การแปรรูป คือ ขบวนการโยกย้ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชน ใช่หรือไม่?

การแปรรูป คือ ขบวนการโยกย้ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชน ใช่หรือไม่?

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

 

การแปรรูป คือ ขบวนการโยกย้ายทรัพย์สินของรัฐให้เอกชน ใช่หรือไม่?

 

    การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.)เคยเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ100% ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐในการบริหารกิจการพลังงานทั้งระบบในฐานะกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท)คือการทำลายเครื่องมือของรัฐในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม และกิจการพลังงานของประเทศ ด้วยการเปลี่ยนให้เป็นกิจการค้ากำไรสูงสุดของธุรกิจเอกชน


       
       1 ) ก่อนการแปรรูปปตท.มีมติครม.ให้แยก"กิจการก๊าซ"ออกจากกิจการการจัดหาและจัดจำหน่าย และให้การปิโตรเลียมฯถือไว้100% หมายความว่ามติก่อนการแปรรูปปตท. ต้องการให้แปรรูปเฉพาะบางกิจการที่เอกชนแข่งขันกันได้ ส่วนกิจการที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติคือกิจการก๊าซ ที่มีสาธารณสมบัติที่ไม่สามารถโอนให้เอกชน รัฐบาลก่อนหน้านั้นจึงมีมติให้การปิโตรเลียมฯถือกิจการก๊าซไว้100% จึงแสดงว่าไม่ได้ต้องการให้แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยทั้งองค์กร
       
       แต่รัฐบาลไทยรักไทย จงใจให้แปรรูปทั้งองค์กร แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงว่าควรแยกท่อก๊าซออกก่อนแปรรูป นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น อ้างว่าถ้าต้องรอแยกท่อก๊าซ ก็จะไม่สามารถแปรรูปให้เสร็จภายในปี2544 จึงออกเป็นมติครม.ว่าจะแยก"ท่อก๊าซ"หลังแปรรูปแล้ว 1ปี และระบุในเอกสารชี้ชวนการซื้อหุ้นปตท.ว่าความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องรับรู้คือ (1)รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ มีอำนาจแทรกแซงราคาได้ (2) ท่อก๊าซจะถูกแบ่งแยกตามกฎหมายภายใน1ปี
       
       2) การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยทั้งองค์กรคือการถ่ายโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของรัฐ และอำนาจมหาชนทั้งหมดซึ่งเป็นอำนาจผูกขาดที่เคยเป็นของการปิโตรเลียมฯ ไปให้กับองค์กรธุรกิจเอกชนคือ บมจ.ปตท. ทำให้บมจ.ปตทมีกำไรอย่างมหาศาล เอกชนที่ถือหุ้น49% ด้วยเม็ดเงินลงทุนเพียงประมาณ28,000ล้านบาท ก็ได้ส่วนแบ่งทั้งกำไรและทรัพย์สินเกินมูลค่าเม็ดเงินที่ลงทุนหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศที่เคยเป็นเจ้าของปตท.100%
       
       3 ) หากมีการแยกกิจการก๊าซก่อนแปรรูป กิจการก๊าซทั้งระบบจะยังเป็นของรัฐรวมทั้งระบบท่อส่งก๊าซทั้งบนบกและในทะเล และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็จะยังคงดำรงอยู่ และสามารถพัฒนาเป็น "บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ" ที่จะช่วยบริหารกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และกำไรของกิจการปิโตรเลียมทั้ง100% จะเป็นของประเทศ
       
       รัฐบาลที่มีมติให้แยกท่อก๊าซหลังแปรรูป 1ปี ย่อมรู้ว่ามีความแตกต่างในเรื่องของกรรมสิทธิ์ กล่าวคือถ้าแยกก่อนการแปรรูป รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อก๊าซ100% แต่แยกท่อก๊าซหลังแปรรูป รัฐจะเหลือความเป็นเจ้าของในโครงข่ายท่อก๊าซตามสัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังมีอยู่คือ 51% โดยมีเอกชนเป็นเจ้าของระบบท่อก๊าซในสัดส่วน 49% ซึ่งเอกชนไม่สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน จึงเป็นการแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในภายหลังศาลปกครองสูงสุดก็ได้วินิจฉัยเช่นนั้น และมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน
       
       แต่หลังการแปรรูปปตท. รัฐบาลไทยรักไทยก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซตามที่เคยมีมติว่าจะแยกภายใน1ปี โดยอ้างว่าจะใช้ "ระบบผูกขาดการซื้อเจ้าเดียว" ( Single buyer ) บมจ.ปตท.จึงกลายเป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซเพียงเจ้าเดียวแทนรัฐ เพราะครอบครองระบบท่อส่งก๊าซที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ
       
