สตรีทไอโซเลชั่น กักตัวข้างถนนหนีโควิด CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

สตรีทไอโซเลชั่น กักตัวข้างถนนหนีโควิด CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

 

 

 

 

 

 

 CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

สตรีทไอโซเลชั่น กักตัวข้างถนนหนีโควิด
 
 
 
วันนี้ดูข่าวทีวีได้เห็นหญิงวัย60ปี ใช้มุ้งครอบนอนอยู่ข้างสน.นางเลิ้ง ข่าวรายงานว่าหญิงผู้นั้นติดเชื้อโควิด แต่ไม่มีที่กักตัวในรพ.ต้องกักตัวที่บ้าน แต่เกรงว่าจะแพร่เชื้อให้คนในบ้าน จึงต้องออกมากักตัวเองข้างถนน ข่าวระบุว่าโชคดีมีรถรพ.มารับตัวไปรักษาแล้ว
 
ในที่สุดบ้านเมืองมาถึงจุดนี้จนได้ ที่คนติดเชื้อต้องออกมากักตัวข้างถนนกัน เพราะไม่ได้เตรียมระบบให้มีการกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพไว้ล่วงหน้า จึงมีแต่หลักเกณฑ์ที่เพิ่งเพิ่งเขียนขึ้นมาแต่ยังปฏิบัติไม่ได้
 
ดิฉันมีโอกาสคุยกับเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เรื่องการเตรียมพร้อมให้คนติดโควิดกักตัวในบ้าน หรือกักตัวในชุมชน เพราะหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังยืดเยื้อและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ระบบรองรับในรพ.และรพ.สนามจะไม่เพียงพอ การเตรียมระบบให้คนกักตัวที่บ้านและที่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพจะป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่น อลหม่านในหมู่ประชาชน และไม่ปล่อยสถานการณ์ให้เป็นไปตามยถากรรมดังที่เป็นอยู่รายวัน
 
เลขาธิการสปสช.ได้บอกดิฉันว่าการกักตัวที่บ้านหรือในชุมชนสามารถทำได้โดยให้มีรพ.หรือศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ที่เป็นระดับปฐมภูมิรับดูแลผู้ติดเชื้อเป็นรายๆที่ขึ้นทะเบียนกับรพ.หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิและให้พยาบาลหรืออาสาสมัคร (อสส.) กทม.หรือ
อสม.เข้าไปดูแลคนป่วยแต่ละคน ซึ่งสามารถเบิกรายจ่ายจากสปสช.ได้ทั้งหมดทั้งอุปกรณ์เช่นเครื่องวัดอ๊อก
ซิเจน เครื่องวัดอุณหภูมิ ฯลฯและอาหาร3มื้อ เบี้ยเลี้ยงของคนดูแล เพราะสปสช.ต้องจ่ายเงินผ่านหน่วยงานแพทย์สาธารณสุขของรัฐและเอกชนเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายผ่านชุมชนหรือบุคคล
 
ในกรณีของชุมชนแออัดที่มีอยู่จำนวนมากในกทม.การกักตัวที่บ้านไม่สามารถทำได้เพราะต้องอพยพสมาชิกในบ้านไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นการแยกตัวผู้ติดโควิดไปกักตัวในชุมชน แทนรพ.และรพ.สนามจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสามารถใช้วัด มัสยิด หรือโรงเรียน หรือพื้นที่ของหน่วยราชการที่ไม่ได้ใช้งานระหว่างนี้เป็นที่กักตัวระดับชุมชน โดยระดมอาสาสมัครชุมชน(อสช.)เข้ามาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อที่กักตัว และมีรพ.ในกทม.รับผิดชอบซึ่งสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากสปสช.ได้ทั้งหมด
 
นอกจากนี้ กทม.ยังมีงบประมาณส่งเสริมสุขภาพที่ได้รับการจัดสรรจากสปสช.ประมาณ 1,500 ล้านบาทที่สามารถนำมาใช้ดูแลอาหารการกิน เครื่องอุปโภค บริโภคให้กับครอบครัวที่มีคนติดเชื้อและถูกกักตัว
 
ดิฉันเคยเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเกิดคลัสเตอร์คลองเตยติดเชื้อโควิดใหม่ๆ ว่าถ้าหยุดการติดเชื้อให้รวดเร็วคือการตรวจเชิงรุกด้วยการสวอปแบบ swab rapid test ค้นหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดโดยเร็วที่สุด และแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมากักตัวระดับชุมชน โดยมีรพ.รับผิดชอบศูนย์กักตัวระดับชุมชนและล็อคดาวน์คลองเตย เป็นเวลา 1 เดือน โดยกทม.หรือรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยค่าเสียโอกาสในการทำมาหากินให้5,000 บาท เพื่อหยุดการเคลื่อนที่ของคนในคลองเตย ซึ่งจำนวนคนในคลองเตยประมาณ 120,000คนใช้เงินชดเชยเพียง 600 ล้านบาท ถ้าหยุดการระบาดในชุมชนคลองเตยได้ จะลดการแพร่ระบาดในกทม.ได้มาก
 
