“รสนา” ยื่นประธาน คตง.สอบมติบอร์ด ปตท.ตั้ง PTTOR ทำรัฐขาดรายได้-ส่อขัดกฎหมาย

“รสนา” ยื่นประธาน คตง.สอบมติบอร์ด ปตท.ตั้ง PTTOR ทำรัฐขาดรายได้-ส่อขัดกฎหมาย

 

 

 

“รสนา” ยื่นประธาน คตง.สอบมติบอร์ด ปตท.ตั้ง PTTOR ทำรัฐขาดรายได้-ส่อขัดกฎหมาย

 

 

 

อดีต สปช.ด้านพลังงานยื่นหนังสือประธาน คตง.ตรวจสอบมติ บอร์ด ปตท.โอนกิจการพร้อมทรัพย์สินหน่วยธุรกิจน้ำมันให้ PTTOR ลดสัดส่วนรัฐถือหุ้น เร่งรีบนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่อขัดกฎหมาย ทำให้รัฐขาดรายได้ โอนทรัพย์สินส่อไม่โปร่งใส หลีกเลี่ยงคำสั่งศาลปกครองและมติ คตง.เรื่องการคืนท่อก๊าซฯ หรือไม่


       
       วันนี้ (29 พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้ทำหนังสือถึงศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องขอให้ตรวจสอบมติเห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีเนื้อความโดยละเอียดดังนี้
       
       “เนื่องด้วยคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก่อนที่จะนำหุ้นสามัญ PTTOR เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย บมจ.ปตท.จะถือหุ้นในบริษัทนี้ไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อไม่ให้บริษัทใหม่นี้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น
       
       “ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนไทยที่มีหน้าที่รักษาประโยชน์ของแผ่นดิน มีความเห็นเกี่ยวกับมติคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ข้างต้น ดังนี้
       
       ๑. มติดังกล่าวที่มีความประสงค์ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้รัฐมีส่วนในการเป็นเจ้าของกิจการใหม่ PTTOR ลดลง ซึ่งธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นธุรกิจที่มีกำไรที่แน่นอนมาจากโครงสร้างราคาขายน้ำมันในประเทศส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นกำไรจากการค้าปลีกอื่นในสถานีจำหน่ายน้ำมัน เช่น กาแฟ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการประกอบการที่ผ่านจะพบว่ามีกำไรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อมติดังกล่าวกำหนดให้รัฐมีส่วนในการเป็นเจ้าของลดลง กล่าวคือ บมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๕๑ เดิมถือหุ้นใน บริษัท PPTOR ร้อยละ ๑๐๐ แต่เมื่อทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ บมจ.ปตท.จะถือหุ้นในบริษัท PPTOR ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ทำให้รัฐถือหุ้นในบริษัท PPTOR เพียงร้อยละ ๒๕ (โดยประมาณ) ย่อมทำให้ความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่โอนไปและรายได้หรือกำไรที่จะเข้ารัฐลดลงด้วย จึงถือได้ว่ามติดังกล่าวทำให้รัฐได้รับความเสียหาย จากการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและรายได้ที่พึงได้รับจากการดำเนินกิจการ
       
       ๒. การโอนย้ายสินทรัพย์ตามมติดังกล่าวซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เปิดเผยว่ามีสินทรัพย์ใดบ้างนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าใน ๒ ประเด็น คือ
       