       เอกชนที่ถือหุ้น49%ในบมจ.ปตท. จึงได้อาศัยเกาะสาธารณสมบัติและอำนาจมหาชนของรัฐ ได้ส่วนแบ่งกำไรในสัดส่วน 49% ไปด้วย ซึ่งกำไรมหาศาลมาจากอำนาจผูกขาดสาธารณสมบัติ และการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ
       
       4 ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท. เมื่อสิงหาคม 2549
       
       ศาลมีคำวินิจฉัยในวันที่ 14 ธันวาคม 2550ว่า การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเป็นบมจ.ปตท.ทำให้บมจ.ปตท.กลายเป็นองค์กรเอกชน ไม่ใช่องค์กรมหาชนของรัฐ จึงไม่ใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป ดังนั้นบมจ.ปตท.จึงไม่อาจครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และไม่อาจมีอำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป ศาลยังวินิจฉัยต่อไปอีกว่า การที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมากในบมจ.ปตท. ก็ไม่ได้ทำให้บมจ.ปตท.กลับกลายมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐ และไม่มีความแน่นอนว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นส่วนข้างมากในบมจ.ปตท.จนตลอดไป ด้วยเหตุนี้บมจ.ปตท.จึงไม่อาจครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนของรัฐได้
       
       ดังนั้นการแปรรูปปตท. จึงขัดพระราชกฤษฎีกาการแปรรูปทั้ง2ฉบับ ที่ไม่ได้แยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินอื่น และ ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลาที่จะหยุดการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ
       
       แต่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เพิกถอนการแปรรูปปตท. ด้วยเหตุผลว่า ใน5ปีที่ปตท.แปรรูปและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บมจ.ปตท.ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และสัดส่วนหุ้นในตลาด ก็มีมูลค่า 8.9 แสนล้านบาท หากมีการเพิกถอนการแปรรูปปตท.จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้น และระบบเศรษฐกิจของประเทศ
       
       ศาลจึงมีคำสั่ง3ข้อ
       1. ให้ทำการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
       2. ให้ทำการแยกสิทธิในที่ดินเพื่อการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ
       3. ให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนของรัฐออกจาก อำนาจและสิทธิของ บมจ.ปตท. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่4)
       
       5 ) ประเด็นเรื่องการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยังไม่ครบถ้วน ยังเป็นกรณีพิพาทกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
       
       6 ) รัฐบาลพล.อ สุรยุทธ จุลานนท์ ออกพระราชบัญญัติกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เพื่อต่อสู้คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องเพิกถอนการแปรรูป เพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่ารัฐบาลได้พยายามเยียวยาการแปรรูปปตท.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการออกพ.ร.บ การกำกับกิจการพลังงาน เพื่อมาทำหน้าที่รับโอนอำนาจมหาชนที่เดิมเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.)มาดูแลราคาพลังงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
       
       พระราชบัญญัติกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ 2550 เป็นกฎหมายสำหรับกิจการไฟฟ้าเท่านั้น โดยกกพ.มีหน้าที่คำนวณราคาค่าผ่านท่อของก๊าซที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนย่อยของราคาต้นทุนไฟฟ้า กกพ.ไม่สามารถรู้ข้อมูลราคาก๊าซจากปากหลุม ต้องรับราคาที่อ้างว่าเป็นต้นทุนของก๊าซจาก บมจ.ปตท. ทำให้ไม่สามารถกำกับราคาเนื้อก๊าซตั้งแต่ต้นทางที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคได้ ดังที่ระบุไว้ในมาตรา3 ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียม ทั้งในประเทศและในกิจการปิโตรเลียม ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย
       
       การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเคยทำหน้าที่ในฐานะแขนขาของรัฐ ในการกำกับ ดูแล บริหารกิจการปิโตรเลียมของประเทศ เมื่อองค์กรนี้ถูกแปรรูปไปเป็นองค์กรที่ถือหุ้นครึ่งรัฐครึ่งเอกชน แต่บริหารแบบธุรกิจเอกชน จึงไม่มีหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญมาดูแลปิโตรเลียมที่รัฐได้ส่วนแบ่งจากกิจการร่วมทุน อย่างเช่น กิจการร่วมทุนในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ส่วนแบ่งของก๊าซส่วนกำไร (profit gas) ที่แบ่งกับมาเลเซียคนละครึ่ง เนื่องจากไม่มีองค์กรที่เป็นแขนขาของรัฐ100% เป็นผู้บริหารจัดการ จึงต้องให้องค์กรธุรกิจครึ่งรัฐครึ่งเอกชนเป็นผู้ขาย ขายได้ราคาเท่าไหร่ ไม่มีใครตรวจสอบว่าเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร
       