หากทำได้สำเร็จ เราก็จะสามารถนำคลองเตยโมเดลนี้ไปใช้ในชุมชนอื่นหรือคลัสเตอร์อื่นที่ติดเชื้อโควิด แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการทำดังที่นพ.วิรุฬ ได้โพสต์ไว้ https://www.facebook.com/100000765594790/posts/4005763489459131/?d=n
แต่ยังไม่สายเกินแก้ถ้ารัฐบาล และกทม.จะรีบตั้งหลักใหม่เตรียมระบบการกักตัวที่บ้าน และชุมชน ถ้าหากยังละเลยไม่ทำ ก็จะเกิดการกักตัวกันเองเร่ร่อนตามท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนมีบ้านแต่ไม่ต้องการแพร่เชื้อให้คนในบ้านเท่านั้น มีหลายกรณีที่คนติดเชื้อถูกไล่ออกจากบ้านเช่าออกมาเร่ร่อนอยู่ตามท้องถนน แพร่เชื้อต่อไปอีก เป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลและกทม.ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นตามยถากรรม
 
ข้อเสนอถึงรัฐบาลและกทม.
1)รีบจัดระบบการกักตัวที่บ้าน และจัดระบบการกักตัวในชุมชน โดยใช้วัด มัสยิด โบสถ์ โรงเรียน หน่วยราชการ ฯลฯ เป็นที่กักตัวโดยมีรพ.และสถานพยาบาลปฐมภูมิเป็นแม่ข่าย ลูกข่าย โดยมีอสม.และอสส.กทม.
หรืออสช.เข้ามาร่วมดูแลผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
2) ให้รพ.ที่เป็นแม่ข่ายมีระบบดูแลผู้ป่วยทางไกล และลูกข่ายมีอุปกรณ์วัด oxigen อุณหภูมิ ระบบswab rapid test เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
3)ประสานชุมชนในการดูแลทะเบียนผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว และมีระบบส่งอาหารให้กับคนไข้ที่กักตัว และสมาชิกครอบครัวผู้ติดเชื้อที่อาจเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก คนพิการ คนไข้ติดเตียง โดยจัดส่งอาหารวันละ 3 มื้อ
4)ประสานการรับส่งต่อผู้ป่วยกรณีผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นกับรพ.ที่เป็นแม่ข่าย
5)ใช้ฟ้าทะลายโจรในการร่วมรักษาอาการผู้ติดเชื้อ
 
โควิด และมีการตรวจเชื้อเมื่อครบ8 วัน อ้างอิงจากการศึกษากรณีการให้ยาฟ้าทะลายโจรในเรือนจำพิเศษกรุงเทพของนพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง พบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ต้องขัง 5วัน และสวอปตรวจเชื้อวันเว้นวัน พบว่าผู้ต้องขังเชื้อเป็นลบในเวลา 8วัน หากเชื้อเป็นลบ รัฐบาลและกทม.สามารถหยุดการกักตัวได้
 
กรณีการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยติดโควิด5วันและตรวจเชื้อใหม่ภายใน8 วัน ควรนำมาปฏิบัติกับแคมป์คนงาน หน่วยธุรกิจ หากวิธีนี้ใช้ได้ผล ควรให้เปิดแคมป์ และเปิดการค้าขายได้ ไม่ควรมีการประกาศล็อคดาวน์แบบเหวี่ยงแห ซึ่งมีแต่ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเสียหายมากขึ้น เพระถึงอย่างไรรัฐบาลก็ไม่สามารถชดเชยได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
 
รัฐบาลและกทม.ควรประชาสัมพันธ์ให้แคมป์คนงานและร้านค้าเข้มงวดในการเฝ้าระวังคนติดเชื้อในพื้นที่ของตน ให้เหมือนกับการเข้มงวดตรวจจับปรับคนไม่สวมแมส เพราะตัวอย่างการเฝ้าระวังที่ได้ผลคือที่เรือนจำปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราชที่ดิฉันส่งฟ้าทะลายโจรไปให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่เรือนจำจะเฝ้าระวังอาการหวัด ไข้ ไอ เจ็บคอของผู้ต้องขังใครมีอาการจะให้กินฟ้าทะลายโจรทันที และดิฉันได้รับข้อมูลว่า เรือนจำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังไม่มีผู้ต้องขังติดโควิดเลย
 
หากรัฐบาล และกทม.มีการจัดระบบอย่างดี และแยกผู้ป่วยอาการน้อยให้ยาฟ้าทะลายโจรทันที และถ้าผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่หายจากการติดเชื้อได้ภายใน 8 วัน รัฐบาล และกทม.จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องไปเพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุข และอุปกรณ์การช่วยชีวิตที่มีอยู่จำกัดได้ เป็นการแบ่งเบา และรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลายเพราะคนป่วยมากเกินพิกัดจนรับไม่ไหว และเทผู้ป่วยออกมากักตัวเองเร่ร่อนตามท้องถนน ในใจกลางกรุงเทพมหานคร ชั้นใน !!
 
ณ วินาทีนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันท่องสโลแกนว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แต่ถ้าแย่แล้ว ก็ต้องรีบช่วยกันแก้ให้ทันเวลา
รสนา โตสิตระกูล
30 มิถุนายน 2564