รสนาถามถึงจริยธรรมสื่อ “เนชั่น” เซ็นเซอร์ข้อมูลดีเบต เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช่หรือไม่ !?

รสนาถามถึงจริยธรรมสื่อ “เนชั่น” เซ็นเซอร์ข้อมูลดีเบต เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช่หรือไม่ !?

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนาถามถึงจริยธรรมสื่อ “เนชั่น” เซ็นเซอร์ข้อมูลดีเบต เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช่หรือไม่ !?

 

เนชั่นได้เชิญดิฉันดีเบตเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับซีอีโอบีทีเอสในกรณีราคา25 บาททำได้จริงหรือไม่

 

ดิฉันและทีมงานได้ตั้งใจทำข้อมูลตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นว่าราคา25บาททำได้ หากมีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังหมดสัญญาในปี 2572 โดยดิฉันได้ส่งเอกสารนำเสนอ ให้เนชั่นไป 5 รายการ และในการอัดเทป ดิฉันก็ได้แสดงเอกสารพร้อมอธิบายตัวเลขตามไฟล์นำเสนอ ทั้งหมด
 
 
 
 
แต่ปรากฎว่าเมื่อรายการออนแอร์ในคืนวันที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 22.20น รายการได้ตัดเอกสารและคำอธิบายของดิฉันออกไปเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่สำคัญที่แสดงว่า 25 บาททำได้จริง โดยพิธีกรไม่แจ้งให้ดิฉันทราบว่าจะมีการตัดข้อมูลออก ขอถามว่าพิธีกรในรายการ หรือเจ้าของช่องเนชั่นมีสิทธิเซนเซอร์ข้อมูลของผู้ร่วมรายการได้ด้วยหรือ ?

 

ข้อมูลสำคัญที่ถูกตัดออกคือตัวเลขจากงบการเงินปี 2557 ของบริษัทบีทีเอสซี ที่แสดงต่อตลาดหลักทรัพย์ ที่แสดงให้เห็นว่าต้นทุนการเดินรถของบีทีเอสในปี 2557 มีต้นทุนเที่ยวละ 17บาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่ได้รวมต้นทุนค่าโครงสร้างพื้นฐานตามสัมปทานปัจจุบันไว้ด้วยแล้ว ดังนั้นหลังปี 2572 เมื่อหมดหนี้ค่าโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้าแล้ว ต้นทุนการเดินรถต่อเที่ยวย่อมน้อยกว่า 17 บาทอย่างแน่นอน ดังนั้นการต่อสัมปทาน 30ปี โดยให้บีทีเอสคิดราคาค่าโดยสาร 65 บาท จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน บนภาระประชาชน และต้องตั้งข้อสังเกตว่ามีเงินทอนให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจหากตัดสินใจต่อสัมปทาน 30 ปี ด้วยค่าโดยสาร 65 บาทหรือไม่

 

 
 
พิธีกรคือคุณนารากร ติยายน ไม่ได้แจ้งดิฉันว่าจะตัดไฟล์นำเสนอ power point และคำอธิบายเหล่านี้ออกไป ที่ดิฉันใช้อธิบายให้ผู้ชมการดีเบตฟังว่า เหตุใด 25 บาทจึงทำได้ การตัดข้อมูลสำคัญในการแสดงเหตุผลให้ผู้ชมได้เห็นว่าราคา 25 บาททำได้นั้น จะถือว่าเป็นการผิดจริยธรรมของสื่อมวลชนหรือไม่ ?

 

หัวข้อที่ตั้งชื่อว่า “บีทีเอส ราคาที่ต้องจ่าย” ดิฉันสงสัยชื่อหัวข้อว่าดูไม่ค่อยตรงกับประเด็นที่ติดต่อให้มาพูด จึงเขียนถามคนติดต่อว่า ”ราคาที่ต้องจ่าย หมายถึงค่าโดยสารของประะชาชน หรือ ของบีทีเอส ชื่อไม่ชัดเจน อย่างไรพี่ก็จะพูดว่า 25 บาทคือราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนควรจ่าย” ซึ่งผู้ประสานงานตอบดิฉันว่า “ได้เลยค่ะ เพราะทั้งสองฝั่งก็เห็นในเรื่องราคาที่ต่างกัน”

 

 

แต่ปรากฎว่าในการดำเนินรายการ พิธีกรดำเนินเนื้อหามุ่งไปเรื่องประเด็นการทวงหนี้จากกทม. และรัฐบาลให้บีทีเอสมากกว่าการดีเบตว่าราคา 25 บาททำได้หรือไม่ พิธีกรพยายามอธิบายว่าบีทีเอสเป็นบริษัทมหาชนต้องรับผิดชอบกับผู้ถือหุ้น เมื่อกทม. มีหนี้ก็ต้องรับผิดชอบ และยังถามว่าผู้บริโภคจะกดดันให้ กทม.จ่ายหนี้ไหม ตลอดจนเปิดคลิปที่ซีอีโอบีทีเอสพูดกับผู้โดยสาร ตั้งข้อสงสัยว่ามีไอ้โม่งคอยขัดขวางการแก้ปัญหาในการต่อสัมปทาน และพูดย้ำแต่เรื่องคืนหนี้ และยังมาถามดิฉันว่ารู้ไหม ใครเป็นไอ้โม่งคนนั้น ใช่กระทรวงคมนาคมหรือไม่?!

 

ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่ควรเป็นบทบาทของสื่อและพิธีกรดำเนินรายการที่เอียงข้างฝ่ายธุรกิจเอกชนขนาดนี้หรือไม่ !?

 

ดิฉันขอเรียกร้องเจ้าของสื่อเนชั่นแก้ไขความผิดพลาดในคร้ังนี้ด้วยการ
1. ขอให้เผยแพร่เทปสัมภาษณ์ฉบับเต็มในทีวี
2. ขอให้เผยแพร่เทปสัมภาษณ์ฉบับเต็มในยูทูป
3.ขอให้เนชั่น และสมาคมสื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องจริยธรรม ขอให้องค์กรผู้กระทำความผิดขอโทษต่อผู้ชมและขอให้มีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดอย่างเป็นรูปธรรม
รสนา โตสิตระกูล
28 เมษายน 2564