       7 ) เมื่อสัมปทานในแหล่งเอราวัณและบงกชจะหมดอายุในปี 2565 และ ปี 2566 ตามพ.ร.บ ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้มีการต่อสัมปทานได้แค่2ครั้งๆละ10ปี ซึ่งเอราวัณ และบงกชใช้สิทธิต่อสัมปทานครบแล้ว จึงไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก แต่ในการแก้กฎหมายปิโตรเลียมได้อ้างว่าเพิ่มระบบการแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการ แต่การที่ไม่มีองค์กรที่เป็นแขนขาของรัฐมาบริหารจัดการ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต และ ระบบจ้างบริการจึงไม่อาจปฏิบัติได้จริง ต้องปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ขายปิโตรเลียมที่รัฐได้ส่วนแบ่งกับเอกชนในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ ปิโตรเลียมทั้งหมดที่รัฐเป็นเจ้าของในระบบจ้างบริการ
       
       บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ที่ประเทศเคยมีในนามของ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ถูกทำลายไปจากการแปรรูป ทำให้รัฐไม่มีแขนขาที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่สามารถบริหารและใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ก่อสร้างด้วยภาษีของประชาชน ต้องยกให้เอกชนเช่าใช้ในราคาถูก ดังการให้เช่าท่อก๊าซส่วนที่ได้คืนมาในราคาปีละ550ล้านบาท แต่บมจ.ปตท.เก็บค่าผ่านท่อจากประชาชนที่ใช้ก๊าซ ใช้ไฟฟ้าได้ปีละประมาณ25,000 ล้านบาท
       
       ขณะนี้ประเทศเหมือนคนพิการทีไม่มีแขนขาของตนเอง จึงต้องอาศัยเอกชนมาเข็นรถ และป้อนข้าวจากทรัพย์สินของประเทศ ท่านเชื่อหรือไม่ว่าเขาจะป้อนของดีๆใส่ปากคนพิการ มากกว่าป้อนใส่ปากพวกเขากันเอง ?
       
       การที่เอกชนขัดขวางข้อเสนอการตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ เพราะหากประเทศพึ่งตัวเองได้ มีแขนขาที่ช่วยตัวเองได้ เอกชนจะไม่สามารถผูกขาด แสวงหากำไรอย่างไม่เป็นธรรมจากประชาชนอีกต่อไป
       
       8 ) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประกาศชัดเจนว่า ร่างแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียม พ.ศ....และร่างแก้ไขพ.ร.บ ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ .....ต้องการรีบเร่งแก้ไขเพื่อเอามาใช้กับการประมูลแปลงเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานภายในต้นปี2560 และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ยังประกาศอีกว่า จะไม่ใช้การจ้างผลิตใน2แปลงนี้ ทั้งที่ มูลค่าปิโตรเลียม 2แหล่งนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ2แสนล้านบาท ต้องตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงละทิ้งโอกาสที่ประเทศจะเป็นไท ได้ทรัพย์สินคือบ่อก๊าซมูลค่าปีละ2แสนล้านบาทคืนมา นะบบสัมปทานทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การข่มขู่ของเอกชน ว่าถ้าไม่รีบต่อสัญญาให้ จะลดการลงทุน ลดการผลิต ทำให้ประเทศเกิดปัญหาขาดแคลน ต้องใช้ของแพง เป็นต้น
       
       คำขู่ของเอกชนที่เร่งรัดรัฐบาลว่า ถ้าเสียเวลามากกว่านี้จะทำให้ก๊าซสำหรับเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าจะหายไป3ล้านล้านลบ.ฟ. ทำให้ราคาค่าไฟจะสูงขึ้นเพราะต้องไปใช้ก๊าซนำเข้า LNG แต่ความจริงแล้ว เอกชนต้องการก๊าซคุณภาพดีจากอ่าวไทยราคาถูกจากระบบสัมปทานไปป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของตนเองมากกว่า อุปมาว่าอยากได้ไม้สักในราคาไม้ฉำฉา แล้วรัฐบาลจะหลงกลตื้นๆแบบนี้หรือ? ถ้ายอมหลงกล ก็ต้องถามว่าแท้ที่จริงแล้ว ท่านกับเขาเป็นพวกเดียวกัน ใช่หรือไม่?
       
       9 ) แผนการแยกกิจการค้าปลีกน้ำมันของบริษัท ออกไปเป็นบริษัทปตท.น้ำมันและค้าปลีกจำกัด ( PTTOR ) ภายในปี2560 โดยจะมีการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมันและสินทรัพย์กับหนี้สิน การประกาศว่าบมจ.ปตท.จะลดสัดส่วนหุ้นในบริษัทปตท.น้ำมันและค้าปลีกจำกัดลงให้น้อยกว่า50% ย่อมทำให้สัดส่วนหุ้นที่รัฐเป็นเจ้าของถูกลดลงไปด้วย ใช่หรือไม่?
       
