัมพาของประธานาธิบดีประเทศมาดากัสการ์ที่ทำเป็นเครื่องดื่มให้ประชาชนกินป้องกัน โควิด-19 นั้น แต่บัดนี้การบล็อกไม่ให้ประชาชนไทยเข้าถึงข้อมูลการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 น่าจะไม่สามารถปิดกั้นได้แล้ว เพราะมีผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงของสมาคมเภสัชเวทแห่งอเมริกา ชื่อ Journal of Natural Products ได้ตีพิมพ์รายงานทางวิชาการของทีมนักวิจัยชาวไทยที่นำโดย คณิต เสงี่ยมสุนทร, อำภา สุขสาธุ, สุภาภรณ์ ปิติพร ฯลฯ ซึ่งในทีมมีนักวิจัยรวมทั้งสิ้น 18 คน ได้ทำวิจัยทดลองการใช้สารสกัดรวมของฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของต้นฟ้าทะลายโจรต่อเซลล์เยื่อบุผิวปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองที่ถูกทำลายจากเชื้อโควิด-19 โดยสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสได้เป็นผลสำเร็จ
ข้อสรุปของงานวิจัยนี้กล่าวว่า “ในการทดลองได้ใช้สารสกัดรวมของฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลค์บริสุทธิ์กับเซลล์เยื่อหุ้มปอดของมนุษย์ที่ติดเชื้อโควิด พบว่าสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสไม่แตกต่างกัน” และ “....ฟ้าทะลายโจรมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด ....”
จากงานวิจัยล่าสุดและการทบทวนงานวิจัยก่อนหน้านี้ พบว่า ฟ้าทะลายโจรมีความสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิดในหลายกระบวนการขั้นตอน ตั้งแต่
- ยับยั้งการเข้าเซลล์ของไวรัส
- ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ส่งผลให้จำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิดลดลง ประกอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ก่อนหน้านี้ที่ยืนยันถึงฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรที่
- ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
- ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจได้หลายชนิด
- มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่ไม่รุนแรง
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำลองในคอมพิวเตอร์ พบว่าโครงสร้างที่ซับซ้อนตามธรรมชาติในฟ้าทะลายโจรมีความสามารถในการจับกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แม้จะกลายพันธุ์ไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้บ่อยของไวรัสยังมีงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ และงานวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรแคปซูลรักษาผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลของรัฐที่เรียกว่า R2R (Routine to Research)ซึ่งเป็นการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ผลปรากฏว่าทั้งใน รพ. ศูนย์, รพ. ทั่วไป และ รพ. สนาม จำนวน 9 แห่ง โดยทดลองให้ฟ้าทะลายโจรแก่ผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน พบว่าผู้ป่วยทุกราย รวม 276 ราย มีอาการดีขึ้นทุกอาการป่วย ความรุนแรงของอาการลดลง เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล (ดูรูปกราฟประกอบ)
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์การใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ติดเชื้อโควิดในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษที่ได้รายงานผลการใช้ฟ้าทะลายโจรกับคนไทยในอังกฤษว่าได้ผลดี และสนับสนุนว่ารัฐบาลควรต่อยอดการพัฒนาฟ้าทะลายโจรต่อไป และมีรายงานจากคนไทยในต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในนอร์เวย์ เยอรมัน อเมริกา คูเวต ซึ่งมีการสื่อสารกันในโซเชียลมีเดียว่า ใช้ฟ้าทะลายโจร ทะลายโควิดได้ผลดี บางประเทศมีปัญหาโรงพยาบาลปกติและโรงพยาบาลสนามไม่มีเตียงเพียงพอรับผู้ป่วยโควิด ถึงขนาดปล่อยให้กลับไปกักตัวที่บ้าน และไม่มียาให้ มีแค่คนคอยโทรศัพท์ติดตามอาการเท่านั้น คนไทยในต่างประเทศเหล่านี้ได้อาศัยฟ้าทะลายโจรในการช่วยรักษาตนเอง และส่วนใหญ่หายเป็นปกติ
ฟ้าทะลายโจรจึงน่าจะเป็นทางรอดอีกทางหนึ่งสำหรับการพิจารณานำมาใช้กับคนป่วยติดเชื้อในขณะนี้ ที่ปะทุขึ้นใหม่เป็นระลอกที่ 3 จากคลัสเตอร์แหล่งบันเทิงย่านทองหล่อ การระบาดระลอก 3 ที่มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจนท่านนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทำงานที่บ้านหลังหมดเทศกาลสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือนเมษายน และ รพ. สนามก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในวงกว้าง
ดิฉันเห็นว่ารัฐบาลไทย และกระทรวงสาธารณสุขน่าจะมี นโยบายในการนำฟ้าทะลายโจร ยาดีในบ้านเราที่มีงานวิจัยมากมายรองรับสรรพคุณและความปลอดภัย มาช่วยรักษาผู้ป่วยที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนอาจประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์-สาธารณสุขในอนาคตอันใกล้นี้ เชื่อว่าหากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เร่งตัดสินใจนำยาฟ้าทะลายโจรมาใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐานในการรักษาโควิดแล้ว น่าจะช่วยลดความรุนแรงของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดได้อย่างมีประสิทธิผล
รสนา โตสิตระกูล
16 เมษายน 2564
#ฟ้าทะลายโจร #ยารักษาโควิด #Covid-19 #รสนา โตสิตระกูล #รสนา # พึ่งตนเองด้วยฟ้าทะลายโจร #วัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
เอกสารอ้างอิง
[1] งานตีพิมพ์ทางวิชาการฉบับแรกของโลกว่าด้วยการใช้ฟ้าทะลายโจรยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในเซลล์เยื่อหุ้มปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองโดย The Journal of Natural Products is a monthly peer-reviewed scientific journal covering all aspects of research on the chemistry and/or biochemistry of naturally occurring compounds. It is co-published by the American Society of Pharmacognosy and the American Chemical Society. The editor-in-chief is Philip J. Proteau (Oregon State University).