องค์การเภสัชกรรมทำสัญญาจัดซื้อATK กับ “บริษัท เวิลด์ เมดิคอล แทน ออสแลนด์ ผิดกฎหมายหรือไม่

องค์การเภสัชกรรมทำสัญญาจัดซื้อATK กับ “บริษัท เวิลด์ เมดิคอล แทน ออสแลนด์ ผิดกฎหมายหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

องค์การเภสัชกรรมทำสัญญาจัดซื้อATK กับ “บริษัท เวิลด์ เมดิคอล แทน ออสแลนด์ ผิดกฎหมายหรือไม่
 
 
เมื่อวันที่ 30 ส.ค 2564 องค์การ เภสัชกรรม (จีพีโอ/อภ))ลงนามสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ให้ สปสช.และโรงพยาบาลราชวิถีแล้ว ที่น่าแปลกใจคือเป็นการลงนามทำสัญญากับ “บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด” ทั้งที่ในข่าววันที่11 ส.ค 2564 ขององค์การเภสัชกรรม ระบุว่าบริษัทที่ชนะประมูล เพราะเสนอราคาต่ำสุดคือ “บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล” ไม่มีชื่อของบริษัทเวิลด์เมดิคอลฯปรากฎมาก่อน
 
การที่บริษัทที่เป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทที่ชนะประมูลสวมสิทธิมาเป็นคู่สัญญากับรัฐแทนนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 หรือไม่
 
ตามพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 ในมาตรา 64 ระบุถึงคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยให้หน่วยงานของรัฐกําหนดเป็นเงื่อนไขในประกาศและเอกสารเชิญชวนว่าผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอต้องแสดงหลักฐานถึงขีดความสามารถและความพร้อมที่ตนมีอยู่ในวันยื่นข้อเสนอด้วย
 
การที่ออสแลนด์ แคปปิตอลยอมให้เวิลด์ เมดิคอลมาสวมสิทธิเซ็นสัญญากับรัฐ จะแสดงว่าบริษัทออสแลนด์ขาดคุณสมบัติและความสามารถในการจัดหา ATK และจัดส่งให้กับองค์การเภสัชกรรมตามสัญญาที่ประมูล ใช่หรือไม่
หาก จีพีโอ จะอ้างว่าตนเองเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพรบ.การจัดซื้อจัดจ้าง ฯ ตามข้อยกเว้นในมาตรา 7(1) (2)
 
มาตรา ๗ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(๑) การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง
(๒) การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เก่ียวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของประเทศนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
 
แต่อย่างไรก็ดี การยกเว้นนั้นก็เป็นเพียงการยกเว้นในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่จะไม่ได้รับการยกเว้นให้สามารถยินยอมให้นิติบุคคลอื่นที่ไม่ได้ชนะประมูลมาสวมสิทธิเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมแทนได้
 
กรณีดังกล่าวจึงมีข้อพิจารณาว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่องค์การเภสัชกรรมต้องตอบสังคมให้ชัดแจ้ง
 
ดิฉันเคยเขียนสนับสนุนการใช้ ATK มาตรวจเชื้อเชิงรุกตั้งแต่เกิดคลัสเตอร์ที่คลองเตยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกมารักษาให้เร็วที่สุด เมื่อแยกผู้ติดเชื้อบวกออกมา แล้วตรวจซ้ำด้วยRT PCR จะเป็นการตรวจเชิงรุกที่ประหยัด มีประสิทธิภาพ และแยกผู้ติดเชื้อได้เร็วที่สุด
 
ดังนั้นอุปกรณ์ATKสำหรับตรวจเชื้อเชิงรุกอย่างรวดเร็วต้องมีความแม่นยำ ไม่เกิดผลลบลวงซึ่งสำคัญที่สุด เพราะจุดประสงค์ของการตรวจเชิงรุกด้วยATK คือการแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดให้เร็วที่สุดเพื่อหยุดการแพร่ระบาด
นอกจาก ATK ต้องมีประสิทธิภาพ และมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นประเด็นที่ดิฉันเคยให้ความเห็นว่าราคากลางที่อภ.ตั้งไว้สูงเกินไปสำหรับATKที่ประมูลชนะในครั้งนี้ เพราะราคาตลาดที่รับรู้กันทั่วไปของATK ยี่ห้อนี้ มีราคาแค่30กว่าบาท นอกจาก อภ.ไม่ได้สนใจคำทักท้วงดังกล่าวในการจัดซื้อในราคาที่เหมาะสม ทั้งที่อภ.มีสิทธิทำได้ ตามกรอบในแบบยื่นซองเสนอราคาขององค์การเภสัชกรรม มีการสงวนสิทธิ์ในข้อ 4.1 ผู้เสนอราคาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด องค์การเภสัชกรรมจะไม่พิจารณาซื้อหรือพิจารณาซื้อรายถัดไป แล้วแต่จะเห็นสมควร และ 4.2 องค์การเภสัชกรรมทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ที่จะลดหรือเพิ่มจำนวน จะงดซื้อหรือเลือกซื้อโดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป รวมทั้งสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณายกเลิกการเสนอราคาเพื่อประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งแสดงว่าองค์การเภสัชกรรมสามารถยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ได้
 
นอกจากจีพีโอจะไม่พิจารณาในเรื่องราคาที่เหมาะสมแล้ว เมื่อทำสัญญาจีพีโอก็มีการปล่อยให้บริษัทที่ไม่ใช่ผู้ชนะประมูลมาสวมสิทธิเซ็นต์สัญญากับรัฐ ซึ่งมีความผิดปกติว่ามีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ ใช่หรือไม่
 
ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้กรมบัญชีกลาง และ ผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ที่เป็นองค์กรตรวจสอบภายในหน่วยงานภาครัฐเข้ามาตรวจสอบกรณีนี้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ราคาเป็นธรรมต่อเงินของแผ่นดิน และถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
รสนา โตสิตระกูล
1 กันยายน 2564