       ต้องถามว่าสินทรัพย์ที่จะโอนไปให้ PTTOR มีท่อขนส่งน้ำมันด้วยหรือไม่? เพราะในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวถึง ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งรวมทั้งท่อก๊าซและท่อน้ำมัน ที่สร้างมาตั้งแต่เป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และที่สร้างหลังการแปรรูปแต่ยังใช้อำนาจรัฐ และสิทธิมหาชนของรัฐ ก็เป็นทรัพย์สินที่ต้องคืนให้รัฐเช่นกัน
       
       การแยกกิจการออกจากบริษัทแม่ในครั้งนี้ มีคำถามว่าเป็นกระบวนการถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้เอกชนขยักที่2ใช่หรือไม่? โดยขยักแรก แปรรูปการปิโตรเลียมฯให้เป็นองค์กร ครึ่งรัฐครึ่งเอกชน ขยักที่2 คือการถ่ายโอนทรัพย์สิน และกรรมสิทธิ์กิจการจากองค์กรรัฐครึ่ง เอกชนครึ่ง ไปเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน 100% ใช่หรือไม่? โดยที่ก่อนหน้านี้ มีความพยายามถ่ายโอนระบบท่อส่งก๊าซออกไปตั้งบริษัทใหม่ภายใต้บมจ.ปตท. ภายในปี2558 แต่แผนการแยกท่อก๊าซออกไปเป็นเอกชน100% ต้องหยุดชะงักไป เพราะข้อพิพาทการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษายังไม่จบ
       
       ทำให้นึกถึงคำพูดของโจเซฟ สติกลิสท์ ( Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี2544 เป็นที่ปรึกษาธนาคารโลก เคยกล่าวอมตพจน์ว่า Privatization is Briberization แปลความหมายได้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือ การกินสินบน หรือเป็นรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชัน สติกลิสท์กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือการบอกขายรัฐวิสาหกิจให้ต่ำกว่าราคาตลาด พวกตนก็สามารถฉวยเอามูลค่าสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจก้อนโตเข้าตัว และไม่ต้องคอยฉกเอากำไรจากรัฐวิสาหกิจเป็นรายปีอีกต่อไป ทั้งยังไม่ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้คนอื่นเข้ามากอบโกยอีกด้วย
       
       ก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในปี2544 กิจการของปตท.ใช้งบประมาณในการลงทุนและการบริหารจากภาษีของประชาชน กิจการพลังงานที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติเช่นนี้ เป็นกิจการที่ไม่มีทางขาดทุน และสามารถกำหนดราคาพลังงานที่เป็นธรรมต่อประชาชน ที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนและทรัพยากร ต่างจากขณะนี้ที่ราคาพลังงานที่ประชาชนต้องจ่ายมีราคาสูงเกินจริงและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ไม่มีทั้งทรัพยากร และอุปกรณ์ในกิจการการผลิตปิโตรเลียม เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?!?
       
       ควรมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจปตท.ในระยะเวลา15ปีที่ผ่านมา ใครคือผู้ได้ประโยชน์จากการแปรรูป? ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือเอกชน ใช่หรือไม่ แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเท่าที่ควรจะเป็น ใช่หรือไม่? สมมุติถ้าคำตอบ คือ ใช่ คำถามต่อไปคือ ถ้าเช่นนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปตท.ทำไปเพื่ออะไร?
       
       และถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐบาลที่ประกาศเรื่องปฏิรูปบ้านเมือง เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน หากเริ่มจากการปฏิรูปพลังงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ควรเริ่มคิดว่าประเทศจะพึ่งตัวเอง ยืนบนขาตัวเอง มีมือมีแขนที่ตักอาหารใส่ปากตัวเองได้อย่างไร?
       
       รัฐบาลควรแก้ไขการแปรรูปที่ผิดพลาดเมื่อ15ปีก่อน โดยจัดตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติขึ้นใหม่ที่เป็นของรัฐ100% มารับคืนสาธารณสมบัติเพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อมาบริหารกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำโดยเริ่มจากแปลงเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทาน และหลังจากนั้น จะมีแปลงสัมปทานอื่นๆที่ทะยอยหมดอายุสัมปทาน กลับคืนมาเป็นของประเทศ และบริหารทรัพยากรเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองตามศาสตร์แห่งพระราชาที่ท่านนายกฯนำมากล่าวแนะนำประชาชนให้ปฏิบัติ คือการมีความรู้ในการจับปลาด้วยตนเอง ไม่ใช่รอรับปลาจากคนอื่นซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่พึ่งตนเอง และไม่ยั่งยืน
       
       ท่านนายกรัฐมนตรีจึงควรปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ด้วยการฝึกตกปลาจากบ่อปลาของเราเองที่บรรพบุรุษได้เสาะหามาให้ไว้แล้ว เมื่อนั้นแหละการปฏิรูปบ้านเมืองเพื่อคืนความสุขแก่ประชาชน จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริง
       
       รสนา โตสิตระกูล
       24 พ.ย. 2559