       ประเด็นที่ ๑ สินทรัพย์หรือทรัพย์สินที่โอนไปตามมูลค่าทางบัญชีอาจจะไม่ใช่มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง แต่เป็นมูลค่าที่น้อยกว่าความเป็นจริง ดังมีตัวอย่างให้เห็นเป็นประจักษ์ในอดีต การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โอนทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซธรรมชาติในมูลค่าทางบัญชีประมาณ ๔.๖ หมื่นล้านบาท ไปให้แก่ บมจ. ปตท. ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ บมจ.ปตท.ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นใหม่ (re-value) มีมูลค่าประมาณ ๑ แสนล้านบาท ทั้งที่ทรัพย์สินนั้นมีการหักค่าเสื่อมลงทุกปีและไม่มีการลงทุนเพิ่ม แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินนั้น แต่ความเป็นเจ้าของของรัฐ (กระทรวงการคลัง) ขณะเป็น ปตท.รัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สินร้อยละ ๑๐๐ แต่เป็น บมจ.ปตท.รัฐเป็นเจ้าของเพียงร้อยละ ๕๑ เท่านั้น ดังนี้จะเห็นได้ว่าการโอนทรัพย์สินตามมูลค่าทางบัญชี ขณะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจไม่ใช่การโอนทรัพย์สินตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น มีข้อพิจารณาว่าเป็นการโอนทรัพย์สินที่เจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์สินของรัฐที่มีไปให้แก่เอกชนโดยมิชอบหรือไม่ และโดยมูลค่าทรัพย์สินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ย่อมทำให้รัฐเสียหาย เสียประโยชน์ที่แท้จริงในมูลค่าทรัพย์สินนั้น
       
       ประเด็นที่ ๒ เนื่องจากสานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มติ คตง.) วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและปฏิบัติตามมติ คตง. ที่ว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสาคัญและปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสาคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ผู้เกี่ยวข้องยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ และยังมิได้ปฏิบัติ มติ คตง.ให้ถูกต้องครบถ้วน จึงมีเหตุอันควรให้คิดไปได้ว่า การมีมติดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมติ คตง.หรือไม่
       
       นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบด้วยว่าสินทรัพย์ที่โอนไปนั้นเป็นทรัพย์สินที่ บมจ.ปตท.โอนไปให้ PTTOR โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด เพราะในอดีตการโอนทรัพย์สินจาก ปตท. ไปให้ บมจ.ปตท.ก็เคยทำการโอนทรัพย์สินผิดพลาดมาก่อนแล้วจนเป็นปัญหาถกเถียงกับหลายหน่วยงานดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันว่า บมจ.ปตท.คืนทรัพย์สินให้แก่รัฐครบถ้วนแล้วหรือไม่ เพียงใด
       
       ๓. การที่มติข้างต้นกำหนดให้บริษัท PPTOR ไม่ให้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาว่า มีความประสงค์จะหลีกเลี่ยงการบริหารงานแบบรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ขั้นตอนการบริหารภายใน ทั้งด้านการใช้จ่ายและด้านบุคลากร การจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายแต่อย่างใด ตลอดรวมถึงการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบขององค์กรอิสระ หรือองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ เช่น สตง., สานักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นต้น
       
       ๔. การที่มติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะลดรายได้หรือกำไรที่จะนำสู่รัฐ เร่งรีบให้มีการโอนสินทรัพย์และหนี้สิน หลีกเลี่ยงการทำงานในระบบรัฐวิสาหกิจ และการตรวจสอบจากองค์การต่าง ๆ ย่อมมีข้อพิจารณาว่าเป็นการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเข้าข่ายการฟอกเงิน ทำให้ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ (เหมือนกับที่ ปตท.โอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปให้ บมจ.ปตท.โดยมิชอบและต้องโอนคืนให้แก่รัฐ แต่ปัจจุบัน บมจ.ปตท.ยังคืนไม่ครบถ้วนตามมติ คตง.) เปลี่ยนสถานะมาเป็นทรัพย์สินที่ดูเสมือนว่าชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นการกระทำที่มีข้อพิจารณาว่ามีเจตนาในการทุจริตคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง แสวงประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐ และรายได้ของรัฐหรือไม่ ซึ่งจำต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนที่อยู่รวมกันในประเทศและนานาชาติ
       
       ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนมาข้างต้น ขอท่านได้โปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบ มติคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เห็นชอบปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ก่อนที่จะนำหุ้นสามัญ PTTOR เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้โปรดมีคำสั่งอย่างใด ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ของแผ่นดินต่อไป
       
       จึงเรียนมาเพื่อขอท่านได้โปรดดำเนินการโดยด